วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (38)/วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (38)

 

สงครามความคิด

ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

สงครามความคิดเกิดมีขนาดใหญ่ขึ้นในยุคอุตสาหกรรม ที่มีการผลิตสินค้าและข่าวสารปริมาณมาก

คู่ขัดแย้งพื้นฐานได้แก่ ความคิดแบบทุนนิยมกับแบบสังคมนิยม

พร้อมกันนั้นก็มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ด้านสิทธิสตรี สิทธิคนงาน สิทธิชนชาติส่วนน้อย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การผลิตสินค้าและข่าวสารปริมาณมาก ยิ่งทวีความเข้มข้นจนเกิดยุคข่าวสารขึ้น การต่อสู้ทางความคิดยิ่งดุเดือดขยายไปสู่การต่อต้านสงคราม อาวุธนิวเคลียร์ และศูนย์อำนาจเดิม

ผู้แสดงในสงครามความคิดได้ขยายตัวจากเดิมที่จำกัดอยู่ภายในหรือระหว่างรัฐ มาสู่องค์กรต่ำกว่ารัฐ ได้แก่ องค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรประชาชน เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวที่อายุน้อยลงไปทุกที ไปจนถึงกลุ่มใต้ดินและองค์การก่อการร้ายสากลประกอบกันเป็นเครือข่ายสงครามความคิดที่ซับซ้อน

แต่ผู้แสดงหลักยังคงเป็นภาครัฐและธุรกิจเอกชนใหญ่ ตามลักษณะของสังคมยุคอุตสาหกรรม

สงครามความคิดด้านการเปลี่ยนภูมิอากาศทวีความเข้มข้นตามความรุนแรงของสภาพการมีการนำเสนอแนวคิดใหม่ถี่ขึ้น ความคิดเหล่านี้จะต่อสู้กัน สร้างเป็นอารมณ์ความรู้สึกทางสังคม และชี้นำทางความคิดและการปฏิบัติของผู้คนอย่างกว้างขวาง

ส่งผลต่อความเป็นไปของสภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและสังคมอุตสาหกรรมอย่างสูง

ความคิดที่ต่อสู้กันนี้อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ

 

1)กลุ่มแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงสังคมนิยม พัฒนาขึ้นช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 จากการผสมทฤษฎีสังคมนิยม กับขบวนการสีเขียวเข้าด้วยกัน บางแห่งเรียกตนเองว่า ขบวนการแตงโม ข้างนอกสีเขียว ข้างในสีแดง มีความเชื่อว่า ระบบทุนที่ขยายตัวในรูปโลกาภิวัตน์ เป็นต้นตอของปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมทั้งหลาย ต้องการโค่นล้มระบบทุนนิยม โดยการสร้างการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแบบรวมหมู่และเปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชนและสังคมให้มาก

นักนิเวศวิทยาสังคมโดยทั่วไปมีรากฐานความคิดย้อนไปถึงลัทธิมาร์กซ์ จำนวนหนึ่งยอมรับการปฏิวัติ ความรุนแรงในการเปลี่ยนผ่าน

ลัทธิมาร์กซ์เป็นทฤษฎีวิวัฒนาการสังคม ตั้งอยู่บนปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี ต่างกับวัตถุนิยมกลไกที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ด้วยความขัดแย้งในสังคม จากสังคมบรรพกาลจนถึงสังคมทุนนิยม ซึ่งความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นคนงานจะผลักดันให้ก้าวสู่สังคมสังคมนิยมและสังคมคอมมิวนิสต์ที่ปราศจากชนชั้น และไร้ รัฐในที่สุด

ลัทธิมาร์กซ์มีส่วนคล้ายทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ร่วมสมัยกัน ทฤษฎีวิวัฒนาการเห็นว่า สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการด้วยการแสวงหาอาหารและการสืบพันธุ์

ส่วนลัทธิมาร์กซ์เห็นว่ามันได้แก่การผลิตและการผลิตซ้ำ ซึ่งรวมการผลิตซ้ำตนเอง

อนึ่ง ลัทธิมาร์กซ์ใกล้ชิดกับลัทธิอนาธิปไตยมากในแง่ของการต่อต้านทุนนิยม เป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่งขัน ขบวนการสังคมนิยมนิเวศได้ต่อยอดการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนาธิปไตยนิเวศ

แนวคิดสังคมนิเวศ มีลักษณะเฉพาะได้แก่

ก) การวิจารณ์ว่าระบบสังคมนิยมที่เป็นอยู่ ได้สร้างระบอบรัฐกิจขนาดใหญ่ เกิดความอุ้ยอ้าย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทันท่วงที จนต้องประสบปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ต่างกับประเทศทุนนิยม

ข) วิจารณ์ขบวนการสีเขียวว่ามีลักษณะสังคมนิยมไม่เพียงพอ โดยทั่วไปเคลื่อนไหวแก้ปัญหาในระบบ เช่น โดยเน้นบางประเด็นปัญหา ได้แก่ การมีประชากรมากเกินไป การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป ความไม่มีประสิทธิภาพในการผลิต เกิดการเสียเปล่าเป็นอันมาก ทั้งในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม หรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบไม่เหมาะสม เป็นต้น ไม่ได้ชี้ต้นตอปัญหาว่าเกิดจากระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลแบบทุนนิยม การเคลื่อนไหวจึงมีลักษณะวนเวียน มักเสียเวลาและไม่ก้าวหน้าอะไรมาก

แนวคิดนิเวศวิทยาเชิงสังคมนิยมนี้ ที่น่าจับตาเนื่องจากเยาวชนสหรัฐจำนวนมาก ได้หันมายอมรับแนวคิดเชิงสังคมนิยมเพิ่มขึ้น

ส่วนสำคัญเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการไต่บันไดเลื่อนขั้นทางสังคม กระทำได้ยากขึ้น

 

2)กลุ่มแนวคิดการปฏิรูปในระบบทุนนิยม มีอยู่จำนวนมากด้วยกันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย

กลุ่มแรก มีลักษณะเอียงซ้าย โจมตีทุนนิยมในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่

อีกกลุ่มหนึ่งเอียงขวา ยอมรับโลกาภิวัตน์ จะกล่าวเป็นลำดับไป

ก) กลุ่มย่อยหยุดโต (Degrowth) พัฒนาจากทฤษฎีเกิดใหม่ในศตวรรษที่ 20 สองทฤษฎี

ทฤษฎีแรก เป็นการนำกฎอุณหพลศาสตร์มาใช้ในระบบซับซ้อน ได้แก่ ชีวิต เศรษฐกิจ สังคมและวิวัฒนาการ สามารถเข้าใจเชิงฟิสิกส์ และสามารถคำนวณได้

อีกทฤษฎีหนึ่งได้แก่ ระบบซับซ้อนเชิงพลวัต (Dynamic Complexity) เห็นว่าระบบเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศดำเนินไปแบบระบบซับซ้อนเชิงพลวัต สามารถปรับตัวเองได้ตามการเปลี่ยนแปลง

ตามแนวคิดหยุดโต เห็นว่าระบบนิเวศโลกมีความจำกัดทางทรัพยากร การเติบโตอย่างไม่จำกัด เป็นการใช้ธรรมชาติมากเกินไปเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน เกิดการล่มสลายของสังคมและอารยธรรมขึ้นได้

ยกตัวอย่างนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวล่าสุดได้แก่ ทิม แจ๊กสัน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ผลงานล่าสุดชื่อ “หลังการเติบโต” (Post-Growth : Life after capitalism. มีนาคม 2021)

ทิม แจ๊กสัน เห็นว่าระบบทุนนิยมกำลังทำลายตนเอง โดยการเน้นความเติบโตจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ชี้ว่า แม้ค่านิยมที่ยอมรับกันทั่วไปได้แก่ ความรักจะเกิดขึ้นได้ต้องมีค่าใช่จ่าย คือต้องใช้พลังงาน เกิดการเพิ่มขึ้นของเอนโทรปี หรือความไร้ระเบียบ

ถ้าหากไม่ระมัดระวังก็จะนำมาสู่ความโกลาหลของสังคมอย่างที่เป็นอยู่

ทางแก้มีหลายประการได้แก่ แก้ปัญหาทางวัตถุ การฟื้นฟูทางจิตวิญญาณ การสร้างกลุ่มช่วยเหลือ การสร้างขบวนการเปลี่ยนผ่านสร้างความรู้และจิตสำนึกทางเลือก ที่สำคัญคือการขยายการลงทุนทางสิ่งแวดล้อม

ข) กลุ่มย่อยแนวคิดสภาเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นสโมสรของมหาเศรษฐี นักบริหาร นักการเมืองนักคิดระดับโลก ยืนยันในการรักษาการนำของบรรษัทใหญ่ไว้ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองตามสถานการณ์ที่สำคัญได้แก่ การปฏิวัติ อุตสาหกรรมครั้งที่สี และการรีเซ็ตครั้งใหญ่

แนวคิดมีหลักการ 3 ประการได้แก่

ก) กระบวนโลกาภิวัตน์ เป็นการรวมทุน แรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ในตลาดเดียว สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวก นานาชาติมีสิทธิในการเดินเรือในทะเลหลวงอย่างเต็มที่

ข) มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางและรัฐบาล ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจตามความจำเป็นที่สามารถทำได้เสมอ

ค) การปฏิวัติทางเทคโนโลยี เพิ่มผลิตภาพ ประสิทธิภาพและกำไร เป็นแนวคิดแบบใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา

สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้มีความก้าวหน้ามากได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ ตัวอย่างเช่นในปี 2017 บริษัทไมโครซอฟต์ของสหรัฐได้เปิดตัวโครงการ “ปัญญาประดิษฐ์รักโลก” (AI for Earth) ระยะเวลา 5 ปี ใช้เงินกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ในการแก้วิกฤติภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดสภาเศรษฐกิจโลกนี้ แม้จำกัดในวงแคบ แต่ก็เป็นของชนชั้นนำโลกที่มีความมั่งคั่ง ครอบงำการผลิต การค้า การบริหาร การสื่อสาร เทคโนโลยี และการสงคราม จึงมีบทบาทสูงยิ่ง รัฐบาลทั่วโลกโดยทั่วไปปฏิบัติตามหลักการสามประการดังกล่าวในระดับต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามแนวคิดนี้มีจุดอ่อนสำคัญ ได้แก่ ความไม่ทั่วถึง ต้องทิ้งผู้คนจำนวนหนึ่ง จนถึงจำนวนมากไว้ข้างหลัง ดูจากกรณีการระบาดทั่วโลกของโควิด-19 ที่ยิ่งขยายช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ คนยากจน และผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายต้องประสบเคราะห์กรรมยิ่งกว่าใคร

ฉบับต่อไปเป็นตอนจบว่าด้วยการปรับตัวเชิงลึก