มองบ้านมองเมือง : การเปลี่ยนขาด คณะวิชา / ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

 

การเปลี่ยนขาด คณะวิชา

 

จําได้ว่า เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนที่ได้รับงานออกแบบอาคารเรียนรวมของคณะนิติศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ และอาคารใหม่คณะนิติศาสตร์ ทดแทนอาคารเดิมนั้น

ด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายรวมห้องเรียนทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ สำหรับใช้ร่วมกันหลายคณะ ทำให้พื้นที่อาคารคณะนิติศาสตร์ใหม่ เหลือแค่สำนักงานฝ่ายบริการและจัดการเท่านั้น

คณบดีในเวลานั้น คือ ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ยังได้ฉายภาพอนาคตของการเรียนการสอนทางด้านนิติศาสตร์ ที่มุ่งเน้นให้นิสิตค้นคว้าวิจัยศึกษาด้วยตนเอง อีกทั้งไม่มีการแบ่งคณาจารย์สังกัดภาควิชาหรือสาขาวิชาเหมือนหน่วยงานราชการและคณะอื่นๆ

ทำให้ความต้องการใช้พื้นที่อาคารคณะนิติศาสตร์หลังใหม่ ต่างไปจากอาคารอื่น คณะอื่นอย่างมาก

 

เริ่มจากศูนย์กฎหมาย ที่มีพื้นที่กว้างขวาง เพราะมีทั้งห้องสมุดแบบโบราณ สำหรับอ่านหนังสือแบบเดิม และมีที่เก็บหนังสือเป็นเล่ม แต่จะเพิ่มพื้นที่ค้นคว้าหาข้อมูลที่สืบค้นจากแหล่งอื่นภายนอกมหาวิทยาลัย ผ่านระบบออปติกไฟเบอร์ รวมทั้งมีสวนสีเขียวร่มรื่นไว้พักสมอง

บรรยากาศจะต้องไม่เงียบสงบ สงัด วังเวง เข้มงวดแบบเดิม เพราะผู้ใช้สามารถนั่งพักผ่อนพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ดื่มน้ำ กินขนม ออกไปเดินเล่น ชมนกชมไม้ได้ตลอดเวลา

เช่นเดียวกับห้องพักอาจารย์ ก็ไม่ให้แยกห้องเล็กๆ เรียงรายไปตามทางเดินแคบๆ มืดๆ แบบเดิม หากเปลี่ยนเป็นศูนย์กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายทางทะเล กฎหมายธุรกิจและหลักทรัพย์ เป็นต้น

ในแต่ละศูนย์ จะมีที่ทำงานของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายในเรื่องนั้น มีเจ้าหน้าที่ธุรการ นักวิจัย นักวิชาการ อาจารย์พิเศษ และนิสิตระดับต่างๆ ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ซึ่งจำนวนจะมากน้อยแล้วแต่เรื่อง

รวมทั้งมีโต๊ะประชุมเล็กๆ เพื่อใช้สนทนาแลกเปลี่ยน ระดมความรู้ และพื้นที่สำหรับนิสิตช่วยวิจัยนั่งทำงาน จัดกิจกรรมต่างๆ

 

จําได้ว่า เมื่อครั้งที่อาคารคณะนิติศาสตร์ก่อสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบมากมาย ด้วยความแปลกต่างไปจากอาคารคณะอื่นๆ และด้วยความแปลกต่างไปจากวิถีเดิม

จนเมื่อเวลาที่ผ่านมากว่ายี่สิบปี สถานการณ์ดีขึ้น เพราะเรื่องแปลกต่างกลายเป็นความคุ้นเคยไปแล้ว

จนเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสมงกุฎ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศห้ามนิสิตอาจารย์เข้ามหาวิทยาลัย จึงเกิดบรรยากาศของห้องเรียนไร้นิสิต ห้องทำงานไร้อาจารย์ และมีคำถามถึงวิธีการเรียนการสอนและการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่

แต่สำหรับคณะนิติศาสตร์ ที่ไม่มีห้องเรียน ไม่มีห้องทำงานอาจารย์ การเรียนการสอน ยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพราะอาคารคณะนิติศาสตร์ ที่สร้างเมื่อยี่สิบปีก่อน มีสภาพรองรับการเปลี่ยนขาดครั้งนี้

และน่าจะเป็นต้นแบบของอาคารในมหาวิทยาลัยต่อไป