‘วัคซีนผลิตเอง’ แผนสำรองสู่ทางรอดโควิด-19 ของ ‘เอเชีย’/บทความต่างประเทศ

Boxes of the domestically developed Medigen Vaccine Biologics Corp's coronavirus disease (COVID-19) vaccine are seen at a vaccination site in Taipei, Taiwan August 23, 2021. REUTERS/Annabelle Chih

บทความต่างประเทศ

 

‘วัคซีนผลิตเอง’

แผนสำรองสู่ทางรอดโควิด-19 ของ ‘เอเชีย’

หลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา หลายประเทศในเอเชียได้รับเสียงชื่นชมในการบริการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม หรือแม้แต่ไต้หวัน

แต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่รุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อทะยานสูงขึ้น รัฐบาลแต่ละประเทศไม่ได้มีมาตรการรับมือที่ดีพอ และไม่สามารถจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ความต้องการวัคซีนทั่วโลกส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานติดขัด เกิดปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการในหลายประเทศ

นั่นจึงส่งผลให้หลายประเทศในเอเชียหันมาพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพาวัคซีนนำเข้าที่อาจมีอยู่อย่างจำกัดและอาจต้องใช้งบประมาณมหาศาลต่อไปในอนาคต

 

ปัจจุบันมีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลองเชิงคลินิกทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้น 112 ชนิด ในจำนวนนี้ มีวัคซีนอย่างน้อย 16 ชนิดที่เป็นวัคซีนจากประเทศในเอเชียที่ยังไม่มีวัคซีนของตัวเองได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินในเวลานี้

ไทยเองก็เป็นหนึ่งในชาติเอเชียที่เริ่มต้นพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยมีวัคซีนอยู่ 2 ชนิดที่มีการพัฒนาคืบหน้าไปมาก หนึ่ง คือวัคซีน “NDV-HXP-S” พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวัคซีนเชื้อตาย แบบเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อยู่ระหว่างการทดลองเชิงคลินิกระยะที่ 2

วัคซีนอีกชนิดไทยพัฒนาอยู่ก็คือ วัคซีน “ChulaCov19” วัคซีนที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวัคซีนชนิด mRNA แบบเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ของสหรัฐอเมริกา

โดยเริ่มมีการทดลองในอาสาสมัครจำนวน 72 คนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ให้ผลเป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว

 

เวียดนาม ชาติที่ทั่วโลกยกให้เป็นตัวอย่างของการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรก แต่ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเริ่มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนยอดผู้ติดเชื้อรายวันทะลุหมื่นรายไปแล้ว สวนทางกับยอดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศที่มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ จากประชากรเกือบ 100 ล้านคน

นั่นทำให้เวียดนามถึงกับต้องประกาศรับบริจาคเงินจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และระดมทุนได้ถึง 512 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินจากภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจต่างชาติ ที่ต้องจ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากฐานการผลิตในเวียดนาม

ล่าสุดเวียดนามประกาศเจียดงบประมาณส่วนนี้ออกมา 387,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำมาพัฒนาวัคซีนที่ผลิตในประเทศ 2 ชนิด หนึ่งคือ “Covivac” วัคซีนที่พัฒนาโดยสถาบันวัคซีนและชีวการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วัคซีนเทคโนโลยีแบบไวรัลเว็กเตอร์ แบบเดียวกับแอสตร้าเซนเนก้า ที่เวลานี้อยู่ระหว่างการทดลองในระยะที่ 2

ขณะที่วัคซีนอีกชนิดก็คือ วัคซีน “Nanocovax” วัคซีนเทคโนโลยี “โปรตีนซับยูนิต” แบบเดียวกับวัคซีน “โนวาแวกซ์” ของสหรัฐอเมริกา พัฒนาโดยบริษัท Nanogen Pharmaceutical Biotechnology ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์ทหารเวียดนาม ที่เข้าสู่การทดลองเชิงคลินิกในระยะที่ 3 แล้ว

 

ไต้หวันเป็นอีกชาติที่ประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน ล่าสุดมีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วราว 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขไต้หวันอนุมัติให้นำวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศโดยบริษัท Medigen Vaccine Biologics Corporation หรือ MVC ฉีดให้กับประชาชนทั่วไปได้แล้ว

โดยประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน รับการฉีดเป็นคนแรกของประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนแล้ว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา

วัคซีน MVC ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการทดลองเชิงคลินิกในระยะที่ 3 ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาไต้หวันให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินได้แล้ว โดยมีประชาชนลงทะเบียนแล้วมากกว่า 600,000 คน

ด้านอินเดีย มหาอำนาจเอเชียกลางเองก็มีวัคซีน “Covaxin” วัคซีนผลิตเองที่ผลิตโดยบริษัท Bharat Biotech International ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาในประเทศให้ใช้กับประชาชนในกรณีฉุกเฉินไปแล้วเมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา

เกาหลีใต้เองแม้จะเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดหลักๆ ของโลกถึง 4 ชนิด ก็ให้ความสำคัญกับการผลิตวัคซีนได้เองในประเทศเช่นกัน

โดยปัจจุบันมีวัคซีนอยู่ระหว่างการทดลองเชิงคลินิกในระยะที่ 2 อยู่ 3 ชนิด อย่าง “GBP510” วัคซีนเทคโนโลยีโปรตีน ซับยูนิต พัฒนาโดยบริษัท SK BioScience and Coalition for Epidemic Preparedness Innovations และวัคซีนเทคโนโลยีดีเอ็นเอ อีก 2 ชนิดอย่าง “GX-19N” พัฒนาโดยกลุ่มจดทะเบียนร่วมค้า Genexine และวัคซีน “GLS-5310” พัฒนาโดย GeneOne Life Science นั่นเอง

ไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่น ประเทศที่มีการนำเข้าวัคซีนจำนวนมาก และประชาชนฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้วถึง 41 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีอย่างน้อย 4 บริษัทในประเทศที่กำลังพัฒนาวัคซีนของตัวเอง และอยู่ระหว่างการทดลองเชิงคลินิกในหลายระยะด้วยเช่นกัน

ารแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนในหลายๆ ประเทศ แม้จะเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีน แต่ก็มีข้อกังวลอยู่ด้วยเช่นกันทั้งเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน เพราะล้วนแล้วแต่เป็นการเร่งพัฒนาเร่งทดลองเชิงคลินิกในระยะเวลาอันสั้น และที่น่าห่วงก็คือความเร่งด่วนเหล่านั้น บางส่วนกลับมีเหตุผลด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ยิ่งกว่านั้นวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศหลายๆ ตัวกว่าจะได้รับการรับรองความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ได้นำออกใช้จริงเวลาอาจล่วงเลยไปในช่วงเวลาที่วัคซีนคุณภาพสูงที่ได้รับความเชื่อถือระดับโลกมีผลิตออกมาอย่างเพียงพอและซื้อหาได้ง่ายดายแล้วก็ได้

อย่างไรก็ตาม การมีวัคซีนเป็นแผนสำรองเหล่านี้ก็เป็นความหวังให้กับประชาชนหลายๆ ประเทศ ที่ยังคงรอวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ดีกว่าที่จะต้องทนรอรับความเสี่ยงแบบมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

และหากวันหนึ่งที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะต้องฉีดกระตุ้นทุกๆ ปีเหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้ว การมีวัคซีนที่ผลิตในประเทศให้เลือกยอมเป็นผลดี

และอาจจะคุ้มค่ามากกว่าการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศก็เป็นได้