สอท.ชี้ ความเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่งร่วงรอบ 16 เดือน โรงงานวอนรัฐพักต้น-ดอกเบี้ย 1 ปี

วันที่ 8 กันยายน 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2564 ว่า ความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม และค่าดัชนีฯ ยังต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมาจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด และบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือนสิงหาคม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลง

ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตลดลงและการส่งมอบสินค้าล่าช้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก นอกจากนี้ยังกังวลเกี่ยวการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในโรงงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ เอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง นอกจากนี้การส่งออกยังเจอปัญหาอัตราค่าระวางเรือระดับสูง ขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าพบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.9 จากระดับ 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการคาดหวังว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครอบคุลมทุกกลุ่ม จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงเร่งขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

ผลสำรวจถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มีจำนวน 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งพื้นที่กักตัวและศูนย์พักคอยภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจเอทีเค ตามมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล 2. ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 ที่สถานประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด 3. ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมของภาครัฐ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี และ 4.ขอให้ภาครัฐเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าส่งออกของไทย