6 ตุลา และรัฐประหาร 20 ตุลา/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

6 ตุลา และรัฐประหาร 20 ตุลา

 

บรรยากาศการรำลึกถึงผู้ถูกเข่นฆ่าในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งครบรอบ 45 ปีในปีนี้ นับว่ามีผู้คนเข้าร่วมอย่างเนืองแน่นเป็นพิเศษ รวมทั้งยังมีการจัดในหลายพื้นที่หลายจังหวัด โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างคึกคัก

แล้วคนหนุ่ม-สาวในยุคปัจจุบัน สามารถเชื่อมต่อกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เมื่อ 45 ปีก่อนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเด็กยุคใหม่ ค้นหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในอดีตได้ไม่ยาก ได้รู้เห็นการเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมที่กระทำโดยรัฐ แล้วกลับไม่มีการเอาผิดใครได้เลยแม้แต่รายเดียว

เป็นปัญหาความอยุติธรรมของสังคมไทย ที่จะต้องรื้อกันถึงโครงสร้าง

ขณะเดียวกันภารกิจการต่อสู้ของคนหนุ่ม-สาวในยุค 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 บัดนี้ได้ตกทอดมาถึงคนรุ่นใหม่ในปี พ.ศ.นี้

ประเด็นที่คนรุ่นใหม่เริ่มเคลื่อนไหวลงถนนตั้งแต่ปี 2563 และมีมาจนถึงปัจจุบัน เป็นภารกิจที่มีเป้าหมายใกล้เคียงกันกับยุคนั้น นั่นคือต่อสู้กับอำนาจฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง เครือข่ายขุนศึกขุนนางที่ครอบงำสังคมไทยมายาวนานจนถึงบัดนี้ เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นประชาธิปไตยที่เสรี ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันการปราบปรามกวาดล้างเมื่อปี 2519 ก็มีบรรยากาศใกล้เคียงกันกับการกวาดจับดำเนินคดีกับแกนนำเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบัน จนติดคุกติดตะรางกันระนาวและสูญสิ้นอิสรภาพกันหลายรอบแล้ว

ดังนั้น การรำลึก 6 ตุลาฯ ในยุคนี้ จึงไม่ใช่แค่งานรวมตัวกันของคนรุ่นเดิม คนเดือนตุลาหน้าเดิมๆ เพื่อมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับคนที่เสียชีวิตในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้นแล้ว

แต่หมายถึงการปลุกจิตวิญญาณการต่อสู้ในยุคนั้น เชื่อมต่อถึงคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน ทั้งติดตามทวงถามความยุติธรรม เอาตัวคนสั่งการมาลงโทษ และทั้งสืบต่อภารกิจผลักดันประเทศ ให้ก้าวหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

มองอีกแง่หนึ่ง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 น่าจะเป็นบทเรียนให้กับกลุ่มผู้กุมอำนาจปัจจุบัน ว่าเหตุการณ์นั้นได้ทำให้สังคมไทย ก้าวไปสู่ทิศทางที่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น หลังการฆ่าหมู่ ไม่ได้ทำให้นักศึกษา-ประชาชนสยบยอม ไม่ได้ยุติความคิดการต่อสู้ แต่กลับทำให้นักศึกษาพากันเข้าป่าจับปืน สู้รบกันในสงครามจริงๆ ตอบโต้กันตาต่อตา ฟันต่อฟัน

คณะทหารที่ก่อการรัฐประหารในเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นแผนขั้นต่อมา หลังจากแผนการฆาหมู่เริ่มต้นในเช้าวันนั้นแล้ว

เมื่อยึดอำนาจเสร็จ ตั้งรัฐบาลธานินท์ กรัยวิเชียร มาบริหารประเทศ โดยมีเป้าหมายชัดเจนคือ นำสังคมไทยถอยหลังไปสู่ยุคเผด็จการ เดินนโยบายขวาจัดสุดกู่

จากนั้นอีก 1 ปีถัดมา คณะทหารชุดเดิม ก็ต้องรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง 20 ตุลาคม 2520 เพื่อล้มรัฐบาลธานินทร์ แล้วพลิกการเมืองจากยุคมืดขวาจัด กลับมาสู่แนวทางสายกลาง ใช้ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบเข้ามาคลี่คลายบรรยากาศ

 

ก่อนหน้าจะเกิด 14 ตุลาคม 2516 สังคมไทยเราอยู่ในยุครัฐบาลทหาร ภายใต้อำนาจถนอม-ประภาส-ณรงค์ แต่เมื่อนักศึกษานำประชาชนร่วมชุมนุมใหญ่ ใช้สองมือเปล่าสู้กับกระสุนปืนทหารที่เข้าปราบปรามการประท้วง จนฝ่ายประชาชนได้รับชัยชนะ และเป็นการเบิกม่านประชาธิปไตยสู่สังคมไทย

3 ปีต่อมา ด้วยการเคลื่อนไหวที่นำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับประชาชนในการต่อสู้ทุกปัญหาสังคม และเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยให้ก้าวไปข้างหน้า จนทำให้ขบวนการนักศึกษา-ประชาชน เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ส่งผลให้กลุ่มอำนาจล้าหลังหวาดกลัวอย่างหนัก

ยิ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองใน 3 ประเทศเพื่อนบ้านช่วงปี 2518 เกิดความหวาดผวาว่าไทยจะเป็นประเทศต่อไป จึงเกิดแผนกวาดล้างปราบปรามขบวนการนักศึกษาให้สิ้นซาก

มีปฏิบัติการขวาพิฆาตซ้าย ออกไล่ฆ่าผู้นำนักศึกษา ผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา จนล้มตายมากมาย

จนมาถึงวันกวาดล้างใหญ่ ด้วยการสร้างเรื่องว่าแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อจัดการกับขบวนการนักศึกษา ซึ่งจัดชุมนุมใหญ่ในธรรมศาสตร์ ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม โดยปลุกมวลชนฝ่ายขวาเข้าปิดล้อมธรรมศาสตร์ แล้วส่งกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมอาวุธสงครามเข้าปราบปราม

เย็นวันนั้นคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อันเป็นชื่อที่เขียนกันล่วงหน้าในหนังสือพิมพ์ชาวไทย สื่อฝ่ายขวาน้องๆ ดาวสยาม ก็ปรากฏตัวขึ้น นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นเลขาธิการ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช แล้วตั้งรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เดินหน้าขวาสุด

มีการประกาศแผนพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปีด้วย เหมือนรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมประกาศปฏิรูประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี

ยุครัฐบาลธานินทร์ คือยุคมืดทางเสรีภาพแท้จริง หนังสือพิมพ์ถูกปิด แล้วให้เปิดได้เฉพาะที่เสนอข่าวแนวชาวบ้าน ส่วนหนังสือพิมพ์คุณภาพถูกปิดตาย จึงเป็นยุคที่คนไทยไม่สามารถติดตามข่าวการเมืองได้มากนัก

ต้องไปซื้อวิทยุที่มีระบบรับคลื่นสั้น ฟังข่าวการเมืองไทยจากวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย และฟังสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่รายงานการเข้าป่าของเหล่านักศึกษาให้ได้รับรู้

รัฐบาลธานินทร์ถึงขั้นส่งรัฐมนตรีเดินทางไปพบนายกฯ อังกฤษ เพื่อขอให้หยุดการเสนอข่าวการเมืองไทยของบีบีซีภาษาไทย แต่ต้องหงายหลัง เพราะนายกฯ อังกฤษยืนยันว่า บีบีซีเป็นสื่ออิสระ รัฐไม่มีสิทธิ์แทรกแซง

บรรดาหนังสือเล่มทฤษฎีการเมือง หนังสือแนวก้าวหน้า วรรณกรรมก้าวหน้า เพลงเพื่อชีวิต กลายเป็นสิ่งต้องห้าม ถูกกวาดจับ คนที่มีครอบครองต้องเอาไปเก็บฝังดิน

บรรยากาศเช่นนี้เอง ทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ผู้นำคณะปฏิวัติตัวจริง มองออกว่าไปไม่รอดแน่ แถมขณะนั้นบรรดานักศึกษาแห่ไปร่วมกับคอมมิวนิสต์ ทำให้แนวรบฝ่ายป่ายิ่งคึกคักขยายตัว สงครามคอมมิวนิสต์ยิ่งแผ่กว้าง

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินชุดเดิม จึงต้องรัฐประหารซ้ำในอีก 1 ปีถัดมา คือ 20 ตุลาคม 2520 เพื่อล้มรัฐบาลธานินทร์ แล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ขึ้นเป็นนายกฯ เอง พร้อมกับพลิกนโยบายการเมือง กลับสู่ประชาธิปไตย นิรโทษกรรมจำเลยคดี 6 ตุลาคม ปล่อยตัวสุธรรม แสงประทุม และแกนนำนักศึกษาที่ถูกจับในวันนองเลือด รวมทั้งเปิดเสรีภาพหนังสือพิมพ์

คลี่คลายบรรยากาศประเทศครั้งสำคัญ โดยคณะทหารที่รัฐประหารซ้ำ 2 หน!

 

มองการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่มี พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นผู้นำ แล้วรัฐประหารซ้ำ 20 ตุลาคม 2520 เพื่อปลดรัฐบาลขวาจัด แล้วเป็นนายกฯ เอง เพื่อพลิกโฉมการเมือง คลี่คลายความตึงเครียด

ประเด็นนี้กลุ่มผู้กุมอำนาจควรศึกษาเรียนรู้

ตั้งแต่การใช้แผนปราบปรามสังหารหมู่ 6 ตุลา แล้วไม่ได้ทำให้นักศึกษาสยบยอม กลับเข้าป่าใช้สงครามต่อสู้แทน จนกระทั่งกองกำลังคอมมิวนิสต์เคลื่อนเข้าใกล้ กทม.ทุกที

เป็นบทเรียนว่า การเข่นฆ่าปราบปรามเช่นนั้นคือความผิดพลาด แล้วยิ่งทำให้ฝ่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่ต่อสู้แบบแตกหักแทน จนกระทั่งขุนทหารในยุคปี 2523 ต้องใช้แผนการเมืองนำการทหาร ใช้สันติวิธีเข้าแก้ปัญหา

อีกทั้งการตั้งรัฐบาล ที่นำประเทศถอยหลัง เพื่อจะควบคุมสังคม ครอบงำให้ประชาชนถูกปกครองอย่างว่านอนสอนง่าย ปิดกั้นสื่อก้าวหน้า ไม่ให้ประชาชนได้เสพได้รู้ กลับยิ่งทำให้ประเทศไทยถูกโลกต่อต้าน แล้วยิ่งผลักประชาชนให้ไปร่วมต่อสู้ในแนวทางใช้อาวุธ

นั่นทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ต้องตัดสินใจเปลี่ยนรัฐบาลและแนวนโยบาย

บทเรียนนี้ กลุ่มอำนาจปัจจุบันน่าจะเรียนรู้มากที่สุด เพราะการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วเป็นรัฐบาลทหารถึง 5 ปี เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองครองอำนาจยาวนาน แล้วเป็นรัฐบาลต่ออีก ส่อแสดงว่าต้องการฉุดรั้งสังคมไทยให้ถอยหลัง ดูไปก็อาจจะใกล้ๆ กับแผน 12 ปียุครัฐบาลธานินทร์

ควรศึกษาเรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และการรัฐประหาร 2 ครั้งที่ตามมา

ถ้าไม่อยากผลักสังคมไทย ให้ประชาชนหันไปเลือกแนวทางสู้แตกหักอีก!