E-DUANG : บทบาท สถานะ ของ“สื่ออิสระ” มุมมองจากรัฐ มุมมองตำรวจ

กรณีของเพจ”สำนักข่าวราษฎร”และ”ปล่อยเพื่อนเรา”ถูกตำรวจคุมตัวไปสอบและฟ้องร้องต่อศาลมีผลสะเทือน

สะเทือนต่อการนิยาม บทบาทและความหมายของ”สื่อ”

เนื่องจากการเกิดขึ้นของ”สำนักข่าวราษฎร”และเพจ”ปล่อยเพื่อนเรา” เป็นการดำรงอยู่อย่างที่เรียกว่าเป็น”สื่ออิสระ”

การดำรงอยู่ของ”สื่ออิสระ”เช่นนี้เป็นเรื่อง”ใหม่”

สื่อเหล่านี้มิได้สังกัดกับสมาคมหรือองค์กรสื่อ”เดิม” ไม่ได้ผ่านการรับรองจาก”กรมประชาสัมพันธ์”

เจ้าหน้าที่”ตำรวจ”จึงปัดปฏิเสธบทบาทในการเป็น”สื่อ”

ไม่สามารถที่จะได้ใบอนุญาตพิเศษให้ทำงานเหมือนกับสื่อที่ผ่านการรับรองมาจากสมาคมหรือองค์กรสื่อ และจากสำนักข่าวนั้นโดยตรง

คำถามก็คือ สื่อเหล่านี้ทำงานอย่างเดียวกับสื่อกระแสหลักหรือไม่

คำตอบเรื่องนี้แม้กระทั่งสื่อกระแส”หลัก”ทั่วไปก็มิอาจปฏิเสธ

 

อย่าว่าแต่สื่ออิสระอย่าง”สำนักข่าวราษฎร” และเวบเพจ”ปล่อยเพื่อนเรา”จะถูกมองด้วยสายตาอันเปี่ยมด้วยความแคลงคลางและกังขา

แม้กระทั่งสื่ออย่าง”เดอะ  รีพอร์ตเตอร์” สื่ออย่าง”เดอะ สแตน ดาร์ด” สื่ออย่าง”ประชาไท”ก็ดำรงอยู่อย่างแปลกแยก

ทั้งๆที่ในความเป็นจริงสื่อเหล่านี้มีบทบาทเป็นอย่างสูงในสายพานแห่งข่าวสารและข้อมูล สำนักข่าวกระแส”หลัก”บางแห่งยืน ยันได้เป็นอย่างดีว่าได้ข้อมูลมาจากสื่อ”อิสระ”

และในความเป็นจริง สื่อ”อิสระ”ไม่ว่าจะเป็น”สำนักข่าวราษฎร” ไม่ว่าจะเป็นเวบเพจ”ปล่อยเพื่อนเรา”

ล้วนสามารถดำเนินเดินหน้าได้โดยพลังจาก”สังคม”

 

สังคมไทยเอ่ยอ้างถึงแนวโน้มและการเข้ามาของ”เศรษฐกิจดิจิทัล” กระทั่งมีการเสนอคำขวัญในลักษณะ”ไทยแลนด์ 4.0” อย่างคึกคักและกว้างขวาง

แต่ความรับรู้และความเข้าใจยังเป็น”อะนาล็อก”

สายตาของตำรวจ สายตาของกรมประชาสัมพันธ์ ยังเป็นความ คิดในยุคห่างไกลยิ่งกับยุคแห่ง”ดิจิทัล”

ทั้งๆที่”ดิจิทัล”ได้ส่งเสียงเป็นสัญญาณเตือนแล้วอย่างเด่นชัด