เหตุไฉนเราจึงนิยมชาติ/มิตรสหายเล่มหนึ่ นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

เหตุไฉนเราจึงนิยมชาติ

 

พอเริ่มประสีประสาจำความได้ก็รู้ตัวแล้วว่าอยู่ในชาติไทย เติบโตขึ้นเดินทางไปต่างแดน เวลาถูกถามว่าเป็นคนที่ไหน ก็ตอบว่าคนไทย แถมยังมั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่าชาติไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

ซึ่งจะว่าไปความชาตินิยมนี้คงเป็นกันหลายชาติ มิใช่เฉพาะพี่น้องชาวไทยเพียงชาติเดียว

พอโตขึ้นเรื่อยๆ จนผมหงอกแยงศีรษะก็เริ่มสงสัยว่าในโลกนี้มี ‘ชาติ’ ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน

จึงหยิบหนังสือ When is a nation? ของ สนพ. Illuminations Editions ขึ้นอ่าน เพียงบทนำโดยธเนศ วงศ์ยานนาวา ก็ได้คำตอบที่ครอบคลุมมิใช่น้อย

อาจารย์ธเนศย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น คำว่า ชาติ/ชาตะ (jati) ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าการนำออกมาให้ดำรงอยู่โดยแสดงผ่านการเกิด ในทางสังคมชาติแสดงสถานะทางวรรณะที่มาจากการเกิด ชาติจึงเกี่ยวโยงกับต้นกำเนิด

ส่วน ‘nation’ มีรากศัพท์ที่มีความหมายที่แสดงการเกิด ในศตวรรษที่ 12 แสดงถึงตำแหน่ง ญาติ แผ่นดิน บ้านเกิดเมืองนอน โดยรากละตินคือ ‘natio’ หมายถึงการเกิด จุดเริ่มต้น สายพันธุ์ เชื้อชาติของกลุ่มคน ชนเผ่า แปลว่าในสังคมโบราณนั้น nation เกี่ยวพันกับเชื้อชาติ

คราวนี้ถ้าลองจินตนาการถึงยุคโบราณซึ่งมีผู้คนต่างเชื้อชาติต่างถิ่นกำเนิดกระจัดกระจายปะปนไปมาหาสู่กัน พวกเขามารวมกันเป็น ‘ชาติ’ ได้อย่างไร

Ernest Renan (ค.ศ.1823-1892) เห็นว่าการจำและการลืมเป็นกลไกสำคัญของการเข้ามาอยู่ใน ‘nation’ แม้จำหน้ากันไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกัน แต่ก็มี ‘ความทรงจำร่วมกัน’ ที่ถูกสร้างขึ้นให้ทุกคนได้จดจำร่วมกันจนทึกทักได้ว่าเราเป็นพี่น้องร่วมชาติกัน

 

ตัดภาพมาที่ยุคสมัยใหม่ ‘nation’ นั้นเชื่อมโยงกับ ‘state’ ด้วย เกิดเป็น ‘รัฐ-ชาติ’ ขึ้นมา

รากศัพท์ของ ‘state’ นั้นน่าสนใจ

คำว่า ‘status’ แสดงถึงสถานะของมนุษย์ที่มีระดับ ‘sta’ หมายถึงมีตำแหน่งที่ยืนมั่นคง ซึ่งเกี่ยวโยงกับภาษาฝรั่งเศสโบราณ ‘estat’ ที่เป็นรากศัพท์ของ ‘estate’ ซึ่งแสดงตำแหน่งโดยเฉพาะอภิสิทธิ์ชน อาจารย์ธเนศชี้ให้เห็นว่า ‘state’ ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นคนชนชั้นต่ำหรือ ‘people’ ซึ่งหมายถึงฝูงชนคนธรรมดา ความแตกต่างระหว่าง ‘people’ กับ ‘state’ จึงเป็นความแตกต่างทางชนชั้น

‘รัฐ-ชาติ’ พยายามทำให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในความทรงจำเดียวกันเพื่อทำให้ทุกคนทึกทักไปเองว่าเป็นญาติกัน มาจากเหง้าเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน ดังนั้น ความแตกต่างทางชนชั้นหรืออื่นๆ ย่อมสูญสิ้นไป จะ ‘ชาตะ’ แบบไหนก็ไม่สำคัญเมื่ออยู่ภายใต้ ‘รัฐ-ชาติ’ เดียวกัน

แล้วความสูงต่ำของผู้คนจะถูกลบความแตกต่างไปได้อย่างไร ก็ใช้การสถาปนาความเท่าเทียมกันทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือ เพราะจะทำให้ทุกคนมีเงินเท่ากันฐานะเท่ากันนั้นยาก อย่างน้อย ‘คนเท่ากัน’ ในทางกฎหมายไปก่อนแล้วกัน (ซึ่งขนาดสิทธิในการเลือกตั้งที่เท่าเทียมกันของคนทุกกลุ่มก็ยังใช้เวลายาวนาน)

เมื่อในความเป็นจริงยังมีชนชั้นที่แตกต่างกันในสังคมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำลายความทรงจำและวัฒนธรรมดั้งเดิมไปแล้ว ‘สร้าง’ ความทรงจำใหม่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เชื่อแบบเดียวกัน คิดแบบเดียวกัน ให้คุณค่ากับสิ่งเดียวกัน

กระบวนการ ‘สร้างชาติ’ จึงนำเอาฝูงชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ เช่น เกณฑ์ทหาร การศึกษาภาคบังคับ การรับข่าวสารผ่านกลไกลรัฐซึ่งมีสามารถทำการโฆษณา (propaganda) สารจากชนชั้นนำสู่ชนชั้นล่างๆ ได้

 

‘ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน’ เป็นเรื่องสำคัญของ ‘ชาติ’

รัฐประชาชาติจึงเน้นการมีชาติพันธุ์เดียว กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงถูกรวมเข้าไปกับ ‘state’ ที่อาจถูกควบคุมโดยชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง และทำลายสำนึกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้เหลือเพียงแค่ความเป็นชาติพันธุ์เดียว

ความแตกต่างหลากหลายถูกทำให้กลายเป็น ‘มาตรฐาน’ เดียวกัน ทั้งภาษา เครื่องแต่งกาย แบบเรียน ไปจนถึงประวัติศาสตร์

เพราะถ้ารัฐบาลยอมให้กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยกำหนดชีวิตตนเองก็อาจนำไปสู่การแยกดินแดน

รัฐ-ชาติจึงเลือกวิธี ‘กลืน’ ผู้คนที่แตกต่างให้เป็นเนื้อเดียว นั่นหมายถึงต้องทำลายสำนึกทางวัฒนธรรมของกลุ่มต่างๆ ก่อนจะทำให้เกิดสำนึกทางการเมืองแบบใหม่

การสร้างชาติจึงเป็นกระบวนการจากบนลงล่าง ชนชั้นที่สูงกว่าทำลายวัฒนธรรมของชนชั้นล่างกว่าเพื่อ ‘บูรณาการ’ สลายความแตกต่างให้กลายมาเป็นพวกเดียวกันภายใต้พื้นที่ที่มีขอบเขตชัดเจนของรัฐ

ตามคำอธิบายของอาจารย์ธเนศ เราจะเห็นว่า ‘ชาติ’ นั้นถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งโดยละเลยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทำให้นำไปสู่ความเป็นชาตินิยมได้

 

Ernest Gellner (ค.ศ.1925-1995) เห็นว่าชาตินิยมนั้นเป็นผลผลิตของสภาวะสมัยใหม่ เป็นผลพวงของสังคมอุตสาหกรรมที่สร้างความเป็นเอกพันธุ์ทางวัฒธรรมหรือวัฒนธรรมแท้ๆ หนึ่งเดียว

ประวัติศาสตร์และตำนานของชาติกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความทรงจำร่วมกันของคนในชาติที่ถูกกลืนกลายเป็นหนึ่งเดียวผ่านการศึกษาภาคบังคับและกลไกลอื่นๆ ของรัฐ ฉะนั้น ตำราเรียนจึงต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน เรามีประวัติศาสตร์แบบเดียวกันเพราะเรียนตำราเล่มเดียวกัน

การควบคุมผู้คนในชาติจึงมิได้กระทำผ่านกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่กำกับด้วยความรู้สึกที่มีต่อดินแดนซึ่งผู้คนมีความทรงจำร่วมกันด้วย เมื่อประชาชนผ่านกระบวนการนี้ยาวนานพอก็จะกลายเป็น ‘พี่น้องร่วมชาติ’ ผู้รักชาติ อันนำไปสู่ความรู้สึกแบบ ‘ชาตินิยม’ ในที่สุด

ซึ่งการส่งต่อ ‘มาตรฐาน’ แบบเดียวกันเช่นนี้ไปสู่ผู้คนในวงกว้างจะกระทำได้ต่อเมื่อมีสังคมอุตสาหกรรม พึ่งพาสื่อสารสมัยใหม่ที่กระจาย ‘มาตรฐาน’ และ ‘ความทรงจำร่วม’ สู่ mass ได้อย่างกว้างขวางรวดเร็ว

 

อีกมุมที่น่าสนใจในบทนำของอาจารย์ธเนศคือมุมมองเรื่อง ‘ชาตินิยมในฐานะศาสนา’ โดยชี้ให้เห็นว่า ชาติเปรียบประหนึ่งศาสนาที่ต้องการศรัทธาและสามารถสละชีพตนเองเพื่อแสดงความศรัทธา เพราะรัฐได้กลายมาเป็นสิ่งสูงสุดแทนศาสนา ดังเช่นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสพระคาทอลิกไม่สามารถประกอบพิธีกรรมได้ถ้าไม่ได้สาบานว่าจะเป็นพันธมิตรอยู่เคียงข้างรัฐธรรมนูญ

ถัดจากยุคศาสนา มวลชนจึงหันมาเทิดทูนบูชาและศรัทธาในรัฐ โดยเชื่อว่ารัฐสามารถมอบชีวิตที่ดีและความสุขให้ผู้คนได้

Carlton J. H. Hayes เห็นว่าชาตินิยมเป็นผลผลิตของผู้คนที่อยู่ในจารีตของศาสนาคริสต์ สถานะของรัฐประชาชาติก็เหมือนกับศาสนจักรของศาสนาคริสต์ยุคกลาง ต่างก็แค่คราวนี้มันไม่ได้อยู่แต่ในยุโรป ทว่า ‘ชาตินิยม’ กลายมาเป็น ‘ศาสนาใหม่’ ของมวลมนุษยชาติ

เมื่อศรัทธาในชาติมากๆ (จากเรื่องเล่าอันทรงพลัง) ก็พึ่งพาชาติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งยิ่งใหญ่ รักและปกป้อง กระทั่งยอมพลีชีพเพื่อชาติได้

อาจารย์ธเนศยังชี้ให้เห็นอีกว่า รากฐานของความเป็น ‘nation’ ในแง่ความเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชน ภาษา ศาสนา เขตแดน และการปกครอง ปรากฏอยู่ในต้นแบบดั้งเดิมก็คือ ‘อิสราเอล’ ของพระคัมภีร์ไบเบิล อันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ‘the Chosen’ จากต้นแบบของยิวก็นำมาสู่คริสต์ จากคริสต์ก็นำมาสู่วิถีแห่งชาติและชาตินิยม

ซึ่ง…แต่ละชาติก็ล้วนมองว่าตัวเองเป็น ‘ของแท้’ ด้วยกันทั้งนั้น

 

ประเด็นสุดท้าย, ชาติเป็นเรื่องของความรู้สึก

Walker Connor เห็นว่า “สารัตถะของชาติเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ มันเป็นเรื่องทางจิตวิทยา เป็นเรื่องของทัศนะมากกว่าความจริง”

ถ้าจ่อไมค์ถามผู้คนว่าชาติคืออะไร

อาจไม่ได้คำตอบที่เป็นรูปธรรมอย่างอาณาเขต พื้นที่ ดินแดน รูปร่างหน้าตาผู้คน ฯลฯ

ทว่าน่าจะได้คำตอบในเชิงนามธรรมมากกว่า เพราะผู้คนทั่วไปรับรู้ชาติจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังมาโดยตลอด

เรื่องเล่าเหล่านี้ล้วนบ่มเพาะ ‘อารมณ์’ ที่เกิดขึ้นเมื่อรับรู้ความทรงจำของ ‘ชาติของเรา’ เช่น ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับวีรบุรุษวีรสตรี การสู้รบเอาชนะข้าศึกศัตรูได้ การกู้ชาติบ้านเมือง เมื่อรับรู้เรื่องเหล่านี้อย่างเร้าอารมณ์ยิ่งทำให้ความทรงจำยากที่จะเลือนหายไป นึกถึงชาติครั้งใดใจก็ฮึกเหิม

 

ชาติจึงเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก

เมื่ออ่านบทนำของหนังสือเล่มนี้จบลงก็ชวนให้หันไปมอง ‘ชาติ’ อันเป็นที่รักด้วยแว่นใหม่ว่า ชาติในนิยามที่เรายึดถือได้กลืนกลายชาติพันธุ์ที่หลากหลายเป็นเนื้อเดียวของตัวเองไปมากน้อยแค่ไหน

ลิดรอนสิทธิทำลายวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนน้อยกว่าด้วยวิธีการแบบใดบ้าง

มีวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ใดได้รับผลกระทบหรือถูกด้อยค่าบ้างหรือเปล่า

ความเท่าเทียมในทางกฎหมายหรือสิทธิในการเลือกตั้งบ่งบอกว่าผู้คนในชาตินั้น ‘เท่าเทียม’ กันจริงๆ ไหม

หากมองถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ด้วย และความทรงจำร่วมกันของเราถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร โดยใคร ผ่านกระบวนการอะไร นำมาซึ่งความรู้สึกแบบไหน

เหตุใดบางคนจึงยินดีสละชีพเพื่อชาติ?

เขาทำสิ่งนั้นด้วยความเชื่อความศรัทธาชนิดใด

แล้วเหตุใดเราจึงรักชาติของเรามากเสียจนรู้สึกเกลียดชังชาติอื่นหรือเพื่อนมนุษย์ที่แตกต่าง พวกเขาแตกต่างจากเราในแง่มุมไหน แล้วเพื่อนร่วมชาติเหมือนกับเราในแง่มุมไหน

ถ้าไม่เพียงนิยม ‘ชาติ’ เราสามารถนิยมอะไรได้อีก?

ถ้านิยม ‘มนุษยชาติ’ วิธีคิดและวิธีปฏิบัติของเราจะเปลี่ยนไปจากเดิมไหม

ถ้านิยม ‘ธรรมชาติ’ เราจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่มนุษย์กระทำ

แล้วตกลง เราควรนิยมอะไรดี?

หมายเหตุ : สามารถอ่านบทความอื่นๆ เรื่อง ‘เมื่อใดจึงเป็นชาติ’ ได้ในหนังสือ ‘When is a nation?’ ของ สนพ. Illuminations Editions