วิรัตน์ แสงทองคำ : สังคม กับธุรกิจสื่อสาร (6)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

DTAC

เรื่องราวของ DTAC กับธุรกิจสื่อสารและสังคมไทย มีความเชื่อมโยงกันอย่างต่อนื่องและยาวนานมากกว่าที่คิด

“บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดในเดือนสิงหาคม 2532 โดยกลุ่มเบญจรงคกุล เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้สัญญา ร่วมการงานซึ่งอยู่ในรูปแบบ “สร้าง-โอน-ดำเนินงาน” จากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (เดิมคือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย)”

ประวัติบริษัทอย่างเป็นทางการข้างต้น (อ้างจาก http://www.dtac.co.th/about/history.htm) ให้ข้อมูลจุดเริ่มต้นสำคัญ ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษที่แล้ว

หากตัดตอนแค่นั้น ถือว่าเป็นการเริ่มต้นยุคสื่อสารสมัยใหม่ของสังคมไทย ช่วงเศรษฐกิจทั้งภูมิภาคเติบโตที่สุดช่วงหนึ่ง

บทบาทนำได้เคลื่อนย้ายจากรัฐวิสาหกิจซึ่งปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์ ไปอยู่ในมือกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มักอ้างอิงกรณี ทักษิณ ชินวัตร

ในความเป็นจริงกรณี DTAC ควรย้อนไปไกลกว่านั้น ในฐานะผู้มีบทบาทนำในธุรกิจสื่อสารในยุคก่อนหน้า ก่อน ทักษิน ชินวัตร จะมาเป็นตำรวจและก่อตั้งกิจการขายอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์เสียอีก

ที่สำคัญเรื่องราวดังกล่าวเชื่อมโยงในฐานะ American connection ในยุคสงครามเวียดนามอย่างแนบแน่น

 

เรื่องเล่าและตำนานต้องเริ่มต้นที่นามบริษัทหนึ่งซี่งผู้คนอาจลืมไปแล้ว–บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเคชั่น อินดัสทรี หรือยูคอม (UCOM) เริ่มจากเริ่มต้นเป็นแค่ห้างหุ้นส่วนในยุคผู้ก่อตั้ง–สุจินต์ เบญจรงคกุล (บิดา บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้ยังรั้งตำแหน่งประธานกรรมการ DTAC ปัจจุบัน) ย้อนไปไกลกว่า 6 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุคต้นๆ สงครามเวียดนาม (ราวปี 2499) ต่อมาในปี 2523 ได้ก่อตั้งเป็นบริษัทขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ถือเป็นการเริ่มต้นยูคอมในยุค บุญชัย เบญจรงคกุล

ยูคอมมีความสัมพันธ์สำคัญ 2 มิติ ที่สำคัญมากๆ คือกับ Motorola แห่งสหรัฐอเมริกา กิจการสื่อสารยักษ์ใหญ่ระดับโลก ก่อตั้งเมื่อประมาณ 90 ปีที่แล้ว ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีสอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงนั้นอย่างมหัศจรรย์

โดยเฉพาะในช่วงปี 2512 สร้างอุปกรณ์การสื่อสารวิทยุสำหรับองค์การนาซา (NASA) มีบทบาทอย่างสำคัญกรณี Apollo 11 ส่งมนุษย์เหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก

“ในเวลานั้น เทคโนโลยีต่างๆ ในระดับโลกก้าวหน้าไปมากอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ กับยานอวกาศอพอลโล 11 ของสหรัฐในปี 2512 ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มาถึงครัวเรือนประเทศไทยด้วย ที่สำคัญเป็นพิเศษ มีการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กับชีวิตระดับบุคคล (individual) เกิดขึ้นครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเทปวิดีโอ (ปี 2512) Floppy Disc (2513) Microprocessor (2513) เครื่องคิดเลขขนาดเล็ก (2515) Compact Disc (2515) Microcomputer (2515) เทป VHS (2518) สิ่งเหล่านี้ ย่อมจะสร้างแรงผลักดันในเชิงธุรกิจให้แสวงหาตลาดที่กว้างขวางขึ้น”

ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญทีเดียว สอดคล้องกับอิทธิพลและแรงขับเคลื่อนธุรกิจอเมริกันให้ขยายตัวออกไปในระดับโลก ซึ่งผมอรรถาธิบายไว้ (ตัดตอนมาบางส่วนข้างต้น) หลายต่อหลายครั้ง ให้เห็นเชื่อมโยงกับพัฒนาการสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสังคมธุรกิจไทย แต่ยังไม่เคยนำเสนอแง่มุมที่ว่าด้วยการสื่อสารในสังคมไทย ดังกรณีตระกูลเบญจรงคกุล กับ Motorola มาก่อน

ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลเบญจรงคกุล กับ Motorola กล่าวกันว่ามีลักษณะพิเศษเกื้อกูลกันอย่างมากๆ แม้กระทั่งมีผลต่อภูมิหลังการศึกษาของ บุญชัย เบญจรงคกุล

“บุญชัย เบญจรงคกุล แห่งกลุ่มยูคอม และ DTAC ทายาทคนโตของตระกูลที่เติบโตจากการขายอุปกรณ์สื่อสารของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของสหรัฐ Motorola inc. ภายใต้การช่วยเหลือของผู้บริหาร Motorola ทำให้เขาเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่ Barrington High School (ปกติโรงเรียนรัฐบาลสหรัฐไม่ค่อยรับนักเรียนต่างชาติ) ในเมืองเดียวกับที่สำนักงานใหญ่ Motorola ตั้งอยู่ ในช่วงปลายสงครามเวียดนาม จากนั้นน้องๆ ก็เจริญรอยตาม”

เรื่องเล่าจากปากของบุญชัยเอง ปรากฏในหนังสือเล่มของผม (จากหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” โดย วิรัตน์ แสงทองคำ ปี 2548) ต่อจากนั้นเขาได้ศึกษาต่อปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจที่ Northern Illinois University เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลปัจจุบัน Barrington High School ตั้งอยู่ที่ Chicago มลรัฐ Illinois ห่างจากสำนักงานใหญ่ Motorola Solutions ไม่ไกลนัก

(ปี 2554 Motorola แยกตัวออกเป็น 2 บริษัท คือ Motorola Solutions และ Motorola Mobility)

 

พัฒนาการของยูคอมดำเนินไปพร้อมๆ กับ Motorola ได้ลงหลักฐานปักฐานอย่างมั่นคงในสังคมไทย ทั้งนี้ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับพัฒนาการระบบสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทย ตั้งแต่มีการนำระบบวิทยุ VHF มาใช้ในกิจการตำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว จนมาถึงกรณีองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดพนักงานต่อสายให้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2518

ต่อมาราวปี 2520 การเติบโตทางเศรษฐกิจได้สร้างแรงกดดันต่อโครงสร้างการสื่อสารซึ่งควบคุมโดยรัฐมากขึ้น ขณะนั้นชุมสายเดิมมีอย่างจำกัดแค่ 3 แห่ง (บางรัก วัดเลียบ และสามเสน) ในที่สุดผลักดันให้มีการแตกตัวออกเป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด) และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน คือบริษัท ทีโอที จำกัด)

ตามมาด้วยตำนานที่ว่า ยูคอม และ Motorola สามารถยึดตำแหน่งสำคัญ มีบทบาทและสายสัมพันธ์ แทบจะเรียกได้ว่า “ผูกขาด” ขายเทคโนโลยีซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ให้กับการสื่อสารฯ ขณะที่คู่แข่งอีกบางรายเข้ายึดครององค์การโทรศัพท์ฯ

ในช่วงปี 2532 เมื่อยูคอมก่อตั้งบริษัทอีกแห่งหนึ่งเข้าสู่กระแสสื่อสารยุคใหม่ “บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้สัญญา ร่วมการงานซึ่งอยู่ในรูปแบบ “สร้าง-โอน-ดำเนินงาน” จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย” ถือเป็นแผนการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือแทค (TAC ) เข้าสู่ธุรกิจสื่อสารยุคใหม่

ว่ากันว่าเป็นการก้าวตามกรณี ทักษิน ชินวัตร อย่างกระชั้นชิด ภายในไม่กี่เดือน อีกด้านหนึ่งอาจไม่มีใครรู้มากนัก ในเวลานั้น ยูคอม และ บุญชัย เบญจรงคกุล ดูจะมีความพร้อมมากกว่า ทักษิน ชินวัตร เสียด้วยซ้ำ

กิจการยูคอมดำเนินไปอย่างดี ถือเป็นช่วงเวลาก้าวกระโดดอย่างแท้จริง ด้วยมีฐานลูกค้าสำคัญอย่างมั่นคง ลูกค้ากลุ่มแรก กองทัพไทย ยูคอมเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญ เกี่ยวกับระบบสื่อสารต่างๆ ให้กองทัพไทย รวมทั้งมีสัญญาติดตั้งระบบที่สนามบินดอนเมืองด้วย มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทในเวลานั้น

ต่อมาคือกลุ่มลูกค้าโครงการหน่วยราชการต่างๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับยูคอมมายาวนานกว่า 30 ปี ยูคอมซัพพลายระบบวิทยุสื่อสารต่างๆ มีมูลค่ารวมเป็นพันๆ ล้านบาท ทั้งได้ขยายไปถึงหน่วยงานอื่นๆ กว้างขึ้นๆ เช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสำคัญมากขึ้น ขณะนั้นเพิ่งเริ่มต้นด้วยบริการโดยรัฐวิสาหกิจ นั่นคือกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซื้อเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบรนด์ Motorola ขณะนั้นมี 2 ระบบ คือ AMPS 800 Hz และ NMT 900

กล่าวกันว่าในช่วงนั้น มียอดขายรวมๆ กันเกือบ 20,000 เครื่อง ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ดี จนต้องขยายศูนย์บริการในกรุงเทพฯ เพิ่มอีกหลายแห่ง

ดังนั้น เมื่อแทคกลายเป็นผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย บทบาทของยูคอม กับแทค (หรือ DTAC ในปัจจุบัน) จึงก้าวไปด้วยกันอย่างมีพลัง

บทบาททั้งยูคอมและแทค ดำเนินกิจการไปอย่างต่อเนื่อง ตื่นเต้นเกือบตลอดทศวรรษ ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 จะส่งผลลบอย่างมากมาย

เค้ารางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2542 ณ วังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ (ขณะนั้น) เป็นประธานการลงนามประนอมหนี้มูลค่าเกือบ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างยูคอมกับเจ้าหนี้เกือบ 30 ราย

(ยังมีต่อ)

——————————————————————-

เหตุการณ์สำคัญ
ยุคที่หนึ่ง
2523ก่อตั้ง บริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่น อินดัสทรี หรือยูคอม (UCOM)

2534

ก่อตั้งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือแทค (TAC) จากนั้นได้ลงนามสัญญากับการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท. เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาร่วมการงานประเภท “สร้าง-โอน-ดำเนินการ (Build-Transfer-Operate)”

2535

ยูคอมได้รับสัมปทานให้บริการวิทยุคมนาคมเฉพาะกิจ ระบบ Trunk radio จาก กสท. เป็นระยะเวลา 15 ปี

2537

ยูคอมจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แทคทำสัญญาเชื่อมโยงโครงข่ายกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ขณะนั้นคือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย)

2538

แทคจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แต่ไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เนื่องด้วยมีข้อติดขัด เรื่องความซ้ำซ้อนกับยูคอม จึงตัดสินใจนำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสิงคโปร์
แทคออกหุ้นใหม่จำนวน 42.8 ล้านหุ้นให้แก่ทีโอที และทีโอทีตกลงให้ส่วนลดค่าเชื่อมโยงโครงข่าย

2539

แทค กับ กสท. ลงนามตกลงขยายระยะเวลาการดำเนินการภายใต้สัญญาร่วมการงาน ส่งผลให้สัญญาร่วมการงานสิ้นสุดในปี 2561
————————————————————————————–
ที่มา เรียบเรียงจาก http://www.dtac.co.th/about/history.htm และข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย