‘พล.ต.อ.อดุลย์’ ปธ.กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ส่งมอบ รพ.สนาม ม.นครพนม แห่งที่ 2 แก่ผู้ว่าฯ รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานวุฒิสภา ในฐานะ สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้ส่งมอบโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยนครพนม แห่งที่ 2 ให้กับจังหวัดนครพนม โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์สมโภชน์ ธีระตระกูลสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา ประสานตรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานราชการและภาคเอกชน เป็นผู้แทนประชาชนชาวนครพนมรับมอบ ณ โรงยิม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เขตพื้นที่มรุกขนคร (เนินสะอาด)

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอก เดือนเมษายน 2564 ของจังหวัดนครพนม พบว่า ก่อนมีมาตรการล็อคดาวน์ มีผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่เพียง 1 คน แต่หลังจากที่มีการล็อคดาวน์ ทำให้แรงงานเดินทางกลับบ้าน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,344 ราย ในขณะที่มีสถานพยาบาลเพียง 30 แห่ง แยกเป็น โรงพยาบาลของรัฐ 12 แห่ง โรงพยาบาลสนาม 6 แห่ง และศูนย์พักคอย 12 แห่ง ซึ่งมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยทั้งหมด 1,279 เตียง ใช้ไปแล้ว 862 เตียง คิดเป็นเกือบ 70% ของจำนวนเตียงที่มี

“ดังนั้นในฐานะ สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และฐานะชาวนครพนม จึงได้ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มหาวิทยาลัยนครพนม ส่วนราชการ ภาคธุรกิจ และประชาชนชาวนครพนม ร่วมกันสร้างโรงพยาบาลสนาม ณ มหาวิทยาลัยนครพนมขึ้น จำนวน 300 เตียง แยกเป็นสำหรับผู้ป่วยสีเขียว 240 เตียง และผู้ป่วย สีเหลือง 60 เตียง โดยมูลนิธิ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว และพันธมิตร ร่วมบริจาคทั้งสิ้น 2,913,200 บาท (สองล้านเก้าแสนหนึ่งหมื่นสามพันสองร้อยบาท) นับเป็นการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ใช้เวลาสร้างเพียง 9 วัน ก่อนได้ส่งมอบให้พี่น้องชาวนครพนม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงทรงตัว ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นในอนาคต มูลนิธิ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว และพันธมิตร จึงได้ร่วมกับ ประชาชนจังหวัดนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) หอการค้าไทย-จีน บิ๊กซี บีเจซี คาราบาวแดง วิริยะประกันภัย สำนักงานฉลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ปตท. จำกัด บริษัท คิง แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด คุณอิงอร แสงสิงแก้ว และครอบครัวแสงสิงแก้ว คุณนฤดี อรัณยกานนท์ และครอบครัวอรัณยกานนท์ คุณศศิวิมล โสภณจิตต์ อดีตผู้บริหารบริษัท การบินไทย คุณภัทิรา กำภู ณ อยุธยา คุณนันทพล พัฒน์พงศ์พานิช นักธุรกิจกลุ่มโชคดี หอการค้านครพนม สมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนม สมาคมไทย-เวียดนาม และ หจก.สง่านครพนม ได้ร่วมกันสร้างโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยนครพนม แห่งที่ 2 เพิ่มอีก จำนวน 230 เตียง และมอบเตียงสนามพร้อมอุปกรณ์สำหรับการเข้ารักษาตัวให้แก่ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม 50 เตียง ซึ่งในครั้งนี้ มูลนิธิ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้วและพันธมิตร ได้บริจาคกมทบอีก 1,563,266 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนหกหมื่นสามพันสองร้อยหกสิบหกบาท) และส่งมอบให้จังหวัดนครพนม ในวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564

ทั้งนี้ ยอดการบริจาครวมขณะนี้ มูลนิธิพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว และพันธมิตร ได้สร้างโรงพยาบาลสนามสำหรับพี่น้องชาวนครพนม รวมทั้งสิ้น 2 แห่ง (รวมจำนวน 580 เตียง) และบริจาคเงินและสิ่งของสมทบในการสร้าง ทั้งสิ้น 4,476,466 บาท (สี่ล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นหกพันสี่ร้อยหกสิบหกบาท) นับเป็นความโชคดีของชาวนครพนม ที่ทุกภาคส่วนต่างร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินภารกิจในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่จะทำให้ชาวนครพนมก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต่อไป