พรรคใหญ่ ‘ดัน’ – พรรคเล็ก ‘ต้าน’ ส.ว.รอสัญญาณ ชี้ขาดแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 สุดท้ายต้องผ่านด่านศาล ‘รธน.’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

พรรคใหญ่ ‘ดัน’ – พรรคเล็ก ‘ต้าน’

ส.ว.รอสัญญาณ

ชี้ขาดแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3

สุดท้ายต้องผ่านด่านศาล ‘รธน.’

 

การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ กำลังจะถูกชี้ชะตาในกระบวนการโหวตขั้นสุดท้ายในวาระ 3 เดาใจไม่ถูกว่าสมาชิกรัฐสภาคือสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะโหวตไปในทิศทางใด

ขณะที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลบางพรรค เช่น พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทยยังคงไม่ถูกใจกับร่างรัฐธรรมนูญที่ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และเปลี่ยนไปใช้สัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และ ส.ส.เขต 400 คน

โดยต่างอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ทั้งเรื่องเผด็จการรัฐสภาการกินรวบอำนาจของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค และการกีดกันกลุ่มที่มีความหลากหลาย เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่ม LGBTQ

ความไม่เป็นเนื้อเดียวกันทางความเห็น ก็เกิดมาจากความกังวลในกติกาที่จะถูกใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้หรือไม่ แน่นอนว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็อยากจะได้ระบบเลือกตั้งที่เป็นผลบวกกับการได้เสียงในสภา

แม้ว่าร่างฉบับนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์และพิกลพิการ จนไม่น่าถูกใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปได้จริงๆ เจ้าภาพของร่างอย่างพรรคประชาธิปัตย์ยังคงมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเสนอมา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ได้ยกเอาสถิติในช่วงการโหวตวาระ 1 และวาระ 2 ว่าฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล รวมถึง ส.ว. ต่างก็ให้ความเห็นชอบมาแบบไม่สะดุด

จึงคาดการณ์ได้ว่าในวาระ 3 ขั้นสุดท้ายก็คงจะเป็นแบบที่ผ่านมา ด้วยความที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องชูนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น เมื่อโอกาสที่จะแสดงความจริงใจต่อประชาชนตามที่ได้เคยประกาศไว้จึงต้องทำอย่างเต็มที่

อีกนัยหนึ่งนายจุรินทร์ยังเผยว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านก็จะเป็นการลดอุณหภูมิทางการเมือง แต่หากไม่ผ่านก็จะทำให้เป็นไปตามที่กล่าวหาว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ได้เลยแม้แต่ประเด็นเดียว และยังจะทำให้การเมืองย้อนกลับไปที่เดิม ที่จะกดดัน ‘องคาพยพต่างๆ’ โดยไม่จำเป็น โดยยังยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเป็นประชาธิปไตยน้อย หากดันทุรังใช้ต่อไปจะไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตยในระยะยาว

เดิมพันศักดิ์ศรีของพรรคประชาธิปัตย์หวังกอบกู้ชื่อเสียงของตัวเองเพื่อจะกลับมาครองใจพี่น้องประชาชนไทยอีกครั้ง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่มผู้ชุมนุม และประชาชนบางส่วน

ถ้าบรรลุเป้าหมายได้ อย่างน้อยที่สุดก็คงจะได้หน้าไม่มากก็น้อย

 

ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ปรับอาการแข็งกร้าวที่เคยประกาศไว้ว่า แม้จะไม่ขัดข้องกับบัตร 2 ใบ แต่ก็แฮปปี้กับบัตรเลือกตั้งใบเดียวมากกว่า

โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กันยายน ว่า จะเปิดฟรีโหวต ให้ ส.ส.ใช้เอกสิทธิ์ตัดสินใจได้เต็มที่ ไม่มีกรอบให้ต้องทำตาม เพราะเชื่อในวุฒิภาวะที่มี

เหตุด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แกนนำพรรค ภท.รู้ดีว่าไม่เป็นผลดีต่อพรรคขนาดกลาง ที่ไม่มีฐานเสียงของ ส.ส.เขตที่เข้มแข็งเหมือนพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนพรรคก้าวไกล แม้ประกาศพร้อมสู้ทุกกติกา ไม่ว่าจะออกแบบมาเป็นอย่างไร แต่ไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 จะทำให้เกิดการกินรวบและผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองใหญ่ สุดท้ายอาจจะติดล็อกจนพาประเทศไปสู่ทางตันเหมือนที่ผ่านมา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

แต่เป็นประโยชน์ให้กับพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่เท่านั้น

 

ขณะที่สัญญาณจาก ส.ว.ค่อนข้างมีความเห็นแตกต่างกันคือ จะโหวตทั้งให้ผ่าน คว่ำ และยังลังเลอยู่ ซึ่งต้องรอดูสัญญาณก่อนวันชี้ชะตาว่า ‘หัวหน้า ส.ว.’ ตัวจริงจะส่งสัญญาณแบบไหน โดยตอนนี้ยังไม่ชัดเนื่องจากเสถียรภาพของรัฐบาลยังระส่ำระสายจนคาดการณ์อะไรไม่ได้ เพราะร้าวหนักถึงขั้นมีคนอยากจะเลื่อยขาเก้าอี้ ‘บิ๊กตู่’ จึงยังไม่มีสัญญาณชัดๆ ออกมา

ด้านพรรคเล็ก 9 พรรค ที่มีอย่างละ 1 เสียง นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ก็ได้จับมืออีก 6 พรรค รวม 7 พรรค แถลงจุดยืนโหวตคว่ำไม่เอาระบบเลือกตั้งใหม่อย่างไม่เหนียมอาย เพราะหากร่างผ่านได้ใช้จริงๆ สภาจะไม่มีลิงให้ต้องคอยแจกกล้วยอีก

ส่วนไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ โต้โผใหญ่ ออกมาแย้มสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีปัญหานั้น โดยจะใช้โมเดลการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่พรรคประชาธิปัตย์ไปเอาข้อความจากรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม 2554 มาตรา 98 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ในช่วงนั้นได้ออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่เขียนวิธีคำนวณไว้ว่า ให้คำนวณแยกเฉพาะบัญชีรายชื่อ ว่าถ้ามีคะแนนรวมมาแล้ว ให้มาหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีอยู่ จากนั้นพรรคใดที่ได้ ‘คะแนนเต็ม’ คือหารเสร็จแล้วจะได้ ส.ส.ต่อคน จะได้คะแนนเท่าไหร่ เช่น หารเสร็จแล้วได้ 3 แสนต่อ 1 คน พรรคใดที่ได้คะแนนเต็ม คือได้ 1 ขึ้นไป ก็ถือว่าได้ ส.ส.ตามนั้น ส่วนเศษที่เหลือก็มาดูว่าพรรคที่ได้คะแนนเต็ม พรรคใดมีเศษที่เหลือมากที่สุด พรรคนั้นก็จะได้ ส.ส.ไปเพิ่ม ถ้าได้เศษเหลือมากกว่า พรรคที่ได้คะแนนเต็มพรรคอื่น เช่น พรรค ก.ได้ 1 คน แล้วมีคะแนนเต็ม 0.6 พรรค ข. ได้ 2 คน แต่มีคะแนนเต็ม 0.8 ดังนั้น พรรค ข. ก็ได้ ส.ส.ไป สรุปคือ จะไม่มีพรรคการเมืองไหนได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเต็ม หรือร้อยละ 1 จึงจะไม่มี ส.ส.ปัดเศษแบบรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะเป็นการคำนวณด้วยการเอา 100 หาร

ไพบูลย์ย้ำว่า การคำนวณคะแนนจะไม่เป็นไปตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.อ้างว่า หากใช้บัตร 2 ใบ และใช้สูตรคำนวณแบบรัฐธรรมนูญ 2560 จะเข้าทางพรรคก้าวไกล นายสมชัยเพียงคิดและเพ้อฝันไปเอง

ส่วนการออกแบบระบบเลือกตั้งเช่นที่เสนอมา จะออกแบบการเมืองแบบไหนนั้น นายไพบูลย์ระบุว่า ไม่รู้ว่าประชาชนจะตัดสินอย่างไร แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือ การเลือกเขต ใครชนะก็ได้ไป การเลือกบัญชีรายชื่อ ถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ใช้เขตทั้งประเทศ เพราะมีอยู่ 100 คน เมื่อพรรคการเมืองไหนได้มาเท่าไหร่ ก็ให้สัมพันธ์โดยตรง คือ การเอา 100 หารคะแนนรวมทั้งประเทศ แล้วถ้าได้คะแนนเต็ม ก็ได้รับการจัดสรรไปก่อน

ขณะที่ข้อกังวลที่ว่า หากใช้ระบบนี้จะทำให้พรรคก้าวไกลหายไปจากการเมืองไทย นายไพบูลย์ระบุว่า “เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะพรรคเขามีมวลชนเยอะแยะ มี ส.ส.เข้ามาได้ แต่จะได้ ส.ส.เท่าไหร่ก็ไม่รู้”

พร้อมกับมั่นใจอย่างหนักแน่นว่า การพิจารณาในวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะคลอดออกมาได้ดูโลกแน่นอน โดยอ้างข้อมูลที่โหวตผ่านในวาระ 1 และวาระ 2 ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่มีวุฒิภาวะ คงจะไม่เปลี่ยนความเห็นไปมา ขัดแย้งกับการโหวตของตัวเอง ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ยกมือเห็นชอบด้วย

ดังนั้น ทั้งหมดก็คงผ่านวาระ 3 ได้

 

สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะต้องยื่นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งเป็นเพียงขั้นตอนทางธุรการ

หากผู้มีอำนาจประเมินแล้วว่า ระบบบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ได้ประโยชน์มากกว่าในการเดินหน้าต่อทางการเมือง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมสะดวกโยธิน