กรองกระแส/หนทาง 2 หนทาง เผด็จการ กับ ประชาธิปไตย ทางเลือก ‘คสช.’

กรองกระแส

หนทาง 2 หนทาง
เผด็จการ กับ ประชาธิปไตย
ทางเลือก ‘คสช.’

มีแนวโน้มเด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า ในที่สุด ข้อเรียกร้องให้ปลดล็อกพรรคการเมืองจะกลายเป็น “กระแส” ในทางสังคม
ไม่ว่า “คสช.” จะยื้อเพียงใด
1 จะมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับจากพรรคการเมือง 1 แรงกดดันจากพรรคการเมืองจะเข้าไปสู่ความรู้สึกร่วมของประชาชน
และเสียงของประชาชนนั้นเองที่จะไปกดดัน “คสช.”
นับแต่มีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญนั้นเองจะกลายเป็นปัจจัยนำไปสู่ความชอบธรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองในการเรียกร้องให้มีการปลดล็อก
เพราะรัฐธรรมนูญจะชั่วดีถี่ห่างอย่างไรก็ยังดำรงสถานะอันเป็นหัวใจอยู่ นั่นก็คือ เป็นแนวโน้มของพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตย
“คสช.” ไม่ควรดูเบาบทบาทและความหมายของ “รัฐธรรมนูญ”

ฐานะพรรคการเมือง
อยู่บนฐาน “มวลชน”

ไม่ว่า “คสช.” จะดูหมิ่นดูแคลนและรังเกียจเหยียดหยามบทบาทและความหมายของพรรคการเมืองอย่างไร แต่ความเป็นจริงของพรรคการเมืองมิได้ดำรงอยู่อย่างเลื่อนลอย
ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ก่อรูปตั้งแต่เดือนเมษายน 2489
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยที่แม้จะเกิดขึ้นหลังสถานการณ์ยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2551 แต่พรรคเพื่อไทยก็เป็นการเติบใหญ่และพัฒนามาจากพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ขณะที่พรรคพลังประชาชนเติบใหญ่และพัฒนามาจากพรรคไทยรักไทย
พรรคไทยรักไทยอันได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548
ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนาอันเติบใหญ่และพัฒนามาจากพรรคชาติไทย
พรรคการเมืองเหล่านี้ผ่านการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน พรรคการเมืองเหล่านี้สัมพันธ์กับประชาชนทั้งโดยกระบวนการของการเลือกตั้งและโดยกระบวนการของการนำนโยบายไปบริหารเมื่อเป็นรัฐบาล
ชั่วดีถี่ห่างอย่างไร ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็เติบใหญ่หรือพัฒนามาจากการร่วมมือกับประชาชนในขอบเขตทั่วประเทศ
ฐานอันแข็งแกร่งและมั่นคงของพรรคการเมืองจึงคือประชาชน

การติดล็อกการเมือง
การทำหมันการเมือง

รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ดำเนินมาตรการจำกัดกรอบและขอบเขตการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและนักการเมือง
ทั้งโดยคำสั่ง คสช. เท่ากับ “แช่แข็ง” มิให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวใดๆ ไม่มีการประชุม ไม่มีการพบกันเกินกว่า 5 คน
นักการเมืองคนใดที่แสดงความคิดเห็นก็ถูกปิดกั้นและกลั่นแกล้ง
ไม่ว่าจะโดยการเรียกตัวเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร ไม่ว่าจะโดยการฟ้องร้องแม้กระทั่งยัดเยียดข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
แต่คำถามก็คือ คสช. สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติอันเป็นความเชื่อทางการเมืองของนักการเมืองอันเป็นเป้าหมายได้หรือไม่
นักการเมืองยุติการเคลื่อนไหว ศิโรราบอย่างชนิดงอก่องอขิงอย่างที่ต้องการหรือไม่
ความจริงนับแต่หลังเดือนพฤษภาคม 2557 หลังเดือนพฤษภาคม 2558 หลังเดือนพฤษภาคม 2559 และหลังเดือนพฤษภาคม 2560 อาจมีส่วนหนึ่งที่ยอมต่อ คสช. อย่างชนิดหมอบราบคาบแก้ว แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวเท่าที่จะสามารถเคลื่อนไหวได้
ยิ่งเมื่อมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 การเคลื่อนไหวยิ่งเป็นไปอย่างคึกคัก

บทบาทการเมือง
บทบาทในด้านรุก

คสช. ในฐานะที่ยึดกุมอำนาจรัฐมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ดำรงอยู่ในฐานะเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน
มีอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมอยู่ในมือ
อำนาจเช่นนี้มีส่วนกำหนดและเสนอทางเลือก 2 แนวทางให้กับ คสช. 1 ยึดกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เผด็จอำนาจอย่างเต็มเปี่ยม ไม่เปิดโอกาสและไม่เปิดช่องทางให้ฝ่ายอื่นได้แสดงออกหรือเคลื่อนไหวใดๆ 1 เดินแนวทางประชาธิปไตย ค่อยๆ ปลดล็อก เปิดช่องระบายทางการเมืองให้สามารถได้หายใจได้เต็มรูจมูกมากยิ่งขึ้น
แนวทางแรกโน้มเอนไปทางเผด็จการ แนวทางหลังโน้มเอียงมาทางประชาธิปไตย
นั่นก็ขึ้นอยู่กับทางเลือก และแสดงสปิริตว่าเป้าหมายของ คสช. ต้องการอะไรระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย