สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร / ร้อนลมปาก

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

——————

ร้อนลมปาก

——————-

หัวใจ จากอกข้างซ้าย ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ถูกแจกเกลื่อนกล่นไปทั่วพื้นที่ ที่เผชิญปัญหา”โอษฐ์ทกภัย”แหะ-แหะ ขออภัย “อุทกภัย”

ส่วนชาวบ้าน จะเก็บ”หัวใจ”แถมมธุรสวาจา “รักนะ-ห่วงนะ” มากน้อยแค่ไหน ก็ว่ากันไป

หรือ ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่ง จะเก็บคำแนะนำอย่าง “ช่วยกันสวดมนต์” “สร้างบ้านสองชั้น” “ระวังน้ำกัดเท้า”เป็นอาทิ ไปอย่างไร ก็ว่ากันตามสะดวกเช่นกัน

เพียงแต่ อยากบอกว่า ทุกคำพูด ทุกการแสดงออก ของ “ผู้นำ” มีความหมายหมายเสมอ

การพูดหรือทำอะไรคงต้องละเอียดรอบคอบ

อย่าให้เกิด “โอษฐภัย”โดยไม่จำเป็น

และ ไม่อยากให้คำพูดผู้นำเป็นเพียง”ลมปาก”อันว่างเปล่า

ควรจะมีความผูกพัน เป็นพันธสัญญา และเป็นความหวังที่จะพัฒนาไปสู่ที่จับต้องได้

ประโยค ที่ว่า นี่แค่พายุลูกเดียว ยังหนักขนาดนี้ เราควรสวดมนต์ไม่ให้มีพายุเข้ามาอีกนั้น

หากเราไม่ผ่าน มหาวิกฤตอุทกภัยเมื่อปี 2554

คนก็อาจไม่คิดหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรมาก

แต่เราผ่านมาแล้วพร้อมกับบทเรียนที่เตือนใจว่าเราคงอยู่กันตามยะถากรรมหรือสวดมนต์ภาวนาอย่างเดียวไม่ได้

จำเป็นต้องมีวิธีป้องกันและแก้ไขอย่างขนานใหญ่

รัฐบาลก่อนหน้านี้ เสนอคำว่าอภิมหาโปรเจกต์แก้ไขปัญหาน้ำขึ้นมา

แต่ก็ถูกหักโค่นไปด้วยข้อกล่าวหาต่างนานา

ซึ่งต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นผู้นำ ทั้งในนามคณะรัฐประหาร และทั้งในนามนายกฯจากรัฐธรรมนูญปี 2560

คำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ”มาแทนและเป็นม็อตโต้ประจำรัฐบาล

มีการพูดถึง ยุทธศาสตร์ต่างๆนานาแน่นอนรวมถึงภัยธรรมชาติ

แต่ก็อย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กัน ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดเป็นเพียง “ลมปาก”เท่านั้น

จับต้องอะไรไม่ค่อยได้

อย่างสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดๆๆๆ ระหว่างลงพื้นที่ ไม่ว่าการสวดมนต์ การให้สร้างบ้านสองชั้น การบอกรักและห่วงมากๆ หรือแม้กระทั่งการขน รัฐมนตรี ส.ส.ไปโชว์ตัวหรือโชว์พลัง

ไม่ใช่เรื่องยุทธศาสตร์แน่ๆ

ตอนนี้เราจึงได้ยินแต่คำปลอบใจว่า ปีนี้ไม่วิกฤต เหมือนปี 2554

แต่จะให้ นอนตาหลับได้อย่างไร เพราะอีกด้านนายกฯบอกว่า นี่ขาดพายุลูกเดียวยังหนักขนาดนี้

ก็เลยเกิดคำถามว่าแล้วถ้ามีพายุเข้ามาอีกจะไม่วิกฤตยิ่งกว่านี้หรือ

7ปีที่ผ่านมา นอกจาก ขุดลอกหนองบึง ที่ทำกันมาอย่างไรก็ทำกันอย่างนั้น แถมนินทากันหนักว่าคอรัปชั่นกันอื้อซ่า มีอะไรที่ทำเพื่อป้องกันบรรเทาวิกฤตบ้าง

นี่ยังไม่ต้องพูด เรื่องบิ๊กๆ ที่ นายกฯก็ชอบพูดถึง นั่นคือ ปัญหาเรื่อง”โลกร้อน”

ไม่รู้เราได้เตรียมการรับมือขนาดไหน

นอกจากพูดๆๆๆเพื่อแสดงว่า เราก็ทันยุคทันสมัยนะ

แต่ทันยุคทันสมัยแล้ว–ยังไงละ

รัฐบาลนี้ผ่านและกำลัง เผชิญบทเรียน หนักๆมาแล้ว ทั้งปัญหาอุทกภัย ปัญหาโรคระบาด

เหล่านี้ คือ วิกฤตความมั่นคง”ใหม่”ของชาติ

ถามว่าเรามียุทธศาสตร์ความมั่นใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะการรับมือหายนะจากภัยธรรมชาติและเชื้อโรค

ที่ผ่านมาพอพูดยุทธศาสตร์ความมั่นคงเราพูดถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการซื้ออาวุธ

หรือไม่ก็ไปทำให้เรื่องเล็กๆ อย่างหนังสือนิทานอ่านสำหรับเด็ก ให้กลายเป็นประเด็นใหญ่โต เร่งด่วน

ถึงขนาดนายกรัฐมนตรี สั่งการในคณะรัฐมนตรีให้ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงศึกษา รีบจัดการเพราะถือเป็นสิ่งกระทบความมั่นคงของชาติ

ได้ยินแล้ว คันยิบๆ โรค”น้ำกัด”กำเริบ!

—————-