โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญนาคเกี้ยว-2พิมพ์ หลวงพ่อเล็ก ปุสสเทโว วัดตรีจินดาฯ บางคนที

(ซ้าย) หลวงพ่อเล็ก ปุสสเทโว (ขวาบน) เหรียญนาคเกี้ยว พิมพ์แจกผู้ชาย (ขวาล่าง) เหรียญนาคเกี้ยว พิมพ์แจกผู้หญิง

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญนาคเกี้ยว-2พิมพ์

หลวงพ่อเล็ก ปุสสเทโว

วัดตรีจินดาฯ บางคนที

 

“หลวงพ่อเล็ก ปุสสเทโว” หรือ “พระครูสุตสาร” อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีจินดาวัฒนาราม จ.สมุทรสงคราม ชาวบ้านลุ่มน้ำแม่กลองต่างให้ความเลื่อมใสพศรัทธา เป็นศิษย์หลวงพ่อเพชร ปุญญวชิโร วัดไทรโยค พระเกจิดังผู้สร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก

เป็นผู้สร้างเหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม อันโด่งดัง โดยนำเอายันต์นาคเกี้ยว ซึ่งเป็นยันต์ประจำวัดที่หลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค ค้นพบในถ้ำที่รัฐไทยใหญ่ และคัดลอกมาในสมัยที่หลวงพ่อเพชรออกเดินธุดงค์

มีด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ พิมพ์สี่เหลี่ยมแจกผู้ชาย (เน้นคงกระพัน) อีกพิมพ์หนึ่งทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สำหรับแจกผู้หญิงและเด็ก (เน้นเมตตามหานิยม)

เหรียญนาคเกี้ยว สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2500 เพื่อแจกในคราวผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดตรีจินดาวัฒนาราม สร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้าง รวมกันกับพิมพ์แจกผู้ชายประมาณ 84,000 องค์

เล่ากันว่า เหรียญนาคเกี้ยวมีพิธีปลุกเสกใหญ่โดยนิมนต์พระเกจิแถบลุ่มแม่น้ำกลองมาอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะศิษย์สายหลวงพ่อเพชร เช่น หลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม, หลวงพ่อโห้ วัดบางกล้วย และหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธี จึงออกให้ทำบุญบูชาในงานผูกพัทธสีมาของอุโบสถหลังใหม่ ในราคาเหรียญละ 5 บาท

ลักษณะเหรียญพิมพ์แจกผู้ชาย เป็นเหรียญปั๊มรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบมีหูในตัว โดยจำลองจากยันต์นาคเกี้ยว ด้านหน้า เป็นรูปยันต์นาคเกี้ยว มีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “วัดตรีจินดาวัฒนาราม” ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “๒๕๐๐” ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

ส่วนพิมพ์สำหรับแจกผู้หญิง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปยันต์นาคเกี้ยว ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “วัดตรีจินดาวัฒนาราม ๒๕๐๐” ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

สำหรับพิมพ์ที่แจกกรรมการจะไม่เจาะหูเหรียญ แต่จะติดเข็มกลัดไว้แทน

จัดเป็นอีกเหรียญที่หายาก

 

มีนามเดิม เล็ก รัตนไพศาล (แซ่ตัน) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2443 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 12 ปี ชวด บิดา-มารดา ชื่อ นายฮวดและนางจี่ รัตนไพศาล ภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.กระดังงา อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน

ช่วงเยาว์วัย ศึกษาที่โรงเรียนวัดสามจีน เรียนหนังสือใหญ่หรือที่ในสมัยปัจจุบันเรียกว่าภาษาขอม และเรียนต่อวิชามูลกัจจายนะที่วัดเกาะใหญ่ จนเมื่ออายุ 16 ปี บรรพชาอยู่ที่วัดเกาะแก้ว

อายุ 18 ปี สึกไปช่วยบิดา-มารดาประกอบอาชีพค้าขาย

พ.ศ.2463 อายุครบ 20 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสามจีน (วัดตรีจินดาวัฒนาราม) ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม มีหลวงพ่อเพชร ปุญญวชิโร วัดไทรโยค เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูเลี้ยง วัดเกาะใหญ่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จำพรรษาอยู่ที่วัดสามจีนเป็นระยะเวลา 2 พรรษา จึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดใหม่ยายแป้น ธนบุรี เพื่อไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ พระนคร จนได้นักธรรมชั้นตรี

พ.ศ.2466 รับอาราธนาไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ที่วัดหวายเหนียว จ.กาญจนบุรี ซึ่งขณะนั้นมีหลวงพ่อปิ๋ว เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ.2469 กลับมาเปิดสอนพระปริยัติธรรมขึ้นที่วัดสามจีน ซึ่งในระหว่างที่กลับมาที่วัดสามจีนนี้เอง จึงได้เริ่มออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นการบำเพ็ญตามสมณวิสัยของบรรพชิต โดยเดินทางไปตามป่าราชบุรี กาญจนบุรี ตาก เชียงราย ติดต่อไปจนถึงปี พ.ศ.2471 จึงกลับวัด

ในตอนนั้นหลวงพ่อเพชร พระอุปัชฌาย์ เริ่มอาพาธ และถึงมรณภาพลงในปี พ.ศ.2472 ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงได้อาราธนาให้ปกครองวัดและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2474

 

เมื่อขึ้นเป็นเจ้าอาวาส พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ รวมถึงการเล็งเห็นความสำคัญด้านการศึกษาของบุตรหลานในพื้นที่ใกล้วัด

พ.ศ.2479 หลังจากเปิดการเรียนการสอนมาได้ 4 ปี จึงขอเปิดเป็นโรงเรียนประชาบาล (เฉลิมรัฐราษฎร์นุกูล)

พ.ศ.2483 เปลี่ยนนามวัดสามจีน เป็นวัดตรีจินดาวัฒนาราม รวมทั้งยังซ่อมอุโบสถและหอสวดมนต์ รวมทั้งสร้างสะพานข้ามคลองไทรโยค สร้างสะพานข้ามคลองวัดกลาง สร้างสะพานข้ามคลองบางน้อย ตรงข้ามวัดเกาะแก้ว

อัญเชิญพระประธานปูนปั้น ขนาดหน้าตัก 2.77 เมตร จากวัดกลางใต้ ประดิษฐานไว้ที่วิหาร และภายหลังจึงอัญเชิญมาเป็นพระประธานในอุโบสถ

พ.ศ.2488 สร้างหอพระไตรปิฎกชื่อ “หอพระไตรปิฎกเพชรรัตนไพศาลประชากุล” โดยซื้อบ้านของประชาชนมาสร้าง

พ.ศ.2498 อำนวยการสร้างอุโบสถหลังใหม่ แทนที่หลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ในพื้นที่ที่ซื้อใหม่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2499 และทำการผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2500

มรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2512 เวลา 04.00 น. บันทึกไว้ว่า ท่านให้พระที่พยาบาลพยุงให้ท่านนั่ง แล้วถามว่า “สว่างหรือยัง” พระตอบว่า “ตี 5 แล้ว” จากนั้นท่านก็มรณภาพอย่างสงบ

สิริอายุ 70 ปี พรรษา 50

บรรยายภาพ