อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : One Belt One Road ของจีนกับอาเซียนภาคพื้นทวีป (3)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

OBOR บทเรียนจากเอเชียกลาง1

สําหรับ Kyrgyzstan OBOR พื้นฐานส่วนใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานถนน สะพาน อุโมงค์ เครือข่ายอินเตอร์เน็ต สำหรับจีน วัตถุดิบจำนวนมหาศาลและโครงการก่อสร้างจริงๆ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อ Eurasian Free Trade area และยังเป็นประโยชน์ให้จีนส่งสินค้าที่ผลิตล้นตลาด ได้แก่ เหล็ก คอนกรีต และกำลังแรงงาน

ใน Kyrgyzstan สิ่งหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของถนนใหม่ที่สร้างขึ้นระหว่างเมืองสำคัญ 2 เมือง คือ Bishkek และ Osh ส่วนที่เป็นตัวเชื่อมหลักเหนือ-ใต้ ที่จะผ่านถนนเก่า M41 หรือ Pamir highway จีนได้ให้เงินลงทุนขั้นต้นเป็นเงิน US$855 ล้าน โดยผ่าน The Export-Import Bank of China ใช้คนงานจีนก่อสร้าง 30% อีก 70% เป็นคนงานท้องถิ่น

OBOR จึงเป็นมากกว่าการส่งออกสิ่งทอจีนทางรถบรรทุกขนส่ง จาก Kashgar และ Urungi ในมณฑล Xinging ของจีนมาตลาด Dordoy และ Madina ของ Kyrgyzstan และมีการประท้วงจากรถบรรทุกท้องถิ่นของ Kyrgyzstan มีทั้งกลุ่มชาตินิยมต่อต้านจีนทางอุดมการณ์ และพ่อค้า Kyrgyzstan ซึ่งกลัวการแข่งขันจากสินค้าจีน

โครงการ OBOR นี้จึงเป็นการวาง Kyrgyzstan-based Chinese nationals คือ ตลาด Kyrgyzstan เป็น hub ของสินค้าจีนกระจายไปหลายประเทศในสหภาพโซเวียตเก่า คือ Kazakhstan ต่อจากนั้นไปรัสเซียทางตอนเหนือและตะวันตก Tajikistan และ Uzbekistan ทางตอนใต้

นี่คือ เส้นทางสายไหมของผู้คนที่ปรับใช้ความหลากหลายที่ได้มาจากทรัพยากรต่างๆ ของจีนเพื่อใช้ในการดำรงวิถีชีวิต

ในทางการเมือง คน Kyrgyz และคนจีนลูกผสมที่น่าสงสัยอาศัยอยู่บนเส้นทางสายใหม่มานานแล้ว ก่อนที่ผู้คนจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและ OBOR เป็นตลาดการเมืองไป

ใน Kyrgyzstan คนมุสลิมถูกจับตามองเนื่องจากมีความขัดแย้งกับทางการจีน ในด้านหนึ่ง OBOR แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานใหม่ของจีนในระดับโลก และการเร่งขยายเศรษฐกิจของตัวเอง ซึ่งจะทำกับเอเชียกลางที่มีความสลับซับซ้อน โดยจะเป็นการดำเนินการทีละประเทศไป และทีละชุมชนๆ ไป

 

OBOR ของจีน
ผลทางยุทธศาสตร์ต่ออาเซียนภาคพื้นทวีป

สิ่งท้าทาย OBOR ไม่ใช่เรื่องการบูรณาการค้า การค้าขายภายในภูมิภาคเอเชียกลาง ยุโรป และแอฟริกา OBOR ไม่มีสิ่งท้าทายที่เป็นเรื่องของเงินลงทุน เพราะรัฐบาลจีนมีการระดมทุนและมีนโยบายที่จะร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมต่อทางถนน รถไฟ และท่าเรือ

แต่สิ่งท้าทาย OBOR คือ เหตุผลที่เปิดออกมาชัดเจนของจีนทางด้านความมั่นคง ทางพลังงาน การแก้ไขปัญหาชาติพันธุ์ และกลุ่มที่เป็นศัตรูของจีนภายในประเทศจีนเอง

โดยที่เหตุผลที่เปิดออกมานี้เป็นแรงกดดันที่ท้าทายจีนจากกลุ่มประเทศในอาเซียนภาคพื้นทวีปด้วย แม้จะเป็นเพียงติ่งเล็กๆ ทางภูมิศาสตร์เมื่อเทียบกับยุทธศาสตร์โลกของ OBOR ที่ครอบคลุมเอเชียกลาง เอเชียใต้ ยุโรป และแอฟริกา

ในอาเซียนภาคพื้นทวีป มีระเบียงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (Mega Economic Corridor) อยู่ก่อนและมากมายอยู่แล้ว

คือระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ (North-South Economic Corridor) จากเมือง คุนหมิง จีน บ่อเต็น เวียงจันทน์ สปป.ลาว หนองคาย นครราชสีมา กรุงเทพฯ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

มีระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก (East-West Economic Corridor) จากสุวรรณเขต สปป.ลาว มุกดาหาร พิษณุโลก ตาก ของไทย

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นอีกจุดเชื่อมต่อทางหนึ่งของยุทธศาสตร์ OBOR ที่มีทั้งความสำคัญและแบบแผนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การกระจายสินค้าที่ผลิตล้นเหลือในจีน หรือสินค้าอีกระดับที่ส่งมาขาย ที่สำคัญ เป็นแหล่งแพร่กระจายและก่อตั้งชุมชนของคนจีนจากแผ่นดินใหญ่อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น

 

จีน-สปป.ลาว : พลังงาน

แม้ สปป.ลาว จะเป็นประเทศที่เล็ก มีประชากรประมาณ 6 ล้านคน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งจาก OBOR และเป็น OBOR ที่คล้ายกับจีนใน Kyrgyzstan

จีนให้เงินกู้เพื่อสร้างเขื่อนพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้กับไทย จีนให้เงินกู้แก่ สปป.ลาว เพื่อก่อสร้างสนามกีฬาและบ้านพักนักกีฬาใน SEA Game 2004 โดยรัฐบาล สปป.ลาวได้แลกกับการให้สัมปทานที่ดินบริเวณธาตุหลวง 99 ปี เพื่อเป็นชุมชนการค้าและตลาดใหม่ของคนจีน2

เราอาจมองว่า สปป.ลาวเป็นแหล่งพลังงานเพื่อการเติบโตภูมิภาค (Laos is energy for growth) ทั้งสำหรับภูมิภาคนี้ไม่ว่าสิ่งนี้จะเกิดหลังมีกรอบความร่วมมือ Greater Mekong sub region- GMS ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ASIAN Development Bank-ADB) ในปี 1992 หรือเกิดจากแนวคิดการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจของรัฐบาล ชวน หลีกภัย หรือ ACEMES ของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร (2004) รัฐบาล สปป.ลาวได้ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคนี้ทั้งขององค์กรระหว่างประเทศและไทย ทั้งที่เป็นเงินกู้ เงินให้เปล่าและความช่วยเหลือทางเทคนิคอื่นๆ

โดยปรับเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นภูเขาและแม่น้ำต่างๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อขายแก่ไทย เวียดนาม และกัมพูชา

รัฐบาล สปป.ลาวได้เซ็น MOU ขายกระแสไฟฟ้าให้กับ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ไทยเป็นผู้บริโภคกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ ต้องการซื้อกระแสไฟฟ้า 5,000 MW จาก สปป.ลาว

ซึ่งผลการตกลงมาลุล่วงโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีสมัย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อเดือนธันวาคม 20063

แต่กันยายน 2015 รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้ลงนาม MOU กับท่านทองลุน สีสุดลิด นายกรัฐมนตรีของลาวในคราวการประชุมประจำปีอาเซียนที่เวียงจันทน์ ซื้อกระแสไฟฟ้าครั้งใหม่จากลาวเป็น 9,000 MW จากเดิม 7,000 MW4

ในขณะที่เวียดนามต้องการกระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว 1,500 MW ส่วนกัมพูชาต้องการกระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว 1,000 MW

อ้างจากตัวเลขกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ลาว จนถึงปี 2016 ลาวมีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำและพลังความร้อน ก่อสร้างเสร็จแล้ว 42 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 6,300 MW สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 35 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 14,000 MW ในอีก 3 ปีข้างหน้า

รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเปิดใช้เขื่อนเซเสด 3 เปิดวันที่ 6 มกราคม เขื่อนนี้มีกำลังการผลิต 23 MW อยู่ที่แขวงสาละวัน มูลค่าการก่อสร้าง 50.7 ล้านดอลลาร์ ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มบริษัท NORINCO ของจีน5 เป็นที่น่าสังเกตว่า ลาวมีประชากรเพียง 6.8 ล้านคน และอาจต้องการใช้ไฟฟ้าเพียง 1,579 MW เท่านั้น

มือที่ประกอบสร้างอิทธิพลต่อกัมพูชาโดยจีนมีลักษณะใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว หนี้สินของกัมพูชาต่อจีน การซื้ออาวุธจากจีน การสร้างสนามกีฬากลางกรุงพนมเปญโดยบริษัทรับเหมาจีน ย่อมชี้ให้เห็นว่า จีนมีอิทธิพลต่อกัมพูชาและต่อภูมิภาคอาเซียน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การไม่ออกแถลงการณ์อะไรเลยจากการประชุมอาเซียนเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ในปี 2012 ที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนแสดงให้เห็นอิทธิพลของจีนผ่านปัญหาสำคัญของอาเซียนขณะนี้คือปัญหาทะเลจีนใต้

ตอนแรกพ่อค้าจีนนำสินค้าจีน เช่น เสื้อผ้า ของใช้ประจำบ้าน แต่ตอนหลังจีนได้สัมปทานสร้างถนน สร้างโรงแรม

ดังนั้น สินค้าประเภทเครื่องจักร ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งโรงแรม เช่น ประตู เครื่องปรับอากาศ กระเบื้อง สุขภัณฑ์ โต๊ะ และเก้าอี้ เป็นต้น มาจากจีน

สิ่งนี้เกิดขึ้นที่โรงแรมของพ่อค้าจีนในหลวงพระบางและเวียงจันทน์ รวมไปถึงผลไม้ได้แก่ ส้ม กล้วยหอม พืชและผักที่ชาวบ้านนำมาขายให้กับนักท่องเที่ยว แต่ทั้งหลวงพระบางและเวียงจันทน์ไม่ได้มีพื้นที่ปลูกผลไม้เหล่านี้เลย ส่วนใหญ่นำมาจากจีน โดยพ่อค้าจีน โดยการขนใส่รถบรรทุก6

นอกจากนี้ พ่อค้าจีนได้รับสัมปทานปลูกกล้วยหอม7 ส่งเข้าไปยังสิบสองปันนาของจีน ปลูกยางพาราเพื่อแปรรูปขายให้กับจีน

รัฐบาลจีนได้รับอนุญาตให้นำแรงงานจีนเข้ามาทำงานและตั้งรกรากอาศัยอยู่ใน สปป.ลาว ทั้งในเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และสุวรรณเขต

ตามนโยบาย Go South จากคุนหมิง มณฑลยูนนานสู่ใต้ คือ สปป.ลาว และไทย ทางการจีนขุดเจาะอุโมงค์เพื่อนำเส้นทางรถไฟจากคุนหมิงมาที่เมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว ทางการลาวก็เกณฑ์ทหารเพื่อกอบกู้ระเบิดในพื้นที่ทางการจีนจะก่อสร้างทางรถไฟ โครงการทางรถไฟของจีนเป็นเงินกู้ที่ให้กับรัฐบาล สปป.ลาว รถไฟที่วิ่งผ่านก็เป็นโครงการใหม่ ช่างและแรงงานที่ก่อสร้างก็เป็นคนจีน แน่นอนมีโรงเรียนสอนภาษาจีนในเวียงจันทน์มากขึ้น

อะไรที่จีนประกอบสร้างใน สปป.ลาว นับว่ามีผลทางยุทธศาสตร์ในอาเซียนภาคพื้นทวีปทั้งสิ้น

——————————————————————————————————————
1.Gabriele Battaglia, “Hope and Fears on People”s Silk Road in Kyrgyzstan” Asia Times, 17 January 2017.
2.Adisorn Semyaem, “How Laos” People response to Chinese community in Laos?” Theera Nuchpium, Ukrist Pathmanand and Vinisa Uchin (eds.) China”s role in Mainland ASEAN (Mekong Studies Center, Institute of Asian Studies, 2017) : 58.
3.Supalak Ganjanakhundee, “Laos : A reserve for Thai growth” ASIAN REVIEW Vol. 2007 : 35.
4. “ตอนนี้ลาวมีเขื่อนไฟฟ้า 40 แห่งแล้ว…” MRG Online 8 มกราคม 2560 : 12.
5. “ตอนนี้ลาวมีเขื่อนไฟฟ้า 40 แห่งแล้ว” MRG Online 8 มกราคม 2017 : 12
6.ลงภาคสนามในหลวงพระบาง 19-20 มีนาคม 2017
7.มีอย่างน้อย 2 บริษัทร่วมทุนไทย-จีน ได้แก่ บริษัท หงต๋าอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านพื้นที่อำเภอพญาเง ราย อำเภอขุนตาลราว 4,000 ไร่ เป็นเวลา 9 ปี ส่งกล้วยหอมขายจีนผ่านเส้นทาง R3 A ซึ่งผ่าน สปป.ลาวเข้าไปจีน อ้างจาก สกาวรัตน์ สิริมา “จับตา 2 ทุนจีนยึดเชียงราย” กรุงเทพธุรกิจ 12 เมษายน 2559 : 2.