‘มินอ่องไหล่’ โทษฝ่ายต่อต้าน ขวางกระบวนการสันติภาพพม่า ทำอาเซียนไม่เชิญร่วมประชุม

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 รอยเตอร์สรายงานว่า นายพลอาวุโส มินอ่องไหล่ ผู้นำก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ ก่อนตั้งตัวเองเป็นผู้นำรัฐบาลทหารได้ออกมากล่าวว่า รัฐบาลพม่ามุ่งมั่นสร้างสันติภาพและประชาธิปไตยให้กับพม่า และอาเซียนหรือสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรพิจารณาการกระทำอันยั่วยุและการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายต่อต้านรัฐประหารด้วย

โดยนายพลอาวุโสกล่าวผ่านการถ่ายทอดจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารที่ผู้นำรัฐบาลทหารเรียกว่าเป็น ผู้ก่อการร้าย พร้อมกับตัดพ้อว่าไม่มีใครสนใจความรุนแรงของพวกเขา มีแต่เรียกร้องให้เราแก้ปัญหาเท่านั้น อาเซียนควรดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

รายงานระบุว่า หลังการแถลงของนายพลอาวุโสจบลงไม่นาน สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลได้ประกาศเตรียมปล่อยตัวนักโทษจากคดีต่อต้านรัฐประหารจำนวนกว่า 5,600 คน โดยระบุการตัดสินใจนี้อยู่บนพื้นฐานมนุษยธรรมพร้อมกับตำหนิรัฐบาลเงาที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความไม่สงบ

ท่าทีล่าสุดของผู้นำรัฐบาลทหารครั้งนี้ เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่อาเซียนตัดสินใจไม่เชิญเข้าร่วมประชุมสุดยอดที่จะมีขึ้นในปลายเดือนนี้ หลังจากที่ที่ประชุมมองว่ามินอ่องไหล่ไม่สามารถทำตามข้อตกลง 5 ข้อ แต่มินอ่องไหล่กลับย้ำแผน 5 ขั้นแบบฉบับรัฐบาลทหารตัวเองในการฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กับพม่า

ทว่าสถานการณ์ตลอดหลายเดือนนับตั้งแต่การรัฐประหาร การต่อต้านเกิดขึ้นทั่วประเทศ และเกิดการปราบปรามโดยกองทัพและกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหารทั้งการจับกุม การใช้อาวุธสังหาร และการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบต่อผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร จนทำให้รัฐบาลเพื่อความเอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี ซึ่งเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจของส.ส.ฝ่ายชนะการเลือกตั้งและรัฐชาติพันธุ์ที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจต่อฝ่ายเผด็จการทหารรวมตัวกัน ได้ประกาศสงครามประชาชนให้ประชาชนใช้ทุกวิธีการรวมถึงการใช้อาวุธในการโค่นรัฐบาลเผด็จการทหาร ทำให้กองทัพรัฐบาลทหารพม่าต้องรับมือทั้งกองกำลังของรัฐชาติพันธุ์และกองกำลังปกป้องประชาชนหรือพีดีเอฟ กองทัพประชาชนที่เป็นผู้ประท้วงจากเมืองต่างๆเข้าร่วมฝึกฝนใช้อาวุธเพื่อสู้รบกับกองทัพรัฐบาลทหาร

ก่อนหน้านี้ อาเซียนมีการประชุมระดับรัฐมนตรีซึ่งมีมติไม่เชิญผู้แทนฝ่ายการเมืองของพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 26-28 ตุลาคม นับเป็นการตัดสินใจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และปฏิกิริยาตามมาคือ รัฐบาลทหารพม่าออกมาแสดงความผิดหวังอาเซียนในการตัดสินใจดังกล่าวพร้อมกับตำหนิว่าต่างชาติแทรกแซงการตัดสินใจของอาเซียน อันเนื่องจากประชาคมระหว่างประเทศต้องการเห็นบทบาทของอาเซียนที่ชัดเจนกว่านี้ หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาสถานการณ์พม่า ท่ามกลางชาวพม่าหลายพันคนที่ต่อต้านรัฐบาลทหารถูกปราบปรามอย่างโหดร้าย

ด้านรัฐบาลเอ็นยูจีได้กล่าวยินดีต่อการตัดสินใจของอาเซียนที่จะไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารพม่า และกล่าวว่าเอ็นยูจีควรเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมเพราะมาจากการเลือกตั้ง

ขณะที่ ดร.ซาซ่า โฆษกของรัฐบาลเอ็นยูจีกล่าวว่า การไม่เชิญมินอ่องไหล่ของอาเซียนนับเป็นก้าวย่างสำคัญ แต่เราเสนอแนะอาเซียนให้การยอมรับรัฐบาลเอ็นยูจีในฐานะผู้แทนฝ่ายพม่าที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เอ็นยูจี จะยินดีรับคำเชิญผู้แทนของพม่าที่มีจุดยืนเป็นกลางอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ อาเซียนถูกกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศและยังถูกประณามอย่างรุนแรงจากชาวพม่าฝ่ายต้านรัฐประหารที่อาเซียนส่งตัวแทนเข้าหารัฐบาลทหารแทนที่จะเป็นฝ่ายตัวแทนประชาชนหรือก็คือรัฐบาลเอ็นยูจี ทำให้เกิดการแสดงสัญลักษณ์ประณามอาเซียนด้วยเผาธงอาเซียน