วิรัตน์ แสงทองคำ : กทม.กับปัญหาสาธารณสุข

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
ภาพ : เฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท

วิรัตน์ แสงทองคำ / viratts.WordPress.com

 

กทม.กับปัญหาสาธารณสุข

 

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ปรากฏการณ์ชี้ชัด ปัญหาใหญ่ระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะใน กทม.และปริมณฑล

เรื่องราว “ทีมแพทย์ชนบทปฏิบัติการบุกกรุงเทพมหานคร” ทีมขนาดเล็ก ทำงานข้ามพื้นที่ ข้ามกรอบระบบและช่วงเวลาปกติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ส่งเสียงสั่นสะเทือน และสะท้อนปัญหาใหญ่ใน กทม. เข้าถึงความเป็นไปที่เป็นจริงของเมืองหลวง ให้ภาพชุมชนอันหลากหลายใน กทม. อย่างที่หลายคนอยู่ใกล้แต่เข้าไม่ถึง

กทม.มีมากกว่าแคมป์คนงาน ได้กล่าวถึงความครึกโครมในฐานะคลัสเตอร์สำคัญ จุดปะทุปะทะแพร่ขยายเชื้อโรค อย่างที่ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุไว้ (9 มิถุนายน 2564) ว่า เฉพาะพื้นที่ กทม.มีแคมป์คนงานก่อสร้างถึง 409 แห่ง มีจำนวนแรงงานประมาณ 62,000 คน เป็นที่เข้าใจกันว่า ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ

ว่าไปแล้วสถิติแรงงานข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ภาพใหม่ กทม.ยุคปัจจุบัน

 

เคยนำเสนอไว้ (เรื่อง “เมืองหลวง หัวเมืองและชนบท” มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564) อ้างอิงตัวเลขทางการ (ฝ่ายสารสนเทศ กลุ่มงานพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน) รายงานว่ามีผู้ใช้แรงงานต่างชาติใน กทม.เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (คาดกันว่าตัวเลขจริงมากกว่านี้) จากระดับ 1 แสนคน (ปี 2555) เป็นเกือบๆ 7 แสนคน (ปี 2563)

แม้ว่าในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 มาเยือน จำนวนได้ลดลงบ้าง แต่ไม่มาก มาอยู่ในระดับ 5 แสนคน (พฤษภาคม 2564) เมื่อรวมกับปริมณฑลด้วยแล้ว จำนวนสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านคน (2563) และปัจจุบันคงอยู่เกือบๆ 1.2 ล้านคน (พฤษภาคม 2564) ถือเป็นตัวเลขที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดทั่วประเทศ

ภาพอีกมิติที่ว่า ที่เป็นอยู่มานานเป็นฐานของ กทม. ประกอบด้วยโครงสร้างชุมชนหลากหลายรูปแบบกว่าที่คิด เป็นบุคลิกเมืองใหญ่ ซึ่งเติบโตอย่างไม่สมดุล ขยายช่องว่าง ขยายความเหลื่อมล้ำ ดังภาพตอกย้ำ ที่เล่าเรื่องโดย “ทีมแพทย์ชนบทปฏิบัติการบุกกรุงเทพมหานคร” (ผ่าน FB ชมรมแพทย์ชนบท) ความเป็นไป เป็นความจริงซึ่งหลายคนยอมรับอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก (โปรดพิจารณาข้อมูล “ชุมชนในกรุงเทพมหานคร”) จากข้อมูลการสำรวจของ กทม.เอง ระบุว่า ชุมชนลักษณะเฉพาะอยู่ในพื้นที่ประมาณ 211,194.77 ไร่ หรือประมาณ 338 ตารางกิโลเมตร ถือมีสัดส่วนประมาณ 20% ของพื้นที่ใน กทม.ทั้งหมด โดยมีประชากรในชุมชนดังกล่าว รวมกัน 2,008,852 คน (จากประชากรในทะเบียนราษฎรทั้งหมด 5.6 ล้านคนในปี 2560)

ขณะภาพในจินตนาการทั่วไป กทม.ในฐานะศูนย์กลางของอำนาจรัฐ รวมทั้งเป็นที่ตั้งที่อยู่ ผู้กุมอำนาจ และองค์กรบริหารระบบสาธารณสุขด้วย หากไม่มีวิกฤต คงไม่มีใครสนใจ กทม.ในฐานะจุดศูนย์รวมหลายๆ สิ่งที่มากเกิน เมื่อเทียบเคียงกับประสิทธิภาพในระบบบริหารและปฏิบัติการ

ภาพโฟกัส เชิงขยาย ต่อจากตอนที่แล้ว (เรื่อง “ระบบสาธารณสุขไทย” มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 6 สิงหาคม 2564) จากนี้ ตอกย้ำเช่นนั้นอย่างหนักแน่น

 

ได้อ้างอิงไว้ในตอนที่แล้ว ว่าด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสถิติแพทย์ทั้งระบบ (ข้อมูลจากแพทยสภา) มีอยู่ราวๆ 60,000 คน ปรากฏว่าสัดส่วนระหว่าง กทม.กับต่างจังหวัด เป็นไปอย่างไม่สมดุล เฉพาะในพื้นที่ กทม.มีจำนวนมากเป็นสัดส่วนถึง 47% และเป็นไปได้มากว่า หากรวมกับปริมณฑล จะมีจำนวนถึงครึ่งของทั้งหมด

เมื่อเทียบเคียงกับพัฒนาการโรงเรียนแพทย์ พบว่าสถาบันเก่าแก่และมีชื่อเสียงล้วนตั้งอยู่ที่นี่ ทั้งสามารถผลิตแพทย์ได้ในสัดส่วนมากถึง 70% ของทั้งหมดเลยก็ว่าได้ แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงปริมาณแพทย์ที่มากที่สุด กระจุกอยู่ใน กทม.และปริมณฑลเท่านั้น หากรวมคุณภาพที่มากล้น เต็มไปด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา อาจารย์แพทย์ผู้คร่ำหวอดภายใต้ระบบถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆ เชื่อมกันในระดับโลก รวมทั้งเป็นที่ที่มีความสามารถจัดหาเวชภัณฑ์และเครื่องมืออันครบครัน ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย

อีกบางมิติ ในทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ระบบสาธารณสุขไทยได้ยกระดับขึ้นอีกขั้น เมื่อมองผ่านพัฒนาการโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งกระจุกตัวใน กทม.และปริมณฑลเช่นกัน มีเกือบ 200 แห่ง (จากทั้งหมดเกือบ 400 แห่ง)

แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยาน สร้างบริการครบวงจร ตอบสนองกลุ่มลูกค้าระดับบนทั้งภูมิภาค

เครือข่ายใหญ่โรงพยาบาลเอกชนไทยบางแห่ง ถึงขั้นประกาศแผนการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยเชื่อว่าโอกาสมาพร้อมการเปิดเสรีอาเซียนเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

และบางแห่งที่ว่ามีการลงทุนสร้างเครือข่ายในต่างประเทศไปแล้วด้วย

 

อันที่จริงมีความเป็นไปได้เช่นนั้น โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำมีฐานลูกค้าต่างชาติหลายแสนคนตั้งแต่เมื่อทศวรรษที่แล้ว กรณีโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือว่ามีฐานลูกค้าต่างชาติมากที่สุด เคยรายงานไว้ในปี 2554 มีคนมาใช้บริการทั้งปีประมาณ 1 ล้านคน โดยประมาณ 40% เป็นคนต่างชาติ

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงบรรดาแพทย์ซึ่งเป็นผลิตผลจากโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียง ได้แสดงบทบาทกว้างขวางกว่าที่คิดแต่ไหนแต่ไรมา ทุกตำแหน่งสำคัญในเชิงบริหารระบบสาธารณสุข ในระบบราชการล้วนเป็นแพทย์ทั้งสิ้น อีกหลายๆ คนมีบทบาทในแวดวงอื่นๆ ทั้งในทางการเมือง ในคณะกรรมการกำกับนโยบายสำคัญของรัฐ ของระบบสาธารณสุขด้วย

นอกจากนี้ ได้รับการยอมรับในวงกว้างในสังคมธุรกิจ ไม่เพียงแค่ธุรกิจการแพทย์ซึ่งเติบโตเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ทรงพลัง ภายใต้ทรัพยากรซึ่งถูกแบ่งปันอย่างไม่สมดุล หากรวมทั้งเป็นกรรมการในเครือข่ายบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยหลายแห่ง

แพทย์อาวุโสที่ว่า คือทีมเล็กๆ ผลัดรุ่น มีบทบาทกำกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบสาธารณสุขไทยที่เป็นมาและเป็นไป และยังคงมีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจการบริหารเพื่อเผชิญหน้าวิกฤตการณ์ COVID-19 ด้วย

แพทย์อาวุโสทีมเล็กๆ นั้น มีส่วนรับผิดชอบอย่างเลี่ยงไม่พ้น กับโครงสร้างที่เป็นมาและเป็นไปกับวิกฤตครั้งสำคัญ กำลังผสมโรงเป็นปัญหาใหญ่

———————————-

ที่มา : สถิติข้อมูลชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2561 กองนโยบายและแผนงาน สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

หมายเหตุ : ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ.2555 ได้จำแนกประเภทชุมชนออกเป็น 6 ประเภท

1) “ชุมชนแออัด” — ชุมชนที่มีลักษณะบ้านเรือนหนาแน่น ประชากรอยู่อย่างแออัด

2) “ชุมชนเมือง” — ชุมชนที่มีลักษณะของบ้านเรือนอยู่รวมกันค่อนข้างหนาแน่น แต่ไม่แออัด มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการคมนาคมสะดวก

3) “ชุมชนชานเมือง” — ชุมชนที่มีพื้นที่ด้านเกษตรกรรม มีบ้านเรือนไม่แออัด

4) “เคหะชุมชน” — ชุมชนที่เคยอยู่ในความดูแลของการเคหะของชาติ รวมทั้งชุมชนที่การเคหะแห่งชาติยังคงดูแลอยู่ แต่ได้ให้ความยินยอมในการจัดตั้งเป็นชุมชนได้

5) “ชุมชนอาคารสูง” — ชุมชนที่มีสภาพเป็นแฟลต ดอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หรืออาคารอย่างอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน ยกเว้นแฟลตของการเคหะแห่งชาติที่เป็นนิติบุคคล

6) “ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร” — ชุมชนที่มีการจัดสร้างขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ยกเว้นที่เป็นนิติบุคคล