‘ธัญวัจน์’ ทวงถาม พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ชี้ทั่วโลกโอบรับหลากหลาย ไทยยังอยู่แค่ 2 เพศ

ทวงถาม พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ‘ธัญวัจน์’ เผย ทั่วโลกรับรองโอบรับความหลากหลาย แต่กฎหมายไทยยังจำกัดอยู่แค่ในระบบ 2 เพศ

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวงถามความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ จาก จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ ว่า เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่จึงจำเป็นต้องปูพื้นฐานความเข้าใจให้ตรงกัน การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเรียกว่า Gender x recognition โดยมีมุมมองในด้านเพศปัจุบันว่าไม่ได้มีเพียงแต่เพศทางกายภาพ ( biological sex ) ที่มีเเค่เพศชาย – หญิง แต่ยังรวมถึงเพศสภาพ เพศวิถี เเละอัตลักษณ์ทางเพศ
.
ก่อนหน้าตนได้กล่าวถึงประเด็นนี้ ในการอภิปรายเกี่ยวร่าง พ.ร.บ.บัตรประชาชน ที่ใช้คำเฉพาะทางว่า SOGICSC เป็นมุมมองด้านเพศแบบ 4 ด้าน ประกอบด้วย เพศกำเนิด ( biological sex ) , เพศสภาพคือการเเสดงออกทางเพศ , เพศวิถี เเละรสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ ที่หมายถึงสำนึกเเละนิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกของเราได้พูดถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก โดยกล่าวถึงความเสมอภาคทางเพศชาย เพศหญิง แน่นอนว่าเมื่อโลกมีการพูดคุยด้านสิทธิมนุษยชนดำเนินไปจนถึง ในปี 2549 นักกฎหมายกลุ่มหนึ่งได้พบว่ามีบางอย่างที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงเกิดหลักการยอร์คยากาตาร์ที่พูดถึงสิทธิของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นเเนวทางในการพิจารณาและการออกกฎหมายทั่วโลก

“ทำไมเราต้องคำนึงถึงเพศสภาพ เพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ เนื่องจากว่า กฎหมายในปัจจุบันยังอยู่ระบบ 2 เพศ ดังนั้น การจำกัดความให้คนที่มีเพศวิถีหรือเพศสภาพที่หลากหลายอยู่ในระบบ 2 เพศ จึงเปรียบเหมือนกับการไม่มีเสรีภาพ หรือมีเสรีภาพเพียงเเค่ครึ่งๆ กลางๆ ไม่สามารถสมรสกับคนที่มีรสนิยมทางเพศที่เป็นเพศเดียวกัน หรืออัตลักษณ์ทางเพศที่เเตกต่างกัน นี่เป็นที่มาที่ประชาชนตอนนี้ขับเคลื่อนในประเด็น #สมรสเท่าเทียม ขณะนี้ ”
.
ธัญวัจน์ กล่าวต่อไปว่า จึงขอทวงถามไปยังนายจุติ ว่าให้สำคัญด้านนี้เเค่นี้ไหน เนื่องจากมีข่าวลืออกมาว่า ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศดังกล่าวถูกจัดว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญไม่เร่งด่วน ประกอบกับเวลาผ่านมาสองปีก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า ทำให้รู้สึกว่าข่าวลือเรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ปัจจุบันมีความคืบหน้าร่างกฎหมายอย่างไรบ้าง
.
“ขณะนี้ประเด็น Gender x หรือเพศที่ไม่ต้องการนิยามทางเพศว่าเป็นชายหรือหญิง ในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย รวมถึงอินเดียมีการรับรองกฎหมายนี้เเล้ว ญี่ปุ่นเองกำลังผลักดันประเด็นดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกาก็มีการกำหนดเพศดังกล่าวในเอกสารราชการและหนังสือเดินทาง จึงขอทวงถามความคืบหน้าประเด็นดังกล่าวต่อท่านรัฐมนตรี”
.
ต่อมา จุติ ตอบคำถามว่า เป็นความตั้งใจเเละนโยบายของรัฐบาลให้ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนทุกมิติ และไม่ได้นิ่งนอนใจ ในปี 2563 ได้มีการประชุมหารือถึง 5 ครั้ง แต่ในกลุ่มเพศสภาพอัตลักษณ์วิถีมีประมาณ 28 กลุ่ม ความยากคือการให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจตรงกัน รัฐบาลมีความตั้งใจพยายามไม่ลดละและต้องการให้ร่างกฎหมายเสร็จโดยเร็ว หากท่านสามารถเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆตนก็ยินดี