เมิร-มอญ, มอง-เขมร แล-วิทูวิทยา/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

: เมิร-มอญ, มอง-เขมร แล-วิทูวิทยา

 

สําหรับประเด็น “ชาติพันธุ์มอญ-เขมร” ใน 8 วิทูทัศนาฯ ที่อัญเจียขญมเขียนไว้ 2 ตอนก่อนนั้น และฉันได้ละไว้

จู่ๆ ก็ทิ้งท่านตรึง เงีย เสียกลางครันไปทำ “สำเร็จขญม” อยู่หลายตอน ท่านคงไม่ว่ากระไร

เพื่อจบความเข้าใจนี้ ฉันริสงสัยว่า การเขียนตำราประวัติศาสตร์กัมพูชานั้น จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องทำโดยทันที จากหลังเปลี่ยนระบอบ “สังคมราชนิยม” มาเป็นระบอบ “สาธารณรัฐ”

แต่หากย้อนดูไทม์ไลน์แล้ว มันมีช่วงเวลา “วิวาทะ” ว่าด้วย “มอญ-แขมร์” มาแต่ก่อนหน้า ระหว่าง 2 ระบอบนี้ ตั้งแต่ศาสตราจารย์เก่ง วันสัก จุดประเด็นต่อต้านภาษาเขมรและชาติพันธุ์ในพจนานุกรมของสมเด็จสังฆราชจวน นาต ประหนึ่งสัญลักษณ์ของตราบาปความผิดพลาด

ทั้งระบอบ “อาณานิคม” และ “กษัตริย์นิยม” ก่อนหน้านี้

ดังนั้น ไม่แปลกว่า ทำไมตรึง เงีย ซึ่งเห็นพ้องต่อทฤษฎีใหม่มอญ-เขมร ที่บังเอิญเกิดขึ้นตอนเปลี่ยนระบอบการปกครอง อันเป็นช่วงที่คุณค่า “อัตลักษณ์” ความเป็นชนชาติคือสิ่งสูงสุดอันพึงสังฆกรรม

ที่แปลกมากสำหรับฉัน คือยุคผู้เทิดทูนและปกป้องสมเด็จจวน นาต อย่างสมเด็จฮุน เซน ที่ถึงกับ “ต้องทำลาย” แนวคิดของเก่ง วันสัก แต่กลับรับใช้ตำราฉบับตรึง เงีย เป็นแบบเรียน (อย่างจำยอม) จนถึงทุกวันนี้ ร่วมๆ ไม่นานแค่ 45 ปี

ที่ทฤษฎีชนชาติ “มอญ-เขมร” เป็นแก่นโครงเรื่องของเขมรวิทยา

เครดิตภาพ : history of Cambodia by triennial Ngea part1

อย่างนั้นก็ถือว่า นี่คือการยกระดับวัฒนธรรมทางวิชาการของสังคมกัมพูชาอันแตกต่างจากยุคเดิมที่ผ่านมา โดยเริ่มจาก เจมส์ อาร์ โรแกน นักภาษาศาสตร์ยุคพิมพ์นิยมปี ค.ศ.1856 ผู้ให้สารความสำคัญมอญ-เขมรคนแรกๆ แต่กลับเรียกว่า “มอญ-อันนัม” ซึ่งเป็นถิ่นที่มีชาวเขมรอาศัยอยู่ และเป็นภาษาสมัยยุคอินโดจีนหรือก่อนนั้น ปัจจุบันคือเวียดนามทางตอนใต้

ทว่า การค้นคว้าต่อมาพบว่า อันนัมมีลักษณะแตกต่างทั้งปวงจากภาษามอญ-เขมร นักภาษาศาสตร์บางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น อองรี มาสเปโร ทฤษฎีนี้จึงถูกลบล้างในที่สุด

ขณะที่ พี ดับเบิลยู ชมิดท์ นักภาษาศาสตร์เยอรมัน กลับให้สมมุติฐานผ่านงานเขียนชื่อ “Etude Sur La Phon?tique historique de la langue annamite… Les initiales…” ซึ่งเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่ สำนักพิมพ์ฮานอย (1908) ยืนยันว่า ไม่แต่ตระกูลภาษา “มอญ” เท่านั้นที่มีรากเชื่อมโยงกับเขมร แต่เกี่ยวกับ “ชาติพันธุ์หนึ่ง” อีกด้วย

เก่ง วันสัก และภรรยา

เพื่อให้ชัดเจนขึ้น พี ดับเบิลยู ชมิดท์ ยังแจกลูกทางลักษณะทางกายภาพของเผ่าพันธุ์เพื่อเปรียบเทียบเผ่า “มอญ-เขมร” ไว้ดังนี้

1. มีรูปร่างค่อนข้างเล็กจนถึงปานกลาง

2. มีผิวพรรณคล้ำ

3. ดวงตาสีดำอมน้ำตาล สัณฐานบานกลุ่มกลมโปนและเบิกโต

4. สันจมูกมีขนาดใหญ่ และค่อนข้างบาน

5. รูปศีรษะทุยกลมนูน

อนึ่ง เกี่ยวกับใบหน้า ริมฝีปากหรือศีรษะนี้ ยังมีตัวเลขแจกแจงอย่างแจ่มชัดโดยให้สังเกตว่าชาวเขมรทั่วไปมีความสูงเฉลี่ยปานกลางที่ราว 1.61 เมตร รอบศีรษะทั่วไปราว 84.5 เซนติเมตร ส่วนชาวมอญ ความสูงปานกลางเฉลี่ยที่ 1.62 เมตร และรอบศีรษะราว 85.6 เซนติเมตร

ข้างต้นนี้บ่งว่า ชาวกัมพูชา และชนชาติมอญ มีสัดส่วนทางกายภาพใกล้เคียงกันมาก แตกต่างเล็กน้อยราว 1 เซนติเมตรเศษโดยเฉลี่ยเท่านั้น ทำให้เชื่อว่า ตระกูลชาติพันธุ์เขมรนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับมองโกล

เพื่อสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าว ตรึง เงีย จึงเสริมด้วยแนวคิดจากตำราของมูไรซ์ กลิซ เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์เมืองพระนครที่อ้างว่า “ชาติพันธุ์เขมรมีความเกี่ยวข้องชาติพันธุ์และภาษาของชาวมอญ ซึ่งตั้งบริเวณทางตอนใต้ของพม่า”

ตรึง เงีย – เครดิตภาพจาก fb:สมเด็จพระสังฆราชจวน นาต

ตลอดจนข้อศึกษาของ ฟิลิปป์ เดอวิลเยอร์ ที่กล่าวว่า “ชนชาติ” เขมรเป็นที่จดจำทางชาติพันธุ์และภาษาร่วมกับ “ชนชาติมอญ” ซึ่งเพียงพอจะทำให้วิทูเขมรยุคนั้นคล้อยตามและเชื่อว่าชาติพันธุ์ของตนเกี่ยวข้องกับมอญ ตระกูลเผ่าพันธุ์หนึ่งซึ่งมี “ลักษณะ” พิเศษ

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเพิ่มเติมทฤษฎีนี้ที่อ้างถึงตระกูลในกลุ่มมอญ-เขมรว่า มีทั้งสิ้น 76 กลุ่ม อาศัยบริเวณทางภาคตะวันออกของอินเดีย ผ่านพม่า ไทย ลาว กัมพูชาและบางส่วนของเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ท่านวิทูกัมพูชา ยังลงลึกว่า มีแต่ชนชาติ “เขมร-มอญ” เท่านั้น ที่อารยธรรมสูงกว่าเผ่าอื่น สาเหตุจากการตั้งรกรากริมปากแม่น้ำใหญ่ที่สามารถติดต่อกับอารยธรรมชนชาติอื่น ส่วนเขมร-มอญกลุ่มอื่นที่มีความเจริญน้อย มักตั้งถิ่นฐานห่างไกลออกไป

ไม่เพียงเท่านั้น ยังพยายามแก้ไขคำว่าตระกูล “มอญ-เขมร” โดยเปลี่ยนเป็น “เขมร-มอญ” แทน โดยอ้างว่าเพราะ “เขมร” มีความเป็นมาก่อนใครใน “ชนชาติ” อื่น (?) ทั้งเอกราช อธิปไตยและอารยธรรมดินแดนที่เหนือกว่าชนชาติอื่นใด เกี่ยวกับข้อนี้ คงหมายถึงชนชาติมอญ

ทว่า ดูเหมือนวิทูกัมพูชาจะลืมไปว่า นี่เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ทางชนชาติ ไม่เกี่ยวกับการสืบบูรณภาพแห่งแว่นแคว้น กระนั้น การให้ความสำคัญในคำว่า “เขมร-มอญ” จะคงอยู่ในตำราเล่มนี้อย่างถาวรเลยทีเดียว

เครดิตภาพ : history of Cambodia by triennial Ngea part1

อย่างไรก็ดี เพื่อสนับสนุนทฤษฎีนี้ ตรึง เงีย นั้น ยังให้ความสำคัญต่อนักตะวันออกศึกษาชาวตะวันตกอีกหลายนาม ตั้งแต่ปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ ถึง “ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ทั้งคาบสมุทร” ตามนักแสวงโชคผู้ให้ชื่อภูมิภาคนี้ว่าสุวรรณทวีปหรือ “สุวรรณภูมิ”

แต่สมอ้างว่าเป็นดินแดนของชาวคริสเตียน?

เพื่อหักล้างหรือเสริมส่งข้อดังกล่าว จึงอาศัยคัมภีร์พระไตรปิฎก และชาดกในพุทธศาสนาที่มีปรากฏชื่อท่าเรือและเมืองสำคัญของสุวรรณทวีป (อุษาคเนย์) ที่ติดต่อไปมากับชมพูทวีป (อินเดีย)

ใกล้กว่านี้และมีส่วนในตำราของตรึง เงีย กลับเป็นเอกสารของโปรตุเกส-สเปน ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 3 ปี ค.ศ.1954 ที่ผู้เชี่ยวชาญตะวันออกศึกษาคนหนึ่ง อ้างถึง “เมืองพระนคร” ที่ถูกค้นพบในศตวรรษที่ 16 ทำให้ ฟิลลิปป์ กราสลิเยร์ เจ้าหน้าที่อภิรักษ์เมืองพระนครเมืองเสียมเรียบ ถึงกับนำประเด็นนี้ไปอ้างไว้ในตำราของตน (1958)

ตรึง เงีย – เครดิตภาพจาก fb:สมเด็จพระสังฆราชจวน นาต

สุดท้ายคือ ราชพงศาวดารลาว ญวนและสยาม ที่สร้างความสว่างไสวแก่ประวัติศาสตร์เขมรอย่างชัดเจนกว่าใคร แม้ว่าเอกสารเหล่านี้จะสูญหายและไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับราชพงศาวดารของกัมพูชา

ดูเหมือนว่า ชนชาติมอญได้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยพระบาทชัยวรรมันที่ 7 หลักฐานจากจารึกหินของพราหมณ์ฮินดู และสมัยพระบาทธรนินวรรมันที่ 2 พระบาทชัยวรรมันที่ 8 และบทบาทของพระนางเทวี-บุตรีปุโรหิตพราหมณ์ผู้มาจากอาณาจักรมอญหรือพม่า (?)

ขณะเดียวกันก็อ้างว่า อิทธิพลพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่แผ่มาถึงกัมพูชาในสมัยพระบาทชัยวรรมันที่ 7 (?) มีลำดับว่า ชาวมอญคนหนึ่ง มีชื่อว่าอุดอร์เจียว (?) เดินทางไปยังเกาะลังกาวีในปี ค.ศ.1180 พร้อมกับนักบวชคณะหนึ่ง ในจำนวนนี้มี “ดาบส” สามเณรรูปหนึ่ง (?) ซึ่งเดินทางไปจำวัดลังกาวี (?) ราว 10 ปี และต่อมาพร้อมกับคณะนักบวชอีก 4 รูปได้จำวัดอยู่ ณ มหาวิหารเมืองพระนคร

ในบรรดานักบวชเหล่านี้ มีโอรสแห่งอาณาจักรกัมโพชรวมอยู่ด้วย

เครดิตภาพ : history of Cambodia by triennial Ngea part1

นี่คือตัวแทนระบอบ “เขมรสาธารณรัฐ” ตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 นับเป็นความเกี่ยวข้องกับชนชาติมอญที่ถูกบันทึกไว้อย่างใกล้ชิดกว่าครั้งใดทั้งหมดของกัมพูชา ทั้งการจัดตั้ง “สถาบันเขมร-มอญศึกษา” โดยเก่ง วันสัก และเขียนตำราโดยตรึง เงีย ที่เหลือรอดมามาอย่างสง่างาม

ส่วนตำรา ความเรียงและเอกสารของนักวิทูคนอื่นๆ เกือบทั้งหมด ล้วนแต่สูญหายและล้มครืนไปไม่สิ้น ไม่ต่างกับ “สถาบันเขมร-มอญศึกษา” อันน่าสดายนัก

โดยประวัติศาสตร์มอญ-เขมรแบบตรึง เงีย ที่ข้าพเจ้านำมารีวิวเบื้องต้นแบบบ้านๆ และอาจไม่ตรงยุคสมัย และโปรดเมตตาอภัยในมุมมองที่คลาดเคลื่อนของเนียงขญมอันรื่นรมย์แต่ฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ มิใช่อื่นใด นอกจากจุดมุ่งหมายที่จะบันทึกไว้สำหรับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยนอกตำราที่ถูกปลุกขึ้นจากกระแสวัฒนธรรมใหม่ในระบอบเสรีประชาธิปไตยเท่าที่อาณาจักรแห่งนี้จะเคยมี และจะถูกแทนที่ด้วยตำราเล่มใหม่ของระบอบฮุนเซนในอีกไม่ช้า เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า

อาณาจักรมอญนั้น เคยเป็นที่ “สรอลัญ” ของชาวเขมร

เครดิตภาพ : history of Cambodia by triennial Ngea part1

 

เครดิตภาพ : history of Cambodia by triennial Ngea part1