ควันหลงหลังการหยุดยิง อิสราเอล-ฮามาส (จบ)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ควันหลงหลังการหยุดยิง

อิสราเอล-ฮามาส (จบ)

 

ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ของ P.A. พยายามหาข้ออ้างที่จะยกเลิกการเลือกตั้งที่ล่วงเลยมายาวนาน ซึ่งตามเวลาที่ได้กำหนดไว้จะมีขึ้นในเดือนเมษายนปีนี้ (2010) ในดินแดนยึดครองด้วยความหวาดหวั่นว่าจะพ่ายแพ้ให้แก่ฮามาส

ส่วนบรรดาผู้นำของฮามาสก็มีความต้องการที่จะแสดงให้ประชาชนปาเลสไตน์เห็นว่า พวกเขาไม่เหมือน P.A. ทั้งนี้เพราะพวกเขามีความสมัครใจที่จะเผชิญกับอาณานิคมอิสราเอล แม้ว่าจะทำได้อย่างจำกัดก็ตาม

หกวันหลังจากการเตือนอิสราเอลมิให้รุกรานชาวปาเลสไตน์ในชัยค์ ญัรเราะห์ ฮามาสได้ยิงจรวดลูกแรกเข้าสู่นครเยรูซาเลม ดูเหมือนว่าการตัดสินใจมีขึ้นหลังจากตำรวจอิสราเอลบุกเข้าไปในมัสญิดอัล-อักซออีกครั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม และเผชิญหน้ากับผู้มาละหมาดอย่างรุนแรงที่สุดโดยมีการใช้ทั้งระเบิดขวด กระสุนยาง และแก๊สน้ำตาแก่ผู้มาละหมาดที่มัสญิด

ในการปะทะระหว่างสองฝ่ายที่ตามมา ชาวปาเลสไตน์นับร้อยคนได้รับบาดเจ็บ หลายคนบาดเจ็บสาหัสในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน

ชาวมุสลิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวปาเลสไตน์มองการกระทำของเจ้าหน้าที่ของอิสราเอลว่าเป็นการดูถูกศาสนาและอัตลักษณ์ของพวกเขา

ในเวลานั้นมีความพยายามที่มาอย่างล่าช้าจากรัฐบาล Netanyahu ที่จะลดความตึงเครียดลง ด้วยการขอให้ชาวยิวอยู่นอกบริเวณมัสญิดอัล-อักซอ

ในขณะที่ศาลสูงอิสราเอลก็เลื่อนการรับฟังการรื้อถอนบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์ที่อัล-ญัรเราะห์ออกไป

แต่สามวันต่อมาตำรวจก็เข้าไปบุกบริเวณที่มีมัสญิดตั้งอยู่ ใช้ระเบิดและกระสุนยางต่อต้านชาวปาเลสไตน์ที่มารวมตัวกันอยู่เพื่อปกป้องมิให้กลุ่มฝ่ายขวาอิสราเอลเข้ามา

กลุ่มชาวยิวสุดโต่งอ้างว่าพวกเขามีสิทธิที่จะเข้ามายังมัสญิดอัล-อักซอในฐานะที่บริเวณเดียวกันนี้เป็นที่ตั้งของ Temple Mount ที่ชาวยิวให้การเคารพ

วิธีการปราบปรามอย่างหนักหน่วงที่ตำรวจอิสราเอลนำเอามาใช้กับชาวปาเลสไตน์ไร้อาวุธกลุ่มนี้ถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก ในเย็นวันเดียวกันจรวดลูกแรกจากกาซาได้ตกลงในนครเยรูซาเลม

การยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอลของฮามาสเปิดโอกาสให้อิสราเอลหาข้ออ้างที่จะ “ตัดหญ้าในสวน” อีกครั้งหนึ่งอย่างที่นักเขียนชาวปาเลสไตน์ กล่าวถึงฮามาสเอาไว้ใน The New York Times ว่าพรรคการเมืองใดๆ ก็แล้วแต่ที่ครอบครองกาซา จะไม่มีข้อเลือกยกเว้นการตอบโต้รัฐบาลอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม

รวมทั้งความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวปาเลสไตน์ในเดือนเราะมะฎอน

การอ้างชัยชนะของทั้งสองฝ่าย

 

หลังจากการประกาศหยุดยิงมีขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามของนักการทูตอียิปต์ ทั้งอิสราเอลและฮามาสต่างก็รีบประกาศถึงชัยชนะของตน

การหยุดยิงที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นการตกลงของ “ทั้งสองฝ่ายและไม่มีเงื่อนไข”

ก่อนหลุดจากอำนาจไม่นาน Netanyahu ออกมาคุยว่าปฏิบัติการของทหารอิสราเอลต่อ “กลุ่มต่างๆ ของผู้ก่อการร้าย” ในกาซา “เป็นความสำเร็จที่หาได้ยาก”

ในขณะที่ผู้นำอย่างอิสมาอีล ฮานียะฮ์ (Ismail Haniyah) ของฮามาสอ้างว่าอิสราเอล “ต้องพบกับความเจ็บปวดและการสวนกลับที่รุนแรง ซึ่งจะมีบาดแผลลึกคงเหลือไว้ให้”

โฆษกฮามาสกล่าวว่า การหยุดยิงมาจากเงื่อนไขที่ว่าอิสราเอลต้องยกเลิกการรื้อถอนบ้านเรือนชาวปาเลสไตน์ในบริเวณมัสญิดอัล-อักซอ

ฮานียะฮ์กล่าวว่า อิสราเอลประสบความล้มเหลวที่จะรักษาจุดหมายใดๆ ในการรณรงค์ทางการทหารเพื่อต่อต้านกลุ่มติดอาวุธต่อต้านอิสราเอลในกาซาได้

นักการเมืองอิสราเอลหลายคนที่มาจากฝ่ายขวากล่าวว่าการหยุดยิงเป็น “การยอมจำนนที่น่าอับอาย” สำหรับรัฐบาล Netanyahu

ก่อนหน้านี้ท้องถนนของปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีการประท้วงเกิดขึ้นมากนัก หลังจากรัฐบาลสหรัฐย้ายสถานทูตของตนมาอยู่ที่นครเยรูซาเลมในปี 2018 หรือหลังจากรัฐมุสลิมบางรัฐอย่างเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และซูดาน ลงนามข้อตกลงที่เรียกว่า “Abraham Accords” กับอิสราเอลในปี 2020 เพื่อมีความสัมพันธ์ขั้นปกติกับรัฐยิว แต่ล่าสุดกลุ่มก้อนของชาวปาเลสไตน์ดูเหมือนจะรวมตัวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว

ชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอลและในดินแดนยึดครองประสบความสำเร็จในการออกมาเดินขบวนร่วมกันหนึ่งวัน เพื่อความเป็นปึกแผ่นกับกาซาเมื่อการถล่มที่อยู่อาศัยของชาวกาซาโดยอิสราเอลดำเนินต่อไป

 

การรวมตัวกันอย่างหนาแน่นตามท้องถนนในดินแดนยึดครองเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลุกฮือ (intifada) ต่อต้านการยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์และนโยบายเลือกปฏิบัติที่รัฐบาลไซออนิสต์ในอิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์กลับมาอีกครั้ง

ชาวปาเลสไตน์ไม่น้อยกว่า 28 คน ถูกสังหารโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงของอิสราเอลในดินแดนยึดครองทั้งหลาย

รูปแบบการแก้ไขปัญหาของชาวปาเลสไตน์ที่แสดงให้เห็นด้วยการเผชิญหน้ากับผู้กดขี่ไม่ได้มีให้เห็นมาตั้งแต่มีข้อตกลงออสโล (Oslo Agreement) แล้ว

“ความเป็นปีศาจ” ของฮามาสในฐานะองค์กร” ผู้ก่อการร้าย” ตามที่ตะวันตกเรียกขานจะไม่แบ่งแยกชาวปาเลสไตน์ออกจากกัน

พวกเขารู้ว่าฮามาสเข้าสู่การต่อสู้เมื่อตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ตึงเครียด หลังจากชาวอาหรับถูกปราบปรามอย่างหนักตามท้องถนน โดยกองกำลังของผู้ยึดครองทั้งในนครเยรูซาเลมและเมืองอื่นๆ

ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 ท่ามกลางการถูกถล่มที่กาซาและการที่ชาวปาเลสไตน์ถูกประชาทัณฑ์ โดยม็อบฝ่ายขวาของชาวยิวในดินแดนยึดครองที่เวสต์แบงก์นั้น ชาวปาเลสไตน์ได้มารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงการครบรอบปีที่ 73 ของวันนักบะฮ์ (Al-Nakba) หรือวันแห่งความสูญสิ้น

อันเป็นวันที่พวกเขาสูญเสียผืนแผ่นดินให้กับผู้อยู่อาศัยชาวยิวและรัฐอิสราเอลได้รับการสถาปนาขึ้นมา

มิใช่ชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอลและในดินแดนยึดครองเท่านั้นที่หวนระลึกถึงการครบรอบปีของการสูญเสียดินแดน

แต่ชาวปาเลสไตน์ในจอร์แดนและเลบานอนก็เดินทางร่วมกันมายังชายแดนของอิสราเอลเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกับภารกิจของชาวปาเลสไตน์ และส่งสารไปยังโลกว่าพวกเขาจะไม่ยอมสูญเสีย “สิทธิที่จะคืนกลับมา” ยังมาตุภูมิของพวกเขาแต่อย่างใด

แน่ล่ะ การต่อสู้ที่รออยู่ข้างหน้าพวกเขาเป็นภารกิจที่แสนจะยากลำบาก และยาวนานสำหรับพวกเขา

 

3วันหลังการหยุดยิงได้ถูกประกาศออกมา ตำรวจอิสราเอลและยิวสุดโต่งเข้าถล่มบริเวณที่ตั้งมัสญิดอัล-อักซออีกครั้ง

หน่วยงานความมั่นคงของอิสราเอลได้เริ่มปราบปรามและจับกุมชาวปาเลสไตน์ที่ออกมาประท้วงการรื้อถอนบ้านเรือนชาวปาเลสไตน์ในชัยค์อัล-ญัรเราะฮ์ อัล-อักซอ และกาซา

ในวันที่ 25 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของอิสราเอลได้สังหารอะห์มัด ฟาห์ด (Ahmad Fahd) หนุ่มชาวปาเลสไตน์กลางวันแสกๆ ในชานเมืองรามัลลอฮ์ (Ramallah) ของเวสต์แบงก์

ในความขัดแย้งครั้งนี้มีแหล่งข่าวจากนักศึกษาปาเลสไตน์และสำนักข่าวอัลญะซีเราะฮ์ที่รายงานตรงกันว่าจรวดของฮามาสที่ถล่มอิสราเอลนั้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นจรวดที่ไม่ต่างไปจากบั้งไฟหรือจรวดปลอมที่มีราคาแค่ลูกละ 30 เหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ส่วนที่เหลือเป็นจรวดจริง

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจรวดชนิดใดก็ได้รับการดักจับจาก Iron Dome ทั้งสิ้น ซึ่งทำให้เกิดการสิ้นเปลืองจากการคอยตอบโต้จรวดดังกล่าวของฮามาสอย่างมหาศาล

และนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ฮามาสอ้างเอามาเป็นหนึ่งในชัยชนะของพวกเขาบวกกับการที่อิสราเอลยอมหยุดยิงอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งความจริงในเรื่องนี้จะมีแค่ไหนเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

รัฐบาลของอิสราเอลกำลังเดินตามนโยบายของอดีตรัฐบาลอาณานิคมที่เข้ามาตั้งอยู่ในดินแดนของผู้อื่นแล้วเข้าปราบปรามประชาชนหรือก่อสงครามกับดินแดนหรือประเทศที่ตนเองยึดครอง กรณีที่เห็นได้ชัดเจนคือฝรั่งเศสที่เข้ายึดครองแอลจีเรีย และกว่าแอลจีเรียจะได้รับเอกราชพวกเขาต้องเสียชีวิตไปถึงหนึ่งล้านคนจากน้ำมือของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าโครงการของเจ้าอาณานิคมมักจะพังทลายลงด้วยการแตกแยกในที่สุด