นิธิ เอียวศรีวงศ์ เฉลยคำตอบ #คนไทยใจเย็นเกินไป หรือ ‘คนไทยโกรธพอที่จะก่อจลาจลได้’

บทความในประเทศ

 

‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ เฉลยคำตอบ

#คนไทยใจเย็นเกินไป

หรือ ‘คนไทยโกรธพอที่จะก่อจลาจลได้’

ท่ามกลางสภาวะที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิฤตโควิด นำมาสู่คำถามต่อประสิทธิภาพการบริหารของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งนับวันคำถามเหล่านั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสู่เสียงวิจารณ์ที่ดังขึ้น กลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาล สะท้อนผ่านทั้งโลกออนไลน์ และโลกแห่งความเป็นจริงที่ปรากฏในรูปแบบม็อบบนท้องถนน และความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียืนยันไม่ออกช่วงนี้แน่ คำถามใหญ่จึงตามมาว่า สังคมไทยจะเดินไปอย่างไรต่อ?

หนึ่งในบุคคลที่ออกมาตอบคำถามนี้คือ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอาวุโส โดยให้สัมภาษณ์กับรายการ เอ็กซ์-อ๊อก Talk ทุกเรื่อง ของมติชนทีวี มองสภาพของสังคมไทยเวลานี้

และทิศทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากนี้

อ.นิธิเริ่มต้นอธิบายสภาพความรู้สึกของสังคมอย่างร้อนแรงและชวนให้คิดต่อว่า คนไทยเวลานี้ จำนวนมากคนไม่พอใจรัฐบาล ไม่พอใจสภาวะที่เป็นอยู่ คนไทยเวลานี้โกรธมาก โกรธพอที่จะทำให้เกิดจลาจลขึ้นได้

แต่ปัญหาคือจลาจลไม่นำไปสู่อะไรจนกว่าจะมีกลุ่มคนหรือมีพลังอะไรบางอย่างที่ช่วยทำให้จลาจลแปรเปลี่ยนไปสู่อะไรที่มันสร้างสรรค์ขึ้น อะไรที่นำความสงบ และแก้ไขอะไรบางอย่าง อย่างน้อยที่สุดโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากเกินไป

แต่การจลาจลโดยการเผาเมืองจบ แล้วเลิกกันไป อย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร

พร้อมกับยกตัวอย่างว่า ขอให้สังเกตพฤษภาคม 2535 จะบอกว่าจลาจลก็ได้ แต่ในที่สุดจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ กลุ่มชนชั้นนำสามารถเข้ามากำกับการจลาจลให้นำไปสู่อะไรบางอย่างที่เป็นที่พอใจ

เช่น สร้างรัฐบาลอานันท์ 2 ขึ้นมา ที่ทำให้เกิดความพอใจในระดับหนึ่ง แล้วทุกอย่างค่อยๆ ดำเนินมา ในแง่หนึ่งพฤษภาคม 2535 ก็นำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2540 อย่างนี้เป็นต้น

อ.นิธิยังอธิบายต่อถึงคำอธิบายในเรื่องนี้ ที่ดูจะขัดแย้งกับชื่อบทความ “คนไทยใจเย็น” ที่เพิ่งเขียนลงในมติชนสุดสัปดาห์ ว่า เรื่องคนไทยใจเย็นนั้นตั้งชื่อเป็นเชิงล้อ จริงๆ ไม่ได้ใจเย็นอย่างนั้น เป็นแต่เพียงว่าความโกรธของเรานำไปสู่เหตุการณ์อย่างพฤษภาคม 2535 ก็ได้ 14 ตุลา ก็ได้ กลายเป็นการจลาจลก็ได้ เพราะฉะนั้น อย่าไปนึกว่าการที่นักวิชาการต่างประเทศบอกว่าคนไทยยังโกรธไม่พอ มันมีปัญหาทันทีว่า โกรธหมายความว่าแค่ไหน กับคำว่าไม่พอ ไม่พอแก่อะไร

ซึ่งคนไทยเวลานี้โกรธพอที่จะก่อการจลาจลได้แล้ว แล้วยิ่งรัฐจัดการการประท้วงโดยวิธีรุนแรงแบบนี้ก็ยิ่งอาจจะก่อการจลาจลได้ง่ายขึ้น

 

ต่อที่ประเด็นการเมือง ที่ปรากฏเสียงเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ซึ่งเรื่องนี้ อ.นิธิมองว่า คำถามที่เราควรจะต้องถามคือ หากพรรคภูมิใจไทยออกมาจากรัฐบาลจะไปอยู่ที่ไหน อาจจะบอกง่ายๆ ว่าไปอยู่ฝ่ายค้านไง ซึ่งพูดตามรูปแบบเป็นแบบนั้น แต่ถามว่าเพื่อไทยอยากจะร่วมกับภูมิใจไทยไหม ตนเองก็ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะเวลานี้ในสายตาคนข้างนอก หัวหน้าพรรคเละพอๆ กับคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน จะไปอยู่กับใคร ถามว่าจะมีพรรคไหนอยากร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะกลายเป็นแกนกลางฝ่ายค้านร่วมกัน ตนว่าไม่

แต่ถ้าในกรณีสูญเสีย 2 พรรคใหญ่ไป แล้วรัฐบาลสามารถไปเอาพรรคใหญ่อีกพรรคหนึ่งจากฝ่ายค้านเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ 2 พรรคนี้ยิ่งไปกันใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อเสนอข้างต้น ให้แก้การเมืองด้วยกลไกของการเมือง หากแต่ อ.นิธิให้มุมมองที่ต่างออกไปว่า ทุกแห่งในโลกนี้ สภาไม่ใช่แห่งเดียวในการให้คำตอบทางการเมือง เป็นความเข้าใจผิดอย่างที่ทุกอย่างต้องไปตกลงกันที่สภา การตกลงทางการเมืองมาจากพลังที่ซับซ้อนกว่าสภา เช่น ตัวสังคมเอง ก็มีส่วนผลักดันนักการเมืองอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น นอกจากสภามันมีพลังทางการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง

แต่ในเมืองไทยตรงส่วนนี้มันหายไป สังคมเองไม่มีพลังเท่าไหร่ในการที่จะกำหนดสิ่งต่างๆ ทำให้ต้องไปฝากความหวังทั้งหมดให้กับกฎหมาย สภา ตามรูปแบบ ซึ่งในโลกนี้ไม่มีการเมืองที่ไหนที่รูปแบบอย่างเดียวจะก่อให้เกิดการเมือง

นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามต่อว่า ด้วยเหตุนี้หรือไม่ สังคมไทยจึงปรากฏการเคลื่อนไหวบนท้องถนนลากยาวตั้งแต่ปี 2563 ซึ่ง อ.นิธิตอบอย่างรวดเร็วว่าใช่ เพราะเหตุที่สังคมไม่เข้มแข็งพอที่จะดำเนินโดยตัวเองโดยไม่ลงถนนได้

พร้อมอธิบายถึงข้อจำกัดของการเรียกร้องบนถนนว่าข้อเสียคือจะเกิดความวุ่นวายจนรัฐบาลอยู่ไม่ได้ แต่มันจะเปลี่ยนได้ไม่มาก อย่างไรก็ตาม อ.นิธิระบุว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ตนเองมีกำลังใจค่อนข้างมาก เพราะผู้ชุมนุมค่อนข้างชัดว่าอะไรจะต้องเปลี่ยนบ้าง

แต่ก่อนตอนไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออกไป ทุกคนก็พอใจกลับบ้าน ช่วงหนึ่งไล่จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ออกได้ทุกคนก็พอใจ มันเลยกลายเป็นเกมที่กลุ่มชนชั้นนำเขาทะเลาะกัน ไม่ใช่เกมที่มาถึงเรา

แต่ครั้งนี้ข้อเรียกร้องแต่ละอย่าง เช่น นักเรียนเรียกร้องเรื่องเกี่ยวกับทรงผม เครื่องแบบ ขอให้ชัดว่าคุณต้องการอะไร ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีศึกษาฯ ครั้งนี้ความเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ตนคิดว่าค่อนข้างชัดว่าเขาอยากจะได้อะไร

จึงหวังว่าถ้าเกิดจลาจลจะไม่สูญเปล่าที่ความเสียหาย

ทิ้งท้ายที่ประเด็นการเคลื่อนไหวของโทนี่ วู้ดซัม หรือทักษิณ ชินวัตร พร้อมกระแสนายกฯ คนนอก ซึ่ง อ.นิธิฉายภาพไว้อย่างน่าสนใจว่า ตัวคุณทักษิณเคลื่อนไหวด้วยความที่อ่านออกว่ารัฐบาลไปไม่รอด ถ้าจัดการปัญหาโควิดแบบนี้ ไม่มีรัฐบาลไหนไปรอด

แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือ ในช่วงนี้คนที่สนับสนุนคุณประยุทธ์ หรือเคยสนับสนุนมาก่อน โดนวิจารณ์มาก เห็นได้จากการแบนสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นการแบนที่ได้ผลมาก เพราะฉะนั้น ใครก็ตามแต่ที่เคยได้ประโยชน์จากคุณประยุทธ์มาทั้งหมด เวลานี้พากันผละจากคุณประยุทธ์ ไม่โดยตรงก็ลับๆ ความคิดที่เอานายกฯ คนนอก จึงคิดว่าเป็นความคิดที่มีมูลอยู่ เพียงแต่ว่าจะตกลงกันที่คนนอกอย่างไร ว่าจะเอาใคร

ในบรรดาคนทั้งหลายที่ถูกคาดเดา คนที่ตนคิดว่าเป็นไปได้มากที่สุด คือโทนี่ นอกจากนั้นต้องทำรัฐประหาร ซึ่งในช่วงนี้ใครๆ ก็รู้ว่าทำรัฐประหารไม่ได้ ถ้าคุณเอาโทนี่ โอกาสที่ใช้รัฐธรรมนูญอัปรีย์ฉบับนี้จะตั้งโทนี่เป็นนายกฯ เป็นไปได้ที่สุด สมมุติว่ากรณีไม่คิดจะล้างบัญชีเก่าที่เคยเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีกันมาตอนเลือกตั้ง ต้องเอาคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งคุณอนุทินอาจจะได้รับแรงหนุนจาก ส.ว. รวมถึงพลังประชารัฐ ถ้ามีข้อตกลงกันได้ แต่ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าประชาธิปัตย์เอาขณะที่เพื่อไทยไม่เอาแน่ หรืออย่างคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อาจได้คะแนนจากฝ่ายค้าน แต่ไม่มีทางเลยจะได้จากทาง ส.ว. และพลังประชารัฐ ฉะนั้น เลยต้องเอาคนนอก ซึ่งก็คือคุณโทนี่

ส่วนข้อกังวลของคนที่ไม่เห็นด้วย อ.นิธิระบุว่า กระแสต้านก็มี แต่ไม่เกิดผลอะไร ถามจริงๆ ว่าคนที่ต่อต้านเต็มที่เขารังเกียจคุณทักษิณไหม หรือเขาไม่ต้องการศัตรูที่น่ากลัว อย่างประชาธิปัตย์คิดว่าเขารังเกียจคุณทักษิณจริงหรือ แต่แน่นอนถ้าคุณทักษิณอยู่ จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีวันชนะเลือกตั้งได้เลย

ก่อนจะปิดท้ายกับคำถามว่า การเคลื่อนไหวของคุณทักษิณเป็นผลดีต่อฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่ง อ.นิธิระบุว่า ขอตอบด้วยอคติ ตนเองไม่ไว้ใจคุณทักษิณ ฉะนั้น คุณทักษิณจะมาด้วยวิธีใดไม่น่าไว้วางใจแก่ตน ไม่ใช่เรื่องโกงนะ ส่วนตัวกลับคิดว่าคุณทักษิณไม่โกง แต่วิธีคิดต่างหากที่เป็นอันตรายต่อสังคมในระยะสั้นและระยะยาว เพราะคุณทักษิณคิดว่า มนุษย์มีเพียงแค่การทำมาหากินให้รวยก็พอ ซึ่งไม่ใช่ มันมีอะไรที่คนต้องการมากกว่านั้นอีกเยอะ

สำหรับตนเองไม่คิดว่าคุณทักษิณจะเป็นคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้เลย อย่าไปพูดถึงอำนาจลี้ลับอะไรที่ตั้งเข้ามา มาด้วยการเลือกตั้งก็ไม่ไว้ใจ

แต่คนที่คุยกับคุณทักษิณอย่างจริงใจแบบนี้ตนว่าน้อย ส่วนใหญ่เป็นศัตรูกับคุณทักษิณ เพราะประโยชน์อะไรบางอย่างต่างหาก