2503 สงครามลับ สงครามลาว (37)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (37)

 

กองทัพบกไทยได้จัดส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่ไปป้องกันเมืองสุยในนาม “กองร้อยเอสอาร์” ติดต่อกันรวม 9 รุ่นจาก พ.ศ.2507 จนถึงปี พ.ศ.2514 ซึ่งทำให้ทหารฝ่ายรัฐบาลลาวสามารถครองความได้เปรียบในสนามรบอย่างต่อเนื่อง

หนังสือ “คนไทยในกองทัพแห่งชาติลาว” ของ “ภูสิน สินบันเทิง” ได้บันทึกการปฏิบัติงานของกองร้อยเอสอาร์รุ่นต่อๆ มาว่ามีลักษณะผ่อนคลายมากขึ้น ขวัญกำลังใจเข้มแข็ง ดังที่นายทหารในเอสอาร์ 7 ท่านหนึ่งเล่าว่า…

“ปลายมิถุนายน 2516 เอสอาร์ 6 ได้สร้าง บก.ใหม่ที่บ้านค่ายก่อนที่เอสอาร์ 7 จะมาปฏิบัติงาน สร้างด้วยไม้สนเป็นอาคารชั้นเดียวแต่กว้างขวาง มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ห้องรับแขก และห้องสมุด อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเครื่องดื่มต่างๆ ไม่ว่ากาแฟ นม เนย จนกำลังพลนำไปแบ่งให้สุนัขกินเพื่อช่วยอยู่เวรยาม สำหรับนายทหารจะมีเครื่องดื่มไม่ว่าเหล้าฝรั่ง หรือเบียร์ในตู้เย็น น้ำมันก๊าดตลอดเวลา (สมัยนั้นยังไม่นิยมดื่มไวน์กัน)”

“ที่ บก.บ้านค่ายจะมีหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษให้อ่าน ซึ่งจะมาพร้อมกับเครื่องบินเมล์เป็นปึกๆ เมื่อถึงเอสอาร์ 7 มีอาคารสำนักงาน อาคารที่พักของนายทหารมีเครื่องทำน้ำอุ่นใช้ตลอดเวลา มีอาคารรับประทานอาหารของนายทหารซึ่งใช้เป็นโรงหนัง หลังจากรับประทานอาหารเย็นเสร็จมีภาพยนตร์ใหม่เอี่ยมจากสหรัฐอเมริกามาฉายทุกคืน ในตู้เย็นจะมีเบียร์และโซดาแช่เย็น สุราฝรั่งพร้อม”

“ณ ฐานยิงนี้ยังมีโรงเลื่อยไม้ ซึ่งใช้ใบเลื่อยต่อจากเพลารถ 2 1/2 ตัน ไม้ที่เข้าเลื่อยจะเป็นไม้สน เตาเผาอิฐเพื่อทำอิฐใช้ในการทำฐาน ป.และอาคารบ้านพัก ช่างตัดเย็บผ้ามีจักรเย็บผ้าพร้อมเพื่อทำเสื้อฝน เสื้อกันหนาว และช่างโลหะเพื่อทำเครื่องโลหะจากปลอกกระสุนตามขนาดต่างๆ ซึ่งใช้เป็นของชำร่วยอย่างดี”

“กองร้อยเอสอาร์ผลัดต่อๆ มาได้ผ่อนคลายมากขึ้น สวัสดิการดีขึ้น การบำรุงขวัญดีขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ความมุ่งหมายก็แปรไป พัฒนาไปตามเวลาและสถานการณ์ (ที่ว่าไม่มีอะไร) กองร้อยเอสอาร์ผลัดแล้วผลัดเล่าจากการที่มีเพียงเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการรบ พัฒนาเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก และพัฒนาเป็นเครื่องบำรุงความสุขจากการ ‘ต้อง’ ไปรบก็กลายเป็นต้อง ‘แย่ง’ กันไปรบ”

“ท่านผู้มีประสบการณ์และได้ร่วมอยู่ในเอสอาร์ 7 ท่านหนึ่งบันทึกว่า กำลังพลที่ได้รับการคัดเลือกไปถือว่าเป็นผู้โชคดี ส่วนมากมักจะเป็นผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในหน่วยต้นสังกัดและผู้บังคับบัญชาชอบ”

 

สถานการณ์เปลี่ยน

สถานการณ์ที่ทหารลาวฝ่ายขวาครองความได้เปรียบเริ่มเปลี่ยนไปในปี พ.ศ.2511 ในช่วงกองร้อยเอสอาร์ 7 ที่มี พ.ต.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง “รุจา” เป็นผู้บังคับกองร้อย

การสู้รบได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทหารฝ่ายเวียดนามเหนือกับทหารขบวนการประเทศลาวได้ยกระดับการปฏิบัติการทางทหารรุนแรงขึ้น

ดังมีบันทึกคำบอกเล่าของ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ “เทพ” ในหนังสือ “ด้วยความรู้สึกในวันวานของ เทพ 333” ของเรืองยศ จันทรคีรี

ดังนี้

“พล.ท.วิฑูรย์เคยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังทั้งเห็นพ้องกับคนอื่นด้วยว่า เรื่องราวในสนามรบเมืองสุยถือเป็นประสบการณ์น่าหวาดเสียวมากยิ่งกว่าการสู้รบครั้งใดๆ เท่าที่เคยผ่านมา แม้กระทั่งเหตุการณ์คราวสู้รบ 17 วัน 17 คืนบริเวณทิวเขาล่องแจ้งก็ยังมีความน่าเสียวไส้สู้ไม่ได้เอาเลย

เขาจำได้ว่า กองกำลังทหารที่ตั้งอยู่ในเมืองสุยขณะนั้นเป็นหน่วยทหารปืนใหญ่มีกำลังของทหารไทยราวไม่เกิน 200 นายถูกฝ่ายเวียดกงและขบวนการประเทศลาวรายล้อมอยู่ด้วยปริมาณที่พอสมควร

ในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการรบจึงต้องออกตรวจแนวรบ โดยนั่งไปบนเรือบินพอตเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องบินประเภทเครื่องยนต์เดียว มีนักบินชาวอเมริกันคอยทำหน้าที่ นอกจากนักบินกับเสธ.วิฑูรย์แล้ว ก็ยังมีอยู่ในทหารอีกคนที่ร่วมบินไปสังเกตการณ์ด้วย

สำหรับ ผบ.หน่วยรบที่อยู่ข้างล่างนั้นกำลังสั่งยิงตูมตามอยู่กับข้าศึกจ้าละหวั่น ขณะที่เครื่องบินของ ‘นายเทพ’ บินผ่านไป เขามองจากทางอากาศลงไปเห็นลูกน้องยังซัดกันนัวเนียกับฝ่ายปิดล้อมจึงวิทยุถามลงเป็นโค้ดว่าสถานการณ์ข้างล่างเป็นอย่างไรบ้าง

พ.ต.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง (ยศขณะนั้น) จึงตอบดังขึ้นมาว่า “พี่เทพอยากรู้ก็ลงมาดูเอาเองเถอะ” ซึ่งการที่ ผบ.หน่วยรบตอบเช่นนั้นขณะที่ยังยิงกันเปรี้ยงปร้างก็เพราะด้วยคิดว่า ถึงอย่างไร ‘นายเทพ’ คงไม่บินลงไปดูเหตุการณ์เด็ดขาด และตามปกติแล้ว พ.ต.สมบัติก็เป็นนักรบที่สุภาพเรียบร้อยผู้หนึ่ง แต่ขณะนั้นคงยังคิดคำพูดไม่ถูกเหมือนกันว่าจะตอบเช่นไรดี จึงพูดออกไปเป็นเชิงประชดนายเล็กน้อย

เสธ.วิฑูรย์เลยกรอกคำพูดกลับไปว่า ‘โอเค’ แล้วหันไปถามนักบินเป็นภาษาอังกฤษว่า มีสนามฟุตบอลอยู่สนามหนึ่งมีถนนเล็กๆ ตรงกลาง ไม่ทราบเครื่องบินจะลงได้ไหม สนามฟุตบอลแห่งนั้นเป็นเพียงสนามฟุตบอลของพวกเด็กๆ ใช้เล่นกัน บริเวณฐานนั้นไม่มีที่ตรงอื่นอีกแล้วที่จะเป็นที่จอดของเครื่องบินพอตเตอร์ได้เลย

เมื่อถูกถามเช่นนั้น นักบินก็ตอบว่า ‘ลงได้ แต่ดูเหมือนว่าจะคล้ายเป็นการฆ่าตัวตาย’ ในสนามรบใครๆ ก็มีสำนวนโวหารหรือแสดงกวนอารมณ์กันเช่นนี้เสมอ ‘แน่ใจหรือ’ เสธ.วิฑูรย์ถามย้ำอีกครั้ง ‘look like make suicide …ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น หากทางบริษัทเขาจะไล่ผมออก ก็ช่วยปกป้องด้วยนะ’ นักบินฝรั่งคนนั้นตอบเทพ 333

‘โอเค’ เจเนอรอลเทพออกคำสั่งตามขึ้นมา เครื่องบินพอตเตอร์จึงร่อนลงปั๊บทันควัน แล้วมันก็เกือบจะเป็นการฆ่าตัวตายไปจริงๆ เพราะสามารถปรับใบพัดสุดท้ายได้ก็ขณะที่เครื่องบินหยุดก่อนถึงรั้วลวดหนามพอดิบพอดี ด้วยเส้นทางที่แคบ สั้นและขรุขระทำให้เครื่องบินเสียหลักพอสมควร เกือบหัวทิ่มไปข้างหน้า กระทั่งใบพัดกระแทกพื้นบิดงอเล็กน้อย ตอนขาขึ้นกลับค่อนข้างทุลักทุเลมาก

ไม่มีใครเขาจะเชื่อหรอกว่าเครื่องบินลำนั้นจะสามารถลงบนถนนเล็กๆ ในสนามฟุตบอลเด็กเล่นแห่งนั้นได้ คนที่อยู่ข้างล่างต่างแตกตื่นพากันวิ่งมาดูจนแทบจะเลิกยิงกับข้าศึกไปเสีย การที่เขาต้องกระทำแบบนั้นก็มิใช่จะไปโกรธเคืองผู้ใด ไม่มีอะไรตำหนิ พ.ต.สมบัติแม้จนนิดเดียว หากแต่ด้วยความห่วงใยลูกน้องของตัวเองในสนามรบยามคับขันนั่นแหละ

วันนั้นเขาเข้าไปร่วมรบอยู่ในสนามรบเมืองสุย ประจำในฐานเสียหลายสัปดาห์”