ของดีมีอยู่ : “ความเป็นมนุษย์” ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด / ปราปต์ บุนปาน

ขอบคุณภาพจาก EPA

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

พิจารณาที่ “ตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการ” เหมือนสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเราจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

(แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่าเป็น “ตัวเลขที่ดีขึ้น” เพราะอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อที่ลดลง และหลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นการนำเสนอ “ตัวเลขที่ดีขึ้น” เพื่อให้สอดรับกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร)

แต่ในแง่ “อารมณ์ความรู้สึก” ของผู้คนแล้ว ดูเหมือนสถานการณ์จะมิได้น่าปลอดโปร่งใจขนาดนั้น

ทั้งจากการดำรงอยู่จริงๆ ของ “ผู้ป่วย” ที่ต้องทยอยล้มหายตายจากไป โดยที่ผู้โชคร้ายเหล่านั้นต่างเป็นคนใกล้ชิด คนรู้จักของใครคนใดคนหนึ่ง และเป็นเพื่อนร่วมสังคม/ประเทศ/ชาติ ของพวกเราทุกคน

ทั้งเพราะวัคซีนที่คล้ายจะ “ไม่เพียงพอ” ไม่ว่าจะประเมินที่เรื่อง “ปริมาณ” หรือ “คุณภาพ”

ทั้งเพราะการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ ที่ปรากฏในพื้นที่ข่าวอยู่เป็นระยะๆ

นี่คือ “ความไม่มั่นคงของมนุษย์” ที่เต็มไปด้วยอารมณ์หดหู่ หมดหวัง และไม่น่าไว้วางใจเอาเสียเลย

 

ความกังวลใจที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไม่อาจคลี่คลายลงได้ด้วยมาตรการ “คลายล็อกดาวน์” ที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ

เป็นการ “คลายล็อกดาวน์” โดยที่การกระจาย “วัคซีนคุณภาพดี” ไปสู่ประชาชนยังทำได้ไม่ทั่วถึง ในสภาพการณ์ที่ยังมีผู้เสียชีวิตเพราะโควิดในหลักร้อยรายและติดเชื้อนับหมื่นรายต่อวัน

ไม่ใช่การ “คลายล็อกดาวน์” อันจะนำไปสู่ภาพคนดูการแข่งขันฟุตบอลกันเต็มสนาม ดังที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

อีกด้านหนึ่ง อาการตื่นตระหนกต่อโรคระบาดที่ยังดำรงอยู่อย่างกว้างขวาง ก็นำไปสู่คำถามสำคัญว่า พวกเราในฐานะ “มนุษย์” จะใช้ชีวิตต่อไปกันอย่างไรในสังคมไทย?

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เหมือนจะผลักไสให้ผู้คนต้องแปลกแยกโดดเดี่ยวจากกัน ต้องระแวดระวังต่อกันถึงขีดสุด

เป็นภาวะที่มนุษย์แต่ละคนติดต่อใกล้ชิดกันไม่ได้ ใช้ชีวิตร่วมสังคมกันไม่ได้ รวมทั้งแสดงความห่วงใย-ปรารถนาดีต่อกันไม่ได้อย่างเต็มที่ เพราะความไม่มั่นใจว่าสักวันหนึ่ง ตนเองและคนใกล้ตัวจะติดเชื้อไวรัสหรือไม่

ถ้าผลักตรรกะให้สุดทาง ก็เหมือนเราทุกคนกำลังหลงวนเวียนอยู่ในโลกแบบ “หนังซอมบี้” แล้วต่างต้องหลบลี้หลีกหนีโควิดกันไปคนละทิศ

 

ชีวิตซึ่งต้องหลบภัยไปเรื่อยๆ แบบ “วัคซีนไม่เต็มแขน” ขณะที่เชื้อไวรัสยังพัฒนาขึ้นโดยต่อเนื่อง

ย่อมเป็นชีวิตอันปราศจากความหวัง เต็มไปด้วยความเศร้าสลด ต้องหนีเชื้อโรคไปวันๆ โดยมิอาจสร้างสรรค์หรือปรารถนาถึงอะไรใหม่ๆ และไร้ศักยภาพในการคาดการณ์ถึงอนาคต

ปัญหาคือ ถ้าพวกเรายังมี “ความเป็นมนุษย์” กันอยู่ เราจะลงมือทำหรือคิดอะไรกันได้บ้างในยุคสมัยปัจจุบัน?

พวกเราจะสามารถประคับประคอง “ความเป็นสังคม” และรักษาเยื่อใย-สัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์รายอื่นๆ ที่ต้อง “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” กับเรา เอาไว้ได้อย่างไร?

และหากมีสิ่งที่ต้องถูกขจัดออกไปจริงๆ เราจะเลือกขจัดอะไรทิ้ง? โดยไม่ต้องไป “ไล่ล่าฆ่าซอมบี้” อย่างบ้าระห่ำจนไม่หลงเหลือ “ความเป็นมนุษย์” ต่อกัน

คำถามเหล่านี้ผลักดันให้พวกเราจำเป็นต้องครุ่นคิดกันใหม่ ว่าสิ่งใดที่อยู่นอกเหนือจากสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ข้างต้น สิ่งใดที่ดำรงอยู่อย่างไม่ชอบธรรมบนความทุกข์-ความสูญเสียของพี่น้องประชาชนกลางวิกฤตโรคระบาด

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่พวกเราจะเริ่มได้พบเห็นรูปธรรมของการครุ่นคิด/การเลือกสรรดังกล่าว ปรากฏขึ้นในข้อเรียกร้องของ “ม็อบอันหลากหลาย” บนท้องถนน

ปรากฏในเนื้อหาการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน

รวมถึงปรากฏในการคิดคำนวณเกมการเมืองของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลบางกลุ่มบางราย