เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : การค้าชายแดนและแรงงานต่างด้าว

เรื่องการค้าชายแดนที่มีผลต่อความเจริญเติบโตของเมือง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ “ผู้นำเมือง” ต้องมีความรู้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านล้อมรอบ ทั้งที่เป็นกลุ่มประเทศอาเซียนมีชายแดนติดกับชายแดนประเทศไทยนับพันกิโลเมตร ทั้งด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านเหนือ และด้านใต้

ผู้มาให้ความรู้เรื่องนี้คือ คุณนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย

เรื่องของการค้าชายแดนมีดังนี้

ความรู้เบื้องต้นด้านการค้าชายแดนและผ่านแดน การค้าชายแดนคือ การค้าขายภายในประเทศอยู่บริเวณแนวรอยต่อระหว่างประเทศภายในรัศมีรอบๆ แนวจังหวัดที่มีจุดผ่านแดน

การค้าชายแดน คือ การอาศัยเอาสินค้าจากฝั่งไทยข้ามไปขายยังฝั่งเพื่อนบ้านอีกฝั่งหนึ่ง

ด่านการค้าแบ่งออกเป็น 5 แบบ คือ

1. ด่านธรรมชาติ คือด่านตลอดแนวชายแดน เจ้าหน้าที่ดูแลคือตำรวจตระเวนชายแดน และทหารที่ต้องดูแลพื้นที่ชายแดน

2. ด่านชั่วคราว คือด่านที่ตั้งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งคนไทยและคนประเทศนั้นเป็นครั้งคราว

3. จุดผ่อนปรน ใช้ในการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นตามแต่จะตกลงกัน

4. จุดผ่อนปรนพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นการเฉพาะกิจ เช่น ด่านสิงขร

5. จุดผ่านแดนถาวร มีทั้งหมด 10 ด่านรอบประเทศ

จุดผ่านแดนเหล่านี้ต้องมีการอำนวยความสะดวก คือ มีด่านศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง การเกษตร การตรวจอาหารและยา (อย.) เป็นต้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเงิน ความตกลงที่เป็นทั้งทวิภาคี กระทรวงพาณิชย์ไทยกับเมียนมา กับมาเลเซีย การเป็นพหุพาคี และการเดินทางข้ามแดน ซึ่งต้องมีส่วนสาธารณูปโภค เช่น ถนนเชื่อมโยง การใช้ถนน

นอกจากนั้น ยังมีกฎระเบียบการนำเข้าและส่งออก การทำ C/O และ Form D รวมถึงเรื่องการเดินรถที่มีระบบการจราจรแตกต่างกัน เช่น ไทยกับลาว กัมพูชาและเมียนมา เดินรถคนละฝั่ง ไทยกับมาเลเซียเดินรถฝั่งเดียวกัน

ขณะที่มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา เสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ มีจังหวัดที่ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 ระยะ คือระยะแรก กับระยะสอง ฝั่งตะวันออก เช่น หนองคาย สระแก้ว ตราด ฝั่งตะวันตก เช่น ตาก และภาคใต้คือสงขลา

ธุรกรรมที่ได้รับจากการส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษ มี 13 กลุ่มเป้าหมาย มี 10 ประเภทกิจการเป้าหมายที่ประกาศเพิ่มเติมเป็นกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนปัจจุบัน และที่ยกเลิกไปแล้ว แต่กลับมาใช้ใหม่เฉพาะใน SEZ

การค้าชายแดนทำให้ขยายตัวของเมือง ขยายการค้าจากชายแดนเข้ามาในเมือง การเดินทาง การท่องเที่ยว ซึ่งทำให้เมืองขยายตัวออกได้

ต่อจากนั้น เป็นเรื่อง มิติแรงงานต่างด้าว ที่ไทยมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานมาก ผู้ให้ความรู้เรื่องนี้ คือ คุณสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ด้านส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

คุณสุเมธให้ความรู้ถึงแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยว่า มี 4 พวก คือพวกที่หลบหนีเข้าเมืองไม่เป็นทางการด้วยการทยอยเข้ามาเป็นกลุ่ม ทะลักเข้ามาในช่วงเกิดวาตภัย อุทกภัย และวิกฤตทางเศรษฐกิจ การนำเข้าแรงงานทำงานที่คนไทยไม่ทำ เช่น การประมง งานยาก สกปรก และอันตราย

อีกประการหนึ่ง คือการปฏิวัติทางทหารของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา

การค้าที่มีผลกระทบต่อการใช้แรงงานต่างด้าว อาทิ ร้านค้าวิถีคนไทยที่ใช้คนต่างด้าวเป็นผู้ทำและผู้ปรุง ร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด คนต่างด้าวที่รับจ้างทำงานในราคาที่ต่ำกว่าคนไทย แรงงานก่อสร้าง และการขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญ แรงงานตามแนวตะเข็บชายแดนส่วนใหญ่จะใช้แรงงานต่างด้าว

การดำเนินงานใช้แรงงานต่างด้าว มี 4-5 ประการ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว มีการขึ้นทะเบียนเป็นระยะ การตรวจสอบจับกุม มีเป็นประจำ ผลักดันกลับประเทศต้นทาง ปฏิบัติไม่ค่อยได้ดีเท่าที่ควร ส่วนสำคัญคือความพยายามทำสนธิสัญญากับประเทศของแรงงานนั้น

และหากพบต่างด้าวที่ทำประมงเกินกว่า 5 คน จะปิดกิจการ (ประเด็นนี้ไม่ทราบว่าดำเนินการได้ผลประการใดหรือไม่)

วันนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ว่าในอนาคตจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ด้วยเหตุหลายประการ อาทิ

การที่ประเทศไทยตกลงให้มีรถไฟความเร็วสูง ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก โดยที่จีนจะใช้คนของประเทศตนเข้ามาทำงานจำนวนมาก

การออกบัตรสีชมพูเพื่อพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งกระทำในขณะนี้

การขยายอายุแรงงานต่างด้าวทุกประเภท

การลดหย่อนการจดทะเบียน

การใช้มาตรา 14 คือทำงานแบบมาเช้าเย็นกลับ โดยเฉพาะต่างด้าวที่อยู่ในแนวชายแดน

เรื่องของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยมิใช่มีเพียงต่างด้าวจากประเทศชายแดน เช่น สหภาพเมียนมา ซึ่งมีแรงงานเข้ามาปฏิบัติงานมากที่สุดคือจังหวัดสมุทรสาคร มีแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำประมงอยู่ประจำ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการประมาณกว่า 1 ล้านคน เมื่อ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมามาเยือนรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ ยังต้องเดินทางไปพบพี่น้องชาวเมียนมาถึงที่จังหวัดสมุทรสาคร

ขณะที่วันนี้ ความต้องการกลับไปทำงานในประเทศของตัวเอง เริ่มมีเพิ่มมากขึ้น เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เชื่อว่าความต้องการแรงงานของประเทศเมียนมาเองน่าจะมีมากขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรม

ยังมีแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม เข้ามาทำงานอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนแรงงานไทยนับวันน่าจะถดถอยลงไป ทั้งจากการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น และการไม่ต้องการทำงานหนัก แต่ต้องการทำงานเบาที่ได้ค่าแรงมาก ทุกวันนี้มีงานให้ทำมากขึ้น โดยเฉพาะงานที่ทำด้วยตัวเอง แต่เชื่อว่างานในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวด้านคมนาคมในอนาคตอันใกล้