2503 สงครามลับ สงครามลาว (40)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (40)

 

8 ธันวาคม พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร รับหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อ บทบาทของประเทศไทยในสมรภูมิลาวขยายตัวยิ่งขึ้นไปอีก

จากกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่เข้าไปร่วมรบในลาวเพียงระยะสั้นๆ ก็ขยายตัวเป็นปักหลักถาวรเพื่อป้องกันเมืองสุย-ชายขอบทุ่งไหหินในนามของ “กองร้อยเอสอาร์” ตั้งแต่ พ.ศ.2507

กระทั่งเผชิญหน้ากับกำลังที่เหนือกว่าของเวียดนามเหนือ จนกองร้อยเอสอาร์ 8 ต้องถอนตัวกลับเมื่อมิถุนายน พ.ศ.2512

พ.ศ.2513 ทหารไทยกลับสู่สมรภูมิลับในลาวอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ไม่เพียงแต่กองร้อยทหารปืนใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีกำลังทหารราบ “ราชินีแห่งสนามรบ” อีกด้วย

 

สงครามในลาวกำลังขยายตัว…

พ.ศ.2513 ลาววิกฤต

การถอนตัวของกองร้อยเอสอาร์ 8 เมื่อ พ.ศ.2512 ส่งผลอย่างสำคัญต่อการรบ

เวียดนามเหนือทุ่มเทกำลังเข้าสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มี “เส้นทางโฮจิมินห์” พาดผ่าน จนกระทั่งสามารถเข้ายึดทุ่งไหหินและเมืองสุยไว้ได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2513 ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของเส้นทางโฮจิมินห์ หัวใจหลักของสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้

รวมทั้งมีสิ่งบอกเหตุว่าจะไม่หยุดยั้งอยู่แค่เพียงทุ่งไหหินเท่านั้น แต่เป้าหมายต่อไปคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ พื้นที่ด้านใต้ลงไป ล่องแจ้ง ศาลาภูคูณ และท่าเวียง เพื่อควบคุมพื้นที่ทุ่งไหหินให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อทุ่งไหหินและเมืองสุยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเวียดนามเหนือแล้ว กำลังทหารกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 โดยการนำของนายพลวังเปาก็ต้องร่นถอยมาทางใต้ แล้ววางกำลังตั้งรับตามแนวบ้านนา-ภูล่องมาด-ถ้ำตำลึง-ภูผาไซ-คังโค้

โดยใช้ล่องแจ้ง และซำทองเป็นที่มั่นสุดท้าย

กลางเดือนมีนาคม 2513 เวียดนามเหนือเปิดการรุกรบขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง กองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 ของนายพลวังเปาจึงอยู่ในภาวะอันตรายหนักยิ่งขึ้น และเกือบจะต้องเสียที่มั่นสำคัญบริเวณล่องแจ้งไปอีก

รัฐบาลลาวโดยมีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกรัฐมนตรีและด้วยการสนับสนุนจากอเมริกา จึงได้ร้องขอกำลังรบของไทยไปสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาว

เพื่อป้องกันล่องแจ้งและซำทอง ที่มั่นสุดท้ายของสมรภูมิทุ่งไหหิน

 

2 กองพันทหารราบ 2 กองร้อยทหารปืนใหญ่

26 กุมภาพันธ์ 2513 รัฐบาลไทยได้เปิดการประชุม “คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในราชอาณาจักรลาว – คณะกรรมการ คท.” ครั้งที่ 16 เป็นการเร่งด่วน จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้จัดทำ “โครงการวีพี” และให้กองทัพบกเตรียมจัด “กองร้อยทหารปืนใหญ่ทดลอง 12/1 (เอสอาร์ 9)” เพื่อส่งเข้าปฏิบัติการสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 ที่ล่องแจ้ง โดยใช้นามรหัส “เอวีพี-1”

กองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี-1 จะเป็นหน่วยแรกในโครงการวีพี ที่เข้าปฏิบัติการในพื้นที่การรบเพื่อช่วยกอบกู้สถานการณ์บริเวณโล่งแจ้ง

ต่อมารัฐบาลลาวยังได้ร้องขอกำลังทหารราบขนาดกรมผสม ซึ่งมีหน่วยรบหลัก 3 กองพันทหารราบจากไทยไปเพิ่มเติมกำลังอีก โดยรัฐบาลอเมริกาจะให้การสนับสนุนทั้งสิ้นต่อการปฏิบัติของกำลังทหารไทย

จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้สั่งการให้กองทัพบกส่งกำลัง 1 กองพันทหารราบเข้าปฏิบัติการสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 โดยทันที และให้เตรียมกำลังเพิ่มเติมอีก 2 กองพันทหารราบ โดยให้จัดกำลังรบหลักจากกรมผสมที่ 13 อุดรธานี และให้สนธิกำลังจากกรมผสมที่ 3 นครราชสีมา และกรมผสมที่ 6 อุบลราชธานี

แล้วส่งมอบการบังคับบัญชาให้หน่วยผสม 333 ซึ่งมี พ.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ “เทพ” เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสมรภูมิลับในลาว

หน่วยผสม 333 ได้ส่งกำลังทั้งหมดที่ได้รับมอบคือ 3 กองพันทหารราบ 2 กองร้อยทหารปืนใหญ่ (เอวีพี-1 และเอวีพี-2 ที่จัดเพิ่ม) และกองบังคับการ ฉก.วีพี ตามโครงการ “วีพี” ให้เข้าปฏิบัติการในเขตกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 ที่มีทุ่งไหหินเป็นสมรภูมิ

หน่วยทหารปืนใหญ่ ใช้นามรหัส “เอวีพี (ARTILLERY VANG PAO)” ประกอบด้วยกองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี-1” และกองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี-2” ส่วนหน่วยทหารราบใช้นามรหัส “ไอวีพี (INFANTRY VANG PAO)” ประกอบด้วยกองพันทหารราบ “ไอวีพี-11”, “ไอวีพี-12” และ “ไอวีพี-13” ตามลำดับ

 

“เอวีพี-ทหารปืนใหญ่”

กองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี-1” ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการและจัดกำลังพลจากหน่วยทหารปืนใหญ่ต่างๆ โดยกำหนดเป็นโควต้าแบ่งเฉลี่ยให้ทุกหน่วยตามความเหมาะสม มี ร.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี เป็นผู้บังคับกองร้อย ร.ท.อุดม บุญมา เป็นรองผู้บังคับกองร้อย และ ร.ต.เกษมชาติ นเรศเสนีย์ เป็นผู้ช่วยรองผู้บังคับกองร้อย

กองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี-2” กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการและจัดกำลังพลจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 อุดรธานี

มี พ.ต.อำพน บุตรเมฆ เป็นผู้บังคับทหารปืนใหญ่ทางยุทธวิธี ควบคุมการปฏิบัติของทั้งสองกองร้อยทหารปืนใหญ่ ร.อ.ทองมา วุฒิเสน เป็นผู้บังคับกองร้อย ร.ท.พินัย มีบุศย์ เป็นรองผู้บังคับกองร้อย ร.ต.พงษ์เสริม นภาพงษ์รัชนี เป็นผู้ช่วยรองผู้บังคับกองร้อย

 

“ไอวีพี-ทหารราบ”

กองพันทหารราบ “ไอวีพี-11” กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการและจัดกำลังพลจากกองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 13 มี พ.ท.ชาญ สะท้อนดี เป็นผู้บังคับพัน พ.ต.จรูญ สุกใส เป็นรองผู้บังคับกองพัน

กองพันทหารราบ “ไอวีพี-12” กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการเช่นเดียวกัน จัดกำลังพลจากกองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 13 มี พ.ท.สง่า สายมงคล เป็นผู้บังคับกองพัน ร.อ.ศักดิ์ แก้วก่า เป็นรองผู้บังคับกองพัน

“ไอวีพี-13” กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการเช่นเดียวกัน จัดกำลังพลจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 13 เพิ่มด้วยกองพันทหารราบจากกรมผสมที่ 6-1 กองร้อย และจากกองพันทหารราบ กรมผสมที่ 3-2 กองร้อย โดยมี พ.ท.ไพศาล คำสุพรหม เป็น ผบ.พัน และ พ.ต.สนอง สุทธา เป็นรอง ผบ.พัน

นี่จึงนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของประวัติศาสตร์แห่งสมรภูมิลับในลาว ที่กำลังทหารประจำการจากหน่วยรบหลัก “ทหารปืนใหญ่-ราชาแห่งสนามรบ” จะได้ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมสำแดงพลานุภาพกับ “ทหารราบ-ราชินีแห่งสนามรบ”

มีนาคม 2513 นักรบไทยทุกคนเหล่านี้ถอดเครื่องหมายบนเครื่องแต่งกายชุดสนามออก แปลงร่างเป็น “นักรบนิรนาม” ทยอยเดินทางข้ามโขงเข้าสู่สมรภูมิเพื่อช่วยเหลือเพื่อนแห่งโลกเสรี

จากนี้ไปการสู้รบจะรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้ออย่างถึงที่สุด…