เปิดสำนวน 396 โรงพัก สั่งฟ้องเทือกเป็นจำเลย รวบสัญญา-ขัดมติ ครม. เจ้าตัวสู้คดี-ยันบริสุทธิ์/อาชญา ข่าวสด

อาชญา ข่าวสด

 

เปิดสำนวน 396 โรงพัก

สั่งฟ้องเทือกเป็นจำเลย

รวบสัญญา-ขัดมติ ครม.

เจ้าตัวสู้คดี-ยันบริสุทธิ์

 

ขึ้นชั้นเป็นคดีมหากาพย์การเมืองไทยอีกคดีหนึ่ง กับสำหรับคดีการทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง และแฟลตตำรวจ 163 หลัง ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหายกว่า 5 พันล้านบาท

เนื่องจากหลังการทำสัญญา บริษัทเอกชนที่รับจ้างงาน กลับไม่สามารถทำงานได้แล้วเสร็จ หลายแห่งมีแค่เสา หลายแห่งถูกทุบทำลายโรงพักเดิมไปแล้ว แต่กลับไม่สามารถสร้างใหม่ได้ทัน

ต้องไปอาศัยซอกตึกทำงาน บางทีถึงใช้คอกวัว คอกควาย เป็นที่รับแจ้งความก็มี

และเมื่อตรวจสอบลึกลงไป ก็พบว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำงานการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากการไปเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้าง

จากเดิมที่ ครม.เห็นชอบให้แต่ของกองบัญชาการจัดประมูลกันเอง ให้หาบริษัทรับเหมาที่พร้อมในพื้นที่ กระจายงานกันไปให้ได้รวดเร็ว

กลับถูกรวบสัญญาให้เอกชนเพียงเจ้าเดียว สุดท้ายก็ทำงานไม่ทัน

คดีนี้ดีเอสไอทำสำนวนอย่างละเอียด ก่อนส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณา ซึ่งก็มีมติชี้มูลความผิดรองนายกฯ และรักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น

ต่อมาแม้อัยการสูงสุดไม่ฟ้อง ป.ป.ช.ก็ต้องยื่นฟ้องเอง

ซึ่งต้องติดตามดูว่าภาษีประชาชนที่เสียหายไปกว่า 5 พันล้านบาทนั้น จะมีใครต้องรับผิดชอบหรือไม่อย่างไร

ฟ้องเทือกคดี 396 โรงพัก

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นัดส่งตัวจำเลย ในคดีทุจริตก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,728 ล้านบาท ต่อศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

โดยจำเลยในคดีนี้ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องมาตรา 157 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จำเลยที่ 2 มาตรา 157 พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ จำเลยที่ 3 และ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ จำเลยที่ 4 โดนความผิดฐานฮั้วประมูลและมาตรา 157 ส่วนบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำเลยที่ 5 และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ จำเลยที่ 6 ถูกฟ้องข้อหาข้อหาสนับสนุนฯ

คดีนี้ ป.ป.ช.เป็นผู้ยื่นฟ้องด้วยตัวเอง ที่ประชุมร่วมระหว่างอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.เมื่อเดือนมิถุนายน2564 มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช.จึงดึงเรื่องกลับมาเพื่อทำสำนวนฟ้องเอง

โดยระบุถึงความผิดของจำเลยทั้งหมด สรุปว่า การกระทำของนายสุเทพที่ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อาญา มาตรา 157 เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.ปทีป รักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น และยังมีมูลความผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79(1) (5) และ (6)

ภายหลังเข้าแสดงตัวต่อศาล นายสุเทพยังคงยืนยันถึงความบริสุทธิ์ สั่งการลงนามจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวทำตามระเบียบกฎหมายทุกประการ ทั้งนี้ ป.ป.ช.นำเอกสารมายื่นฟ้องทั้งหมด 1,302 หน้า ซึ่งทั้งหมดเคยชี้แจงต่อ ป.ป.ช.และอัยการครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีประเด็นที่แปลกไปกว่าเดิม และจะนำความเห็นของอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้อง และไม่รับคดีมาโต้แย้ง ซึ่งเตรียมพยานเอกสารไว้ทั้งหมด 200 หน้า ทั้งนี้ หากชนะคดีจะฟ้องกลับหรือไม่ ตอนนี้ขอสู้คดีก่อน เพราะถูกกล่าวหามา 10 ปีแล้ว ทำให้เสียชื่อเสียงมาก

ขณะที่ศาลมีคำสั่งนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 และให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยตีราคาประกันคนละ 1 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

เป็นการเข้าสู่ศาลหลังยืดเยื้อมาเกือบ 10 ปี

มติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

สําหรับคดีดังกล่าวเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2552 และเริ่มก่อสร้างต้นปี 2554 ในสมัยที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุเทพเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่ทำคดี ระบุคำร้องต่อ ป.ป.ช.ว่า นายอภิสิทธิ์กับพวกอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง จากเดิมจัดจ้างโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) จำนวนหลายสัญญา

เป็นรวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ

เมื่อคำร้องเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 129/2556 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน

ผ่านมา 4 ปี ป.ป.ช.มีคำสั่งที่ 615/2560 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 เปลี่ยนรูปแบบการไต่สวนจากการตั้งอนุกรรมการไต่สวน มาให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง มีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร์ และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน

ใช้เวลาอีก 2 ปีกว่า จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 กรรมการ ป.ป.ช. 8 คนมีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพและคณะ โดย น.ส.สุภาที่เคยเป็นเจ้าของสำนวนถอนตัวจากการรับผิดชอบสำนวนและการพิจารณาลงมติชี้มูล

มีความเห็นว่า นายสุเทพ พล.ต.อ.ปทีป และพวกรวม 6 คนมีความผิด

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และ พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ทั้งนี้ มติ ป.ป.ช.ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป

สุดท้ายเมื่ออัยการไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช.จึงยื่นฟ้องเอง

เปิดสำนวน-เปลี่ยนสัญญาจ้าง

ทั้งนี้ จากรายการการไต่สวนข้อเท็จจริง สรุปว่า โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้าง เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชนที่มาใช้บริการ

ซึ่งได้ข้อสรุปว่าวิธีการที่เหมาะสมต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยวิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด การดำเนินโครงการจึงจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างไม่เกิดปัญหา

จึงเสนออนุมัติต่อ ครม.ให้ดำเนินการจัดจ้างตามแนวทางที่เสนอไป

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดจ้างตามแนวทางที่คณะทำงานดังกล่าวเสนอ ผ่านนายสุเทพซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสุเทพพิจารณาแล้วเห็นชอบและอนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552

ซึ่ง ครม.ในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติหลักการตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งกรณีดังกล่าวสำนักงบประมาณเห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการก่อสร้างตามความจำเป็นเร่งด่วน และตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีงบประมาณ (2552-2554)

แต่ต่อมากลับมีการเปลี่ยนแปลงสัญญา จากเดิมที่ให้ประมูลเป็นรายภาค กลายเป็นรวมประมูลรายเดียวทั่วประเทศ ส่งผลให้การก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติขยายระยะเวลาการก่อสร้างไปอีกจำนวนหลายครั้ง

แต่ผู้รับจ้างก็ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้ จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,728,629,606 บาท

ไม่เพียงแค่นั้น ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพกับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) 163 หลัง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย 3,994 ล้านบาท โดยมีมติว่าการกระทำของนายสุเทพเป็นกรรมเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสัญญาจัดจ้าง และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา แต่สุดท้ายอัยการสูงสุดก็มีมติไม่สั่งฟ้อง

ป.ป.ช.จึงยื่นฟ้องเองในส่วนของทุจริตแฟลตตำรวจไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564

ที่เหลือก็อยู่ที่กระบวนการศาลจะพิจารณา ซึ่งต้องว่าด้วยเรื่องการต่อสู้ทางคดีหรือข้อกฎหมาย

แต่ที่แน่ๆ เห็นชัดๆ คือการก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ ไม่แล้วเสร็จ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหายถึงกว่า 5 พันล้านบาท

จะมีใครต้องรับผิดชอบ ต้องติดตาม!!