โฟกัสพระเครื่อง : ราหูกะลาแกะ-ผ้ายันต์ราหู หลวงพ่อกริ่ง ปัญญาพโล วัดโพธิ์เลี้ยว จ.กาญจนบุรี

(ซ้าย) หลวงพ่อกริ่ง ปัญญาพโล (ขวาบน) ราหูกระลาแกะ หลวงพ่อกริ่ง (ขวาล่าง) ผ้ายันต์ราหู หลวงพ่อกริ่ง

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

โคมคำ / [email protected]

 

ราหูกะลาแกะ-ผ้ายันต์ราหู

หลวงพ่อกริ่ง ปัญญาพโล

วัดโพธิ์เลี้ยว จ.กาญจนบุรี

 

“หลวงพ่อกริ่ง ปัญญาพโล” หรือ “พระครูวิธานกาญจนกิจ” วัดโพธิ์ศรีสุขาราม (วัดโพธิ์เลี้ยว) อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

พระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่เมืองกาญจน์ วิทยาคมไม่เป็นสองรองใครในยุคนั้น

เป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อน้อย คันธโชโต วัดศรีษะทอง จ.นครปฐม เจ้าตำรับราหูอมจันทร์และวัวธนูที่โด่งดัง

ด้วยความที่เป็นศิษย์หลวงพ่อน้อย ทำให้วัตถุมงคลจำนวนไม่น้อยเกี่ยวข้องกับพระราหู

ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมคือ “ราหูกะลาแกะ” เริ่มสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2490 และสร้างเรื่อยมา

ลักษณะของกะลาที่แกะจะมีทั้งแบบที่เป็นรูปหยดน้ำและแบบเสมา ซึ่งจะแตกต่างจากหลวงพ่อน้อย ราหูเป็นสุดยอดวิชาที่ได้รับการถ่ายทอดโดยตรง

 

ราหูของหลวงพ่อกริ่งสร้างจากกะลาตาเดียวและตะกั่วเก่าจากอำเภอศรีสวัสดิ์

ด้านหน้า แกะเป็นรูปราหูอมจันทร์แบบเดียวกับของผู้เป็นอาจารย์ แต่จะแตกต่างกันที่รายละเอียด

ด้านหลัง มีรอยจารของหลวงพ่อกริ่ง

นอกจากนี้ ยังมี “ผ้ายันต์ราหู” ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ผ้ายันต์ดังกล่าวสร้างขึ้นในช่วงก่อนปี พ.ศ.2530 ลักษณะเป็นผ้าขนาดสี่เหลี่ยม โดยเขียนรูปราหูลงในผืนผ้า เป็นรูปราหูอมจันทร์ ในกรอบวงกลม จารอักขรยันต์ต่างๆ ตามตำรับวิชาหลวงพ่อน้อย

การบูชาราหูนั้นเชื่อว่าจะให้คุณด้านเสริมดวงชะตา โชคลาภ และแคล้วคลาดจากเคราะห์ต่างๆ โบราณาจารย์ถือเป็นเคล็ดว่า หากแม้ดวงชะตาถึงฆาตถึงที่จะตายโหงก็จะไม่ตาย

หรือแม้แต่ดวงชะตาตกต่ำ บูชาแล้วจะทำให้ดวงชะตาดีขึ้น

 

มีนามเดิมชื่อกริ่ง จินดากูล เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2460 ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเส็ง พื้นที่บ้านทวน ต.บ้านทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดาชื่อนายนาค และนางเทียบ จินดากูล

อายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2483 ที่พัทธสีมาวัดท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี มีพระครูวรวัตตวิบูลย์ เจ้าอาวาสวัดแสนตอ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการวุ้น พุทธสโร เจ้าอาวาสวัดท่าเรือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระใจ วัดแสนตอ เป็นอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาวัดวังศาลา ต.วังศาลา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี แต่หลังจากนั้นไม่นานท่านย้ายไปสังกัดวัดศรีษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อศึกษาธรรมและวิทยาคมจากหลวงพ่อน้อย เจ้าอาวาสวัดศรีษะทอง เกจิชื่อดังของเมืองนครปฐม เจ้าตำรับราหูอมจันทร์และวัวธนู

ในสมัยนั้นหลวงพ่อน้อยมีลูกศิษย์ก้นกุฏิอยู่ 2 รูป คือ พระสมและพระกริ่ง

จึงส่งพระสมให้ไปเรียนที่วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค และหลวงพ่อน้อยหวังจะให้รับช่วงเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจากท่าน

ขณะเดียวกันก็รู้ว่าพระกริ่งสนใจด้านวิทยาคม จึงได้เสกหมากเสกพลูให้พระกริ่งเคี้ยวทุกวัน ก่อนสอนวิชาวัวธนูและวิชาราหู

เป็นศิษย์ก้นกุฏิเพียงคนเดียวเท่านั้นที่หลวงพ่อน้อยครอบครูราหูให้ และช่วยหลวงพ่อน้อยจารกะลามาโดยตลอด เนื่องจากจารเองเพียงรูปเดียวไม่ทันเวลาในฤกษ์นั่นเอง

ครั้นเมื่อท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาจนเสร็จสิ้น จึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดหัวพงษ์ ในขณะนั้นมีเจ้าอาวาสรูปแรก นามว่า หลวงตาปั้น

ต่อมาหลวงตาปั้นออกธุดงค์แสวงหาความวิเวก และไม่ได้กลับมาที่วัดหัวพงษ์อีกเลย

ในปี พ.ศ.2487 ชาวบ้านจึงไปนิมนต์หลวงพ่อกริ่งจากวัดศรีษะทองมาจำพรรษา

 

ต่อมาขณะนั้นอยู่ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นตั้งค่ายอยู่ตรงหน้าวัดโพธิ์เลี้ยว

มีเรื่องเล่าขานกันว่า ครั้งหนึ่งเดินผ่านค่ายทหารญี่ปุ่นในยามวิกาล ทหารญี่ปุ่นเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ศึก ชักเอาดาบซามูไรฟันไปที่หลังจนจีวรขาด แต่ดาบซามูไรไม่ระคายผิวแม้แต่น้อย ทำให้ทหารญี่ปุ่นพากันนับถือยำเกรงเป็นอย่างมาก ขนาดขับรถจี๊ปให้นั่งไปกลับวัดศรีษะทองทุกครั้ง

เมื่อสงครามสงบลง ทหารญี่ปุ่นได้ถวายรถยนต์ เครื่องปั่นไฟให้ทั้งหมด

วัดโพธิ์เลี้ยวจึงเป็นวัดแรกๆ ของ จ.กาญจนบุรี ที่มีรถยนต์และเครื่องปั่นไฟใช้ก่อนใครสมัยนั้น

พ.ศ.2519 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิธานกาญจนกิจ

เป็นพระที่รักสันโดษและอดทนมั่นคง โดยในฤดูร้อนเกือบทุกปี ขณะที่พระรูปอื่นลาสิกขาเกือบหมด จะมีท่านอยู่เฝ้าวัดเพียงรูปเดียว สร้างถาวรวัตถุ และส่งเสริมการศึกษาพระภิกษุ-สามเณร

ด้วยความผูกพัน ก็ไม่เคยทิ้งวัดศรีษะทอง จ.นครปฐม สร้างคุณูปการต่างๆ กับวัดศรีษะทองเป็นอันมาก ดั่งผู้ปิดทองหลังพระ

ช่วงท้ายชีวิต ก่อสร้างอาคารเรียนวัดโพธิ์ศรีสุขาราม แต่เกิดอุบัติเหตุพลัดตกที่สูง กระดูกสันหลังอักเสบและขาเสีย

มรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2535 เวลา 16.30 น.

สิริอายุ 75 ปี พรรษา 52