คณะราษฎร วังวินด์เซอร์ ศาลสนามสถิตยุติธรรม | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ
วังวินด์เซอร์

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ 

คณะราษฎร วังวินด์เซอร์ ศาลสนามสถิตยุติธรรม 

ระเด็นสุดท้ายที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับ “คณะราษฎรศึกษา” คือความเข้าใจผิดบางประการต่อประวัติศาสตร์ยุคคณะราษฎรที่แพร่กระจายอย่างมากหลังการรัฐประหาร 2557 โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง 

ในบทความนี้อยากชี้ให้เห็นเพียง 2 กรณี โดยกรณีหนึ่งเป็นความเข้าใจผิดระดับข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น 

ส่วนอีกกรณีเป็นเรื่องของการตีความ ซึ่งแน่นอนนะครับ การตีความอาจทำได้หลายแบบ และคงยากที่จะตัดสินว่าแบบใดถูกต้อง 

อย่างไรก็ตาม ผมเพียงอยากลองชวนให้มองไปอีกแบบหนึ่ง ส่วนจะน่าเชื่อถือหรือไม่ ย่อมเป็นเสรีภาพทางความคิดของคนอ่าน 

 

กรณีแรกคือ การรื้อวังวินด์เซอร์ 

วังแห่งนี้ รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นโดยตั้งใจให้เป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (มกุฎราชกุมาร) โดยวังนี้ตั้งอยู่บริเวณทุ่งปทุมวัน แต่สุดท้ายเจ้านายพระองค์นี้ได้เสด็จทิวงคตเสียก่อนที่วังจะสร้างเสร็จ วังดังกล่าวถูกทิ้งร้าง ต่อมาถูกใช้เป็นโรงเรียนและสถานที่ราชการเรื่อยมา จนสุดท้ายถูกรื้อลงเพื่อสร้างเป็น “สนามศุภชลาศัย” (สนามกีฬาแห่งชาติ) 

ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่รับรู้มายาวนานโดยมิได้มีประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การรื้อวังดังกล่าวได้ถูกยกมาเป็นประเด็นดราม่าอย่างมากในโลกออนไลน์ 

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นภายใต้การรื้อถอนอนุสาวรีย์และวัตถุสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างกว้างขวางในมวลชนฝ่ายที่มีแนวคิดต่อต้านการรัฐประหาร เพราะหลายชิ้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และบางแห่งมีคุณค่าสูงมากในระดับที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ 

แต่ในทางตรงข้าม มวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารต่างออกมาโต้ว่า สมควรแล้วที่สิ่งเหล่านั้นถูกรื้อไป 

และบางส่วนยังได้กล่าวว่า การรื้อเช่นนี้ เมื่อครั้งที่คณะราษฎรมีอำนาจก็ทำแบบเดียวกัน โดยยกกรณีการรื้อ “วังวินด์เซอร์” ขึ้นมาเป็นตัวอย่างประกอบ 

ความเห็นนี้ยกระดับไปไกลมากขึ้นจนถึงขนาดพูดกันว่า การรื้อวังวินด์เซอร์เป็นเพราะคณะราษฎรเกลียดเจ้า 

การรื้อในสองกรณีนี้ ผมคิดว่าเราไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้เลยนะครับ เพราะการรื้ออนุสาวรีย์ยุคคณะราษฎรเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และกฎหมาย (กรณีรื้ออนุสาวรีย์ปราบกบฏคือตัวอย่าง) ส่วนกรณีรื้อวังวินด์เซอร์ เกิดขึ้นจากเหตุผลทางด้านประโยชน์ใช้สอยโดยตรง 

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า ผมไม่ปฏิเสธเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองผ่านงานสถาปัตยกรรมนะครับ การรื้อ การย้าย การสร้างทับ การสร้างอนุสาวรีย์แข่ง การเปลี่ยนชื่อ ฯลฯ ล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญในทุกสังคม 

คณะราษฎรก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาถนนราชดำเนินกลางที่ทับลงไปบนถนนราชดำเนินที่ตัดโดยรัชกาลที่ 5, การเปลี่ยนพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นอาคารรัฐสภา และการฝังหมุดคณะราษฎรลงบนลานพระบรมรูปทรงม้า 

แต่ทั้งหมดนี้ ถ้าศึกษาอย่างละเอียดจริงก็จะพบว่า คณะราษฎรไม่เคยต่อสู้ทางการเมืองกับระบอบเก่าโดยใช้วิธีรื้อวัตถุสัญลักษณ์ของระบอบเก่าเลย 

ยิ่งหากเราพิจารณาวังวินด์เซอร์ให้ดีก็จะพบว่า อาคารหลังนี้ก็มิได้มีนัยยะสำคัญทางการเมืองอะไรเลยนะครับ ตัวอาคารไม่เคยมีสถานะวัง (เป็นอาคารราชการธรรมดาๆ มาโดยตลอด) ไม่เคยมีเจ้านายประทับ และไกลห่างจากพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจมากเกินไป 

แต่ที่วังวินด์เซอร์ถูกรื้อเป็นเพราะตั้งอยู่ในโลเกชั่นที่เหมาะสมต่อการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติในบริบทยุคนั้น ด้วยการมีพื้นที่ขนาดใหญ่มากพอ แต่ก็ไม่ได้ไกลปืนเที่ยงจนเกินไป อีกทั้งยังใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ พื้นที่บางส่วนก็ปรับสภาพเรียบร้อยแล้ว มิได้เป็นทุ่ง เป็นไร่ เป็นสวนแต่อย่างใด ซึ่งคงประหยัดงบประมาณในการเปลี่ยนมาเป็นสนามกีฬาแห่งชาติได้ไม่มากก็น้อย 

ที่สำคัญคือ ทัศนะว่าด้วยการอนุรักษ์ “สถาปัตยกรรมตะวันตก” เพราะมีคุณค่าสูง ก็เป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดแค่ราว 50 ปีเท่านั้น (ไม่เก่าเกินกว่าทศวรรษ 2510 แน่) ก่อนหน้านั้น อาคารกลุ่มนี้มิได้ถูกมองว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อะไรนะครับ และก็ถูกรื้อลงมากมาย การรื้อวังบูรพาภิรมย์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน 

ด้วยเหตุนี้ กรณีรื้อวังวินด์เซอร์ จากหลักฐานและบริบทแวดล้อมที่มีอยู่ ผมจึงคิดว่าเราไม่สามารถประเมินการรื้อด้วยเหตุผลที่ต้องการทำลายสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ของระบอบเก่าได้เลย 

 

ศาลสนามสถิตยุติธรรม

รณีที่สอง การรื้ออาคาร “ศาลสนามสถิตยุติธรรม” ซึ่งกรณีนี้เป็นความเข้าใจผิดในระดับข้อเท็จจริง 

อาคารหลังนี้สร้างขึ้นในคราวฉลองพระนคร 100 ปี ตั้งอยู่บริเวณริมถนนราชดำเนินใน (บริเวณตำแหน่งที่เป็นอาคารศาลฎีกาปัจจุบัน) และถูกรื้อลงเพื่อสร้างอาคารศาลฎีกา ในช่วงหลังปี 2500 

ข้อเท็จจริงง่ายๆ ที่หาได้ทั่วไปแบบนี้ ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไรใช่ไหมครับ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ามีความพยายามที่จะบิดเบือนความจริงดังกล่าว 

ประเด็นดราม่าเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งหลังรัฐประหาร 2557 กล่าวว่าอาคารหลังนี้ถูกรื้อลงในยุคคณะราษฎร และพยายามโยงไปสู่ประเด็นเกลียดเจ้าอีกเช่นเคย 

แต่ความจริงคือ ในปี 2481 ภายใต้รัฐบาลคณะราษฎร ได้ทำการแก้ไขและปรับปรุงประมวลกฎหมายต่างๆ ตามมาตรฐานสากลเป็นที่เรียบร้อย ทำให้ประเทศสยามสามารถแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาชาติได้ ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตสำเร็จ และเป็นผลทำให้สยามได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาลกลับคืนมา นับตั้งแต่ที่ต้องเสียไปเมื่อคราวทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง 

ด้วยความสำคัญดังกล่าว รัฐบาลจึงได้วางแผนก่อสร้างกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดขึ้นใหม่ ประกอบด้วยกระทรวงยุติธรรม ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยสถานที่ตั้งคือพื้นที่บริเวณที่เป็นอาคาร “ศาลสนามสถิตยุติธรรม” และพื้นที่โดยรอบ 

ตามแผนผังที่ยังเหลือหลักฐานจนปัจจุบัน ตำแหน่งที่เป็น “ศาลสนามสถิตยุติธรรม” จะถูกรื้อลงและสร้างเป็นอาคารศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม ในยุคคณะราษฎร มีเพียงอาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรมและที่ทำการศาลอุทธรณ์เท่านั้นที่ดำเนินการก่อสร้างจริง ส่วนศาลฎีกาไม่ได้สร้าง ดังนั้น จึงมิได้มีการรื้ออาคารศาลสนามสถิตยุติธรรมลงแต่อย่างใด 

อาคารหลังนี้มาถูกรื้อลงในสมัยรัฐบาลรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงหลังปี 2500 เพื่อสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่แทนที่ แต่รูปแบบอาคารที่สร้างก็ไม่ได้สร้างตามรูปแบบที่คณะราษฎรวางแผนไว้แต่อย่างใด 

ด้วยเหตุนี้การรื้อ “ศาลสนามสถิตยุติธรรม” จึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับคณะราษฎร 

  

รณีประวัติศาสตร์พื้นฐานเรื่องการได้เอกราชทางการศาลคืนมาในปี 2481 ก็เช่นกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งตั้งใจที่จะไม่พูดถึงเลย โดยพยายามที่จะบอกว่าเอกราชทางการศาลนั้น สยามได้มาโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

ผมไม่ได้กำลังจะบอกนะครับว่า คณะราษฎรเป็นคนจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้เพียงกลุ่มเดียว ความพยามแก้ไขเรื่องนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การดำเนินการในหลายส่วนก็สำเร็จมาก่อนการปฏิวัติจริง แต่สิ่งที่คณะราษฎรทำต่อยอดสืบมาจนสำเร็จสมบูรณ์ ก็มีคุณูปการไม่น้อยเช่นกัน 

ทำไมเราไม่มองประเด็นนี้ว่าเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนานในการแก้ไข ทั้งรัฐบาลในระบอบเก่าและระบอบใหม่ล้วนมีเป้าหมายในเรื่องนี้แบบเดียวกัน และต่างก็สานต่องานกันจนสำเร็จลุล่วงในที่สุด 

ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่มี “ประวัติศาสตร์คณะราษฎร” เป็นสนามหนึ่งในการต่อสู้นั้น จำเป็นที่จะต้องต่อสู้กันจนละทิ้งข้อเท็จจริงไปจนหมดสิ้นเลยหรือ? 

ปรากฏการณ์นี้มันได้สะท้อนความป่วยไข้และการขาดจิตสำนึกทางการเมืองของสังคมไทยที่น่าเป็นห่วงยิ่ง การโจมตีทางการเมืองได้ไปไกลถึงในระดับที่ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานอะไรอีกต่อไปแล้ว 

ปัญหาดังกล่าว เป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้โครงการ “คณะราษฎรศึกษา” (ซึ่งผมพูดถึงโดยตลอดในบทความ 4-5 ชิ้นที่ผ่านมา) มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน 

ยืนยันอีกครั้งนะครับ คณะราษฎรไม่ใช่กลุ่มคนที่ดีเลิศจนวิจารณ์ไม่ได้ หรือไม่เคยทำอะไรผิดพลาดเลย (ผมกล่าวถึงด้านนี้ไปหลายครั้งแล้ว ขอไม่ยกมาพูดซ้ำ) 

แต่ประเด็นคือ การวิจารณ์ควรเกิดขึ้นบนฐานของข้อมูลและหลักฐานที่แน่นหนา ภายใต้การตีความที่มีกรอบวิธีที่ชัดเจน 

ที่สำคัญคือ ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงไม่ควรถูกบิดเบือนไม่ว่าเราจะยืนอยู่บนฐานคิดทางการเมืองชุดใดก็ตาม