2503 สงครามลับ สงครามลาว (54)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (54)

 

ความผิดพลาด

JAMES E. PARKER JR “DESK OFFICER” ซีไอเอที่อุดรธานีบันทึกเหตุการณ์ความผิดพลาดครั้งใหญ่นี้ว่า

“วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2514 ขณะที่กองพันทหารเสือพราน บีซี 605 และ 606 กำลังเข้าโจมตียอดเนินทางเหนือของบ้านนา เพื่อช่วยเหลือกำลังทหารประจำการที่ถูกล้อมอยู่ที่บ้านนา กองพันบีซี 606 ถูกสกัดกั้นจากทหารฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างหนัก จึงร้องขอการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายที่ตั้งของฝ่ายเวียดนามเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนตามคำขอด้วยเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด F-4 สองลำ แต่เกิดความผิดพลาดในการกำหนดเป้าหมาย ระเบิดขนาด 250 ปอนด์ลูกหนึ่งตกลงกลางการวางกำลังของกองพัน 605”

“ทหารเสือพราน 16 นายเสียชีวิตทันทีและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ไมก์ อิงแฮม เจ้าหน้าที่ซีไอเอซึ่งอยู่กับกองพัน 605 ตั้งแต่เช้า เพิ่งเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ออกจากพื้นที่การรบ เมื่อได้ทราบข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเดินทางกลับพื้นที่การรบทันที ที่จุดเกิดแหตุ เขาได้พบร่างผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ไมก์ อิงแฮม นำตัวผู้บังคับกองพัน 605 พ.ต.ศรีรัตน์ นิลรัตนะ กลับมายังล่องแจ้งโดยมีบาดแผลขนาดใหญ่ที่สะโพก”

“ขณะที่ไมก์กำลังเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บลงจากเครื่องบิน พ.ต.ศรีรัตน์สบตาเขาแล้วพูดว่า ‘Why, Mr.Mike?’ แล้วสิ้นลมหายใจ”

 

ปฏิกิริยาจาก “สกาย”

“ชาลี คเชนทร์” นามจริง เฉลิมชัย ธรรมเวทิน ผู้นำอากาศยานหน้าซึ่งอยู่ร่วมเหตุการณ์ ได้บันทึกความผิดพลาดที่เนินอานม้าไว้ใน “สงครามลาว ยุทธภูมิล่องแจ้ง” ดังนี้…

“การทิ้งระเบิดพลาดเป้าหมายได้กลายเป็นข่าวและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แพร่กระจายไปสู่ทหารฝ่ายเราในทุกพื้นที่ สร้างความหวาดหวั่นสะเทือนขวัญในหมู่กำลังพลทุกหน่วย ซึ่งหน่วยเหนือถือว่าเป็นความผิดพลาดอันไม่น่าเกิดขึ้นได้ จึงได้สอบถามมูลเหตุจากฝ่ายสกายซีไอเอในฐานะผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศทันที หากไม่ได้ข้อสรุปยืนยันอันชอบด้วยเหตุผลแล้วอาจจะขอระงับการช่วยเหลือทางอากาศในช่วงฤดูฝนไว้ระยะหนึ่ง เพราะเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งที่จะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีความเร็วเหนือเสียงมาประลองกับความเป็นความตายของทหารในช่วงอากาศแปรปรวน”

ในทันที ดั๊ก สะแวนสัน หัวหน้าสกายเมืองล่องแจ้งได้เรียกเจ้าหน้าที่อเมริกันผู้เกี่ยวข้องทุกนายพร้อมด้วย “โรสสินี” “วิป” “สมอลแมน” และ “เปรสเซอร์” (ผู้นำอากาศยานหน้า หรือ FAG : Forward Air Guide เป็นคนไทยทั้ง 4 นาย) เข้าร่วมประชุมอย่างเร่งด่วน

ผลการประชุมและบันทึกรายงานจากกองทัพอากาศสหรัฐอุดรธานีได้สรุปถึงความผิดพลาดไว้ว่า

“สมรรถนะและเทคโนโลยีของเครื่องบินรบทุกลำที่นำมาใช้ในสงครามลาวล้วนทันสมัยและมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ได้รับการตรวจสอบตามกระบวนการทุกขั้นตอนทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติการ แต่ดินฟ้าอากาศเหนือพื้นที่เป้าหมายในวันนั้น ทัศนวิสัยเลวมาก ท้องฟ้ามืดครึ้ม หมอกปกคลุมหนาทึบ แม้ผู้นำการโจมตีทางอากาศได้แจ้งจุดพิกัดถูกต้องและเครื่องบินตรวจการณ์ ‘ราเวน’ ได้ยิงสัญญาณควันสีได้ตรงเป้าหมาย แต่นักบินไม่สามารถมองเห็นสัญญาณได้ชัดเจนเพราะคลื่นเมฆบดบัง จึงปล่อยระเบิดพลาดเป้าหมายไป ในเรื่องนี้นักบินถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย พร้อมยอมรับถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยยอมให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษตามระเบียบทุกประการ และได้ขออภัยต่อการสูญเสียอันใหญ่หลวงในครั้งนี้”

“ฝ่ายสกายได้แจ้งผลสอบสวนต่อ บก.สิงหา ทันทีโดยได้กล่าวคำขอโทษแสดงความเสียใจอย่างที่สุดต่อเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกันนั้นได้เสนอให้การช่วยเหลือจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ครอบครัวผู้พิการและเสียชีวิตทุกนาย อีกทั้งได้ยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่าความผิดพลาดในกรณีเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน”

 

ความสำเร็จของ พ.อ.ชวน

พ.อ.เหงียน ชวน รายงานความสำเร็จในการเข้ายึดบ้านนาในท้ายที่สุดว่า…

“ตลอดทั้งวันต่อมา ข้าศึกโจมตีโต้ตอบเราอย่างบ้าคลั่ง รวมทั้งมีการทิ้งระเบิดแบบปูพรมจากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ซึ่งปกติแล้วจะไม่มีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติในระดับยุทธวิธีเช่นนี้ จึงสร้างความสับสนและไม่มั่นใจต่อฝ่ายเราในการประเมินท่าทีของข้าศึก ต่อมาเราจึงได้รับคำตอบว่า การระดมทิ้งระเบิดทางอากาศครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการถอนตัวจากพื้นที่การรบของข้าศึก โดยต่อมาฝ่ายข้าศึกก็ส่งเฮลิคอปเตอร์มายังพื้นที่ศูนย์กลางบ้านนา ซึ่งในชั้นแรกข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นการส่งกำลังเคลื่อนที่เร็วเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ตั้งกองบังคับการของข้าศึก ข้าพเจ้าคาดไม่ถึงว่า แท้จริงแล้วกลับเป็นการถอนกำลังข้าศึกออกจากที่มั่น จนกระทั่งเมื่อกองพันของฝ่ายรัฐบาลลาวซึ่งวางตัวทางด้านปีกขวาแตกพ่ายและหลบหนีจากที่มั่น ข้าพเจ้าจึงตระหนักว่าข้าศึกกำลังถอนตัวจากพื้นที่บ้านนา จึงออกคำสั่งให้หน่วยของเราไล่ติดตามข้าศึกที่กำลังพยายามหลบหนีเหล่านี้ทันที แต่ก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงสามารถสังหารข้าศึกได้เพียงจำนวนน้อยและจับเชลยศึกได้เพียง 30 คนเท่านั้น”

รายงานส่วนนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ เพราะไม่มีการส่ง ฮ.มาเคลื่อนย้ายกำลังทหารไทยจากฐานบ้านนาแต่อย่างใด

“ในที่สุดเมื่อเวลา 19.00 น. กำลังของฝ่ายเราก็เข้ายึดพื้นที่บ้านนาได้ทั้งหมด รวมทั้งคลังกระสุนและคลังอาวุธ ทำให้สามารถยึดอาวุธและสิ่งอุปกรณ์ของข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก เมื่อสามารถกำชัยชนะได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าได้แจ้งต่อฝ่ายอำนวยการด้านยุทธการให้ส่งรายงานไปยังกองบัญชาการส่วนหน้าว่า กรมของเราสามารถปลดปล่อยบ้านนาได้เรียบร้อยแล้ว แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ข้าพเจ้าถึงกับงงงันไปชั่วขณะเมื่อได้รับทราบข่าวว่า ส่วนเข้าตีหลักของเราล้มเหลวในการเข้ายึดที่หมายล่องแจ้งและกำลังถอนตัว ข้าพเจ้าจึงออกคำสั่งให้หน่วยวางกำลังยึดรักษาพื้นที่บ้านนาไว้ให้เหนียวแน่นป้องกันการเข้าตีเพื่อยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายข้าศึก”

JAMES E. PARKER JR ให้ความเห็นต่อรายงานความสำเร็จของ พ.อ.เหงียน ชวน ว่า… “รายงานฉบับนี้มีความคลาดเคลื่อนหลายแห่ง และมีลักษณะยกย่องตนเองมากเกินไป ไม่มีเฮลิคอปเตอร์บินลงที่บ้านนาเพื่ออพยพกำลังทหารไทยแต่อย่างใด ขณะที่กรม 165 สามารถเข้ายึดที่มั่นแข็งแรงบางจุดของกองพันทหารราบ 15 ได้จริง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกำลังทั้งหมดของทหารไทยในที่มั่น และไม่สามารถเข้ายึดพื้นที่บ้านนาได้ทั้งหมดขณะที่ทหารไทยวางกำลังอยู่ในที่มั่นแต่อย่างใด”

 

ทางเลือกสุดท้ายที่บ้านนา

ร.ท.ประจักษ์ วิสุตกุล บันทึกไว้ใน “นรกบ้านนา” หลังแผนการส่งกำลัง 2 กองพันทหารเสือพรานเพื่อเข้าแก้สถานการณ์ที่บ้านนาล้มเหลวจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดผิดพลาดใน 4 เมษายน พ.ศ.2514 ดังนี้

“ผมไม่อยากคิดอะไรอีกแล้วจากเหตุการณ์ในวันนั้นที่ผ่านมาหลังจากการทิ้งระเบิดผิดพลาดโดนฝ่ายเรากันเองคือพี่น้องเสือพรานที่กำลังจะเข้ามาช่วยพวกเราที่บ้านนาต้องสูญเสียอย่างหนักแทบละลายทั้งกองพันแล้วต้องถอนกำลังออกไปทั้ง 2 กองพัน เพื่อตั้งหลักและปรับแผนฟื้นฟูกำลังกันใหม่ ก็คงต้องใช้เวลานานพอสมควรในการฟื้นฟูกำลังหรือส่งหน่วยใหม่เข้ามาที่บ้านนาเพื่อช่วยพวกเรา”

ในที่สุด ผู้บังคับกองพัน BI 15 ก็ตัดสินใจสั่งถอนตัว