วัคซีนไม่มาตามนัด… ส.อ.ท.ดิ้นสู้ กองทัพโควิดประชิดรั้วโรงงาน/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

วัคซีนไม่มาตามนัด…

ส.อ.ท.ดิ้นสู้

กองทัพโควิดประชิดรั้วโรงงาน

 

พลันที่กระทรวงการคลังคาดการณ์จีดีพีปีนี้ระดับ 1.2% และ กกร.มองเพียง 0-1.5% ล่าสุดบางหน่วยงานด้านเศรษฐกิจประเมินจีดีพีอาจติดลบ ได้บ่งบอกถึงบรรยากาศความหดหู่ของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ที่ล่าสุดยังยืดเยื้อ ระบบสาธารณสุขเหนื่อยล้าลงทุกวัน

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตัดสินใจขยายล็อกดาวน์ยาวถึงสิ้นเดือนสิงหาคม พร้อมเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด หลังตัวเลขติดเชื้อคงพุ่งสูงเข้าใกล้ 2 หมื่นรายต่อวัน เสียชีวิตเข้าใกล้ 200 รายต่อวัน โดยหลังจากนี้ ศบค.ระบุว่าจะติดตามสถานการณ์ทุก 14 วัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงและน่ากังวลมากขึ้น เพราะนอกจากจะลามเข้าชุมชน ยังเข้าโรงงานอุตสาหกรรม เกิดคลัสเตอร์โรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้รับวัคซีนไม่ถึง 10% จากทั้งระบบกว่า 3 ล้านราย ขณะที่วัคซีนจะเข้ามาเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือ ไตรมาส 4 ปีนี้ ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้

เกิดเป็นวิกฤตที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะอาจกระทบต่อการผลิตทั้งระบบ จนกระทบต่อการผลิตสินค้าในประเทศ ไปจนถึงการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ที่เป็นความหวังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ตัวเลขเป้าหมายจาก กกร.อยู่ที่ 8-10%

 

เอกชนในภาคอุตสาหกรรม นำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เริ่มกังวลว่าจะมีมาตรการปิดโรงงาน จากปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณา จึงเดินหน้าจัดทำมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล เพื่อคุมสถานการณ์ หวังพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ตลอดจนป้องกันได้

เพราะหากปล่อยให้โรงงานถูกปิดจำนวนมาก แน่นอนความเสียหายจะเกิดจนแทบประเมินไม่ได้

เรื่องนี้ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ยอมรับว่า ภาคอุตสาหกรรมรู้สึกเคว้งกับวัคซีนที่ยังไม่รับการจัดสรรจากภาครัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้แรงงานได้รับวัคซีนไม่ถึง 10% เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การติดเชื้อลามอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ส.อ.ท.จึงขอเข้าพบ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสะท้อนปัญหาและขอภาครัฐช่วยเหลือโดยด่วน

ซึ่งรองนายกฯ ได้รับปากจะเร่งจัดหาวัคซีนให้

 

ขณะที่ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธาน ส.อ.ท. แสดงความกังวลว่า หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประเทศไทยอาจประสบกับภาวะซัพพลายดิสรัปชั่น คือ ภาวะสินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงการระบาดโควิด-19 รอบ 1 และรอบ 2 โดยอาจเกิดขึ้นได้ช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งจากความต้องการของประชาชน และการผลิตที่ไม่มากพอ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดภายในโรงงาน ทำให้เกิดความวุ่นวายตามมาได้ ซึ่งเอกชนเข้าใจสถานการณ์เวลานี้ว่าวัคซีนยังคงไม่เพียงพอ

สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการในเวลานี้นอกจากจัดหาวัคซีนฉีดให้คนไทยมากที่สุด ก็คือ มาตรการคัดกรองเชิงรุกที่ต้องดำเนินอย่างเข้มข้น คัดกรองด้วยแอนติเจน เทส คิต เพื่อแยกผู้ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อออกจากกัน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดไปทั่ว ผู้ติดเชื้อเข้าระบบกักตัว กักบริเวณ

เพราะข้อดีจากการตรวจเชิงรุกคือแบ่งเบาสาธารณสุข

และไม่ต้องเคลื่อนย้ายคนดังภาพที่เห็นคือคนไทยต้องต่อคิวตรวจโควิดตั้งแต่เช้ามืด เป็นภาพที่ไม่ดี

 

ไม่เพียงเท่านี้ จากผลสำรวจ “การจัดการปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” ภายใต้ FTI Poll ครั้งที่ 8 ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ยังพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น จนส่งผลทำให้กำลังการผลิตลดลงและกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นี้

จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและการส่งออกของประเทศ

นอกจากนี้ ผลสำรวจอัตราการจ้างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด พบว่า ส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถคงอัตราการจ้างงานเท่าเดิม คิดเป็น 53.6% มีการจ้างงานลดลง 10-20% คิดเป็น 31.3% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10-20% คิดเป็น 10.3% และมีการจ้างงานลดลงมากว่า 50% คิดเป็น 4.8%

ในส่วนผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้น พบว่า โรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลง น้อยกว่า 30% คิดเป็น 45.2% โรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบ คิดเป็น 26.5% โรงงานที่กำลังการผลิตลดลง 30-50% คิดเป็น 20.5% และโรงงานที่กำลังการผลิตลดลงมากกว่า 50% คิดเป็น 7.8%

 

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ แรงงานบางส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค หรือกักตัว รวมทั้งการปิดโรงงานชั่วคราวตามข้อกำหนด คิดเป็น 51.8% รองลงมา สถานประกอบการไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติไทยได้เพียงพอต่อความต้องการ คิดเป็น 49.4% และมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัด คิดเป็น 41.6%

สำหรับมาตรการที่ภาครัฐควรนำมาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การสนับสนุนเงินอุดหนุนในการจ้างแรงงานไทย และขยายโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ คิดเป็น 50.0% รองลงมา เป็นการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมทดแทนการใช้แรงงาน คิดเป็น 48.8% และการอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้เอ็มโอยูเฉพาะแรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว มีการทำประกันสุขภาพ และต้องผ่านการกักตัว 14 วัน เข้ามาทำงาน คิดเป็น 45.8%

เจาะลึกถึงมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การเร่งจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้กับแรงงาน ม.33 คิดเป็น 92.8%

รองลงมา การสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลแรงงานที่ติดเชื้อ และสนับสนุนยา อาหาร และเวชภัณฑ์ให้แก่แรงงานที่ติดเชื้อในการรักษาตัวที่บ้าน คิดเป็น 69.9%

และการลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือ 1% ถึงสิ้นปี 2564 คิดเป็น 66.9%

เหล่านี้คือความเคลื่อนไหวของภาคอุตสาหกรรมที่ทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาการผลิตท่ามกลางโควิดที่กำลังโจมตีกำแพงโรงงาน