#45ปี6ตุลา : หลากพรรคการเมืองร่วมรำลึก จี้เปิดพื้นที่เจรจา-สร้างกลไกป้องกันอำนาจรัฐใช้ความรุนแรง

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ณ ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์การเมืองไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่รู้จักในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 โดยปีนี้ มีความคึกคักทั้งผู้ร่วมงานไม่ว่าเป็นอดีตคนเดือนตุลา ผู้รอดชีวิตจากเหตุนองเลือด ยังมีคนรุ่นใหม่หลากหลายกลุ่มที่ได้เคลื่อนไหวประเด็นการเมืองและสังคมมาตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆโดยเฉพาะปีกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยของไทยก็ร่วมงานกันอย่างคึกคักทั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น

เพื่อไทย : 6 ตุลา 19 จุดเริ่มต้นวงจรฉุดรั้งประเทศ

นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนายสุธรรม แสงประทุม อดีตนักศึกษานักเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 6 ตุลา นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรค และนายกฤตนัน สุทธิธนาเลิศ สมาชิกพรรค เข้าร่วมวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยนางสาวอรุณี กล่าวว่า เนื่องในวันครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขอแสดงความรำลึกถึงเหล่าวีรชนทุกท่าน และเชื่อว่าการต่อสู้ในตอนนั้นคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงความเสียสละของผู้วายชนม์แล้ว ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยที่ทำให้การยึดอำนาจรัฐประหารของเผด็จการเป็นสิ่งที่เลวร้ายและนำมาซึ่งความตกต่ำของประเทศจนถึงทุกวันนี้ เป็นหนึ่งในรูปแบบของความอำมหิตที่รัฐใช้กับผู้ชุมนุมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และสุดท้ายประเทศไทยก็ตกหลุมวนอยู่ในวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา โดยมี 4 ขั้นตอนหลัก คือ

1.การสร้างสังคมที่ “อยุติธรรม” เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การกลับเข้ามาในประเทศของจอมพลถนอม ที่ไม่เคยได้รับโทษใดๆ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นชนวนเหตุความรุนแรง เช่นเดียวกับปัจจุบัน การชุมนุมของเยาวชนทั้งหลายก็เกิดจากการอึดอัดคับแค้นใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นสังคม

2.ใช้สื่อสารมวลชนอย่าง “อยุติธรรม” เพื่อสร้างวาทกรรมลดทอนคุณค่า โดยกรณี 6 ตุลา ผู้ชุมนุมถูกลดทอนคุณค่าการเรียกร้องความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้กลายเป็นปีศาจคอมมิวนิสต์ ปีศาจญวน จนมาถึงปัจจุบันเยาวชนที่ออกมาชุมนุมถูกลดทอนคุณค่าให้เหลือเพียง พวกชังชาติ หรือพวกสามกีบ โดยสื่อบางกลุ่ม หรือหน่วยไอโอ

3.เผด็จการเข่นฆ่ากระทำการรุนแรงกับประชาชน ในกรณี 6 ตุลา รัฐระดมกำลังพลและอาวุธสงครามล้อมฆ่าประชาชนที่ไร้ทางสู้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ปัจจุบันรัฐเริ่มเพิ่มระดับความรุนแรงในกดปราบผู้ชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมี เอากระบองไล่ทุบตี ตระเวนขึ้นรถกระบะไล่ยิงกระสุนยาง และมี “มือมืด” ใช้กระสุนจริงด้วย

4.บังคับให้ถูกลืม กรณี 6 ตุลา การล้อมฆ่าถูกทำให้ลืมเลือน ใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะถูกรื้อฟื้น เมื่อเทียบกับการชุมนุมในปัจจุบันมักจะมีข่าวสังคมสร้างดราม่าเข้ามาแทรกเกือบทุกครั้ง ดังนั้นพรรคการเมืองและประชาชนจะต้องร่วมกันรื้อทุบโครงสร้างเหล่านี้ไปให้ได้ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ยุติธรรมกลับคืนมาจะได้ไม่ต้องมีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2529 เกิดขึ้นซ้ำอีก

“หากรัฐบาลซึ่งมีที่มาจากเผด็จการทหาร ที่ยึดอำนาจมาจากมือของประชาชนยังคงปกครองประเทศ วงจรอุบาทว์ จะหมุนวนซ้ำไปเรื่อยๆ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยจะถูกลดทอน ด้อยค่า สิทธิและเสรีภาพจะไม่มีค่าไปกว่าความมั่นคง และท้ายที่สุดระบอบการปกครองของไทยที่ชื่อว่าประชาธิปไตยจะไม่สามารถพัฒนา 7 ปีที่ผ่านมาก็เกินพอแล้วสำหรับเผด็จการทหาร” นางสาวอรุณี กล่าว

‘ก้าวหน้า-ก้าวไกล’ แท็กทีม จี้รัฐยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ-เปิดพื้นที่พูดคุย

ถือเป็นอีกพรรคการเมืองที่ไม่เคยพลาดกับงานรำลึกครั้งนี้อย่างพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า โดยแกนนำพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ประกอบด้วยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, นางสาวพรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, และนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และวางพวงมาลารำลึกวีรชนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ ร่วมกับญาติวีรชน คนเดือนตุลา ภาคประชาสังคม นักเรียน นิสิต นักศึกษา และตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ
.
พร้อมกันนี้ แกนนำทั้ง 4 ได้ร่วมกันให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงการร่วมพิธีรำลึกในวันนี้ ซึ่งในส่วนของนายพิธา ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน อาจสรุปได้ว่าเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา, พฤษภา 35, เมษา-พฤษภา 53 มาจนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ล้วนแต่มีรากเหง้าของปัญหาเดียวกันที่ไม่เคยได้รับการชำระ นั่นคือความรุนแรงของรัฐ ที่เข้าปราบปรามคนเห็นต่าง ไม่อนุญาตให้คนที่มีความคิดแตกต่างได้ดำรงอยู่ในสังคม และวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล ที่วันนี้ยังไม่มีผู้ต้องรับผิดต่อ 41 ชีวิตที่ต้องสูญเสียไปในวันนั้น
.
มาจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ยังคงมีเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ได้รับความรุนแรงทั้งจากการปราบปรามบนท้องถนนและการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ มีเยาวชนที่โดนคดีมาตรา 112 ถึง 148 คน และมีผู้ถูกดำเนินคดีความทางการเมืองสำหรับคนเห็นต่าง 2 พันกว่าคดี
.
วันนี้รัฐไทยยังไม่คิดที่จะฟังเสียงของประชาชน ไม่คิดที่จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รับฟังความฝันของคนรุ่นใหม่ ไม่รับฟังความต้องการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ประนีประนอม พร้อมใช้ความรุนแรงกับประชาชน
.
นานพิธากล่าวต่อไป ว่าพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอ นั่นคือรัฐต้องยุติความรุนแรงกับประชาชนและนิติสงครามโดยทันที พฤติกรรมของรัฐในวันนี้สะท้อนถึงความแข็งตัวของรัฐ ยิ่งใช้ความรุนแรงเข้าสู้กับอนาคตของชาติ การชุมนุมแต่ละครั้งยิ่งจะปะทุรุนแรงมากขึ้น การใช้คดีความเข้าปราบปรามประชาชนก็ไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไป
.
“เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้คนรุ่นใหม่ได้พูดความจริงแห่งยุคสมัย เปิดให้มีการประนีประนอมระหว่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่างต้องแก้ด้วยกระบวนการทางการเมือง ยอมรับความเห็นต่างให้เป็นเรื่องปกติ มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้น ผลลัพธ์ความขัดแย้งทางการเมือง 45 ปีที่ผ่านมาจึงจะถูกชำระและเดินหน้าต่อไปได้” นายพิธากล่าว
.
ด้านนายชัยธวัช ระบุว่าสิ่งที่เราเรียกร้องในวันนี้ คือรัฐต้องยุติการดำเนินคดีความทางการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมและสลายการชุมนุมที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เพราะยิ่งจะทำให้เกิดความคับแค้นคับข้องใจในหมู่ประชาชน และจะทำให้ประชาชนเลือกตอบโต้ด้วยความรุนแรงมากข้ึน
.
การดำเนินคดีการเมือง ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 หรือมาตรา 116 ล้วนเป็นสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คือการเป็นอาชญากรรมทางความคิด ไม่อนุญาตให้ประชาชนพูดหรือแสดงความเห็น ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่มีทางนำไปสู่ทางออกให้แก่สังคมไทยได้
.
“เราเคยมีบทเรียนแล้วว่าคดีความเหล่านี้ต้องใช้มาตรการทางการเมืองเข้าแก้ไข เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยกัน ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อประชาชนทันที และในอนาคตเราต้องมีการนิรโทษกรรมให้แก่คดีทางการเมืองที่เกิดกับประชาชนเหล่านี้ทั้งหมด” นายชัยธวัชกล่าว
.
ในส่วนของนายธนาธร ระบุว่าในวันนี้เรามารำลึกถึงอดีต ไม่ใช่เพียงเพื่ออดีตเท่านั้น แต่เรายังต้องการส่งเสียงว่าเราต้องการเห็นอนาคตแบบไหน นั่นคืออนาคตที่คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างโอบอ้อมอารี ความเห็นต่างได้รับการยอมรับ มีแต่อนาคตแบบนี้เท่านั้น ที่ประทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ การรำลึก 6 ตุลาของเรา ไม่ใช่การรำลึกแต่เพียงอดีตและคุณูปการของคนเดือนตุลา แต่เรามาป่าวประกาศ ว่าสังคมไทยที่เราอยากสร้างไปด้วยกันจะเป็นเช่นไรด้วย
.
ด้านนางสาวพรรณิการ์ ระบุว่า 45 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่าความอำมหิตที่รัฐได้กระทำต่อประชาชนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยังคงไม่มีการเรียนรู้บทเรียนจากความรุนแรง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ประชาชนยังคงต่อสู้อยู่ในวันนี้ เหมือนดั่งที่ได้ต่อสู้มาเมื่อ 45 ปีที่แล้ว และการต่อสู้ยังคงต้องดำเนินต่อไป ฝากไปถึงพลเอกประยุทธ์ และผู้ที่ค้ำจุนอำนาจของรัฐบาลว่า อำนาจปืนไม่อาจลบล้างหรือขัดขวางอนาคตของประเทศได้ อนาคตของประเทศเป็นของประชาชน ส่วนอนาคตของพวกคุณอยู่ในเรือนจำ
.
สำหรับพวงมาลารำลึกของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า ได้มีการเขียนข้อความ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” และ “ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่ประพันธ์โดยจิตร ภูมิศักดิ์ อันเป็นเพลงที่นิยมขับขานในหมู่คนเดือนตุลา มีความหมายถึงการยืนหยัดต่อสู้ของประชาชน ที่แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากมากมาย แต่ก็ยังคงไม่ย่อท้อ แม้ในยามที่มืดมิดที่สุด ก็ยังคงมีแสงดาวส่องนำทางเป็นความหวังและกำลังใจให้กับการต่อสู้ต่อไป

‘ไทยสร้างไทย’ ชู 4 ภารกิจสานต่ออุดมการณ์

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมด้วยทีมคนรุ่นใหม่จากพรรคไทยสร้างไทย ได้ร่วมวางพวงมาลารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในวาระครบรอบ 45 ปี การล้อมปราบนักศึกษา-ประชาชน ที่ ลานปติมากรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ท่ามกลางนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน เข้าร่วมอย่างคึกคัก

โดยนายต่อพงษ์ กล่าวว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกจารึกทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า รัฐได้กระทำความรุนแรงอย่างโหดร้ายต่อประชาชนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ โดยการสร้างชนวนความเกลียดชังทางการเมืองระหว่างประชาชนด้วยกัน

กงล้อประวัติศาสตร์ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า รัฐต้องสรุปบทเรียนการจัดการความขัดแย้งในอดีต เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำเหมือนกับในอดีต โดยเฉพาะผู้นำประเทศ ที่จะต้องถอดบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

พรรคไทยสร้างไทย ขอสืบทอดเจตนารมณ์ของคนยุค 6 ตุลา โดยขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อสานต่อ 4 ภาระกิจสำคัญ คือ ขจัดเผด็จการอำนาจนิยม, ขจัดรัฐราชการรวมศูนย์ , ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยมีประชาธิไตยเต็มใบได้สำเร็จ