ของดีมีอยู่ : ‘รุ่นลุง’ VS ‘รุ่นใหม่’ ระเบิดเวลาลูกใหญ่ในอนาคต / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ไม่แปลกถ้าเราจะมองกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ในตอนนี้ จากมุมมองของพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง พรรค/กลุ่มต่างๆ

ไม่ว่าจะในมุมของพรรคพลังประชารัฐและเครือข่าย เช่น 250 ส.ว., มุมของพรรคเพื่อไทย หรือมุมของพรรคก้าวไกลและกลุ่มรีโซลูชั่น

และไม่แปลกอีกเช่นกัน ถ้าเราจะหลงไปติดอยู่ในกรอบคิดที่ว่า “ศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญ” รอบนี้ วางพื้นฐานความขัดแย้งอยู่บนการสนับสนุน-นำเสนอ “ระบบ (นับคะแนน) เลือกตั้ง” ที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม เราอาจทดลองมองแนวทางการเคลื่อนไหวในการเสนอ “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่ผิดแผกกัน ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ผ่านประเด็นเรื่องฐาน “แฟนคลับ” ได้เช่นกัน

 

เวลาพูดถึง “แฟน” หรือ “แฟนคลับ” ของพรรคการเมือง คงต้องขออนุญาตอธิบายความเพิ่มเติมว่าคนเหล่านี้อาจมิได้มีสถานะเป็นเพียง “ผู้ลงคะแนน” ให้พรรคการเมืองต่างๆ ในวันเลือกตั้ง

แต่หมายถึง “ผู้สนับสนุน” ที่มีความผูกพัน และฝากความคาดหวังไว้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง (หรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง) มากเป็นพิเศษ

ไม่สามารถปฏิเสธว่า “แฟนคลับ” ของพรรคการเมืองใหญ่ๆ ล้วนมีความปรารถนาทางการเมืองที่แตกต่างกันไป

“แฟนคลับของพลังประชารัฐ” นั้นปรารถนาให้ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปยาวๆ ไม่ว่าบรรดานักการเมือง-คนรอบข้างจะมีบาดแผลเหวอะหวะขนาดไหน ไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะถูกตั้งคำถามในเรื่องศักยภาพการบริหารประเทศมากเพียงใด

เพราะพวกเขาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าระบบสังคม-การเมืองที่พวกตนคุ้นเคยจะไม่มีวันพังทลายลงมาในชั่วพริบตา ตราบใดที่ยังมีผู้นำประเทศชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

สำหรับ “แฟนๆ พลังประชารัฐ” การจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่สำคัญเท่ากับว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนั้น” จะช่วยค้ำยันสถานภาพของ “ลุงตู่” ได้เข้มแข็งเพียงใด

 

ข้ามไปทางฝั่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าอย่างไรเสีย นี่คือพรรคการเมืองที่มีจำนวนผู้สนับสนุนหรือ “แฟนคลับ” มากที่สุด

ความผูกพันระหว่าง “พรรคการเมืองของทักษิณ” กับ “แฟนๆ” กลุ่มดั้งเดิมของตนเองนั้นแน่นเหนียวด้วยต้นทุนสำคัญ คือการร่วมกันต่อสู้เพื่อพิทักษ์การเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนานในนาม “คนเสื้อแดง” รวมถึงการผ่านพ้นประสบการณ์สังหารหมู่กลางเมืองหลวงมาด้วยกัน

ด้วยเหตุนี้ แม้แนวทางการเคลื่อนไหวบางอย่างของพรรคเพื่อไทยจะชวนตั้งคำถามอยู่บ้าง หรืออาจถูกประทับตราว่ามีลักษณะ “โอลด์สกูล” ไปแล้ว ท่ามกลางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลง

แต่ก็ยังมี “แฟนคลับ” อีกไม่น้อย ที่เลือกจะภักดีต่อ “เพื่อไทย” และ “นายกฯ ทักษิณ” ไม่เปลี่ยนแปร

 

พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ ดูจะเผชิญกับโจทย์ที่แตกต่างออกไป

เมื่อผู้สนับสนุนหรือ “แฟน” ของพวกเขา คือ “คนรุ่นใหม่” ที่กระตือรือร้นและไม่พอใจสภาพสังคมการเมืองยุคปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ

คนหนุ่ม-สาวที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้น-ความผิดหวัง และยังไม่สามารถเข้าถึงอำนาจ-ทรัพยากร-โอกาส จึงพร้อมจะต่อสู้ท้าชนแบบเปิดหน้าตรงไปตรงมา เพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เคลื่อนหน้าไปสู่สภาพที่พวกเขาพึงปรารถนา

พรรค/กลุ่มการเมืองเช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะพลาดท่าเดินตามหลัง “แฟนคลับ” (ซึ่งนำไปสู่การถูกรุมถล่มในโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์) ได้อยู่ตลอดเวลา

จึงมิใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ที่สองพรรคการเมืองใหญ่ในฟากฝ่ายค้าน จะไม่ได้มีท่าทีที่สอดคล้องต้องตรงกันมากนัก โดยเฉพาะในห้วงยามของการต่อสู้อันแหลมคม

 

การมองการเมืองผ่านแง่มุมของ “แฟนคลับ” ยังทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ที่น่าวิตกบางประการ

กล่าวคือ ในโครงสร้างการเมืองที่ไม่หยุดนิ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือน “คนรุ่นใหม่” จะต้องการและพยายามเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองสูงขึ้น

เห็นได้จากคะแนนเสียงของอดีตพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้ง 2562 และปรากฏการณ์การก่อกำเนิดของม็อบคณะราษฎร 2563

ทว่าสิ่งที่เรากำลังได้พบเห็นอยู่ในปัจจุบันก็คือ ภารกิจแรกๆ ในกระบวนการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ของผู้ใหญ่หลายๆ คน กลับเป็นการพยายามปิด-ระงับการมีส่วนร่วมของ “คนรุ่นใหม่” เหล่านี้

ที่น่าวิตกก็เพราะว่าทั้งๆ ที่ “คนรุ่นใหม่” เป็นพลังทางสังคม พลังทางเศรษฐกิจ และพลังทางการเมือง ซึ่งจะเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ดูคล้ายพวกเขาจะถูกโดดเดี่ยวจากคนกลุ่มอื่นๆ มากขึ้นตามลำดับ

ในทางวัฒนธรรม มีแนวโน้มชัดเจนว่าคนที่เกิดหลัง ค.ศ.2000 นั้นมีพฤติกรรม-รสนิยมการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ทำกิจกรรมนันทนาการ ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ อย่างแทบจะสิ้นเชิง (ผิดกับคนยุค “60-70-80-90” ที่ยังสามารถแชร์วัฒนธรรมหลายๆ ด้านร่วมกันได้)

นี่นำไปสู่การมีบรรทัดฐานทางจริยธรรม ตลอดจนการสร้างเครื่องมือลงทัณฑ์ทางสังคมที่ผิดแผกออกไปด้วย

ลำพังแค่ประเด็นนี้ “คนรุ่นใหม่” ก็เหมือนจะอยู่กันคนละโลกกับ “คนรุ่นอื่นๆ” ที่ไม่ได้หมายถึงเพียง “คนรุ่นลุงตู่” แต่ยังรวมถึง “พี่ๆ อาๆ อายุ 30 กว่าๆ” จำนวนมาก

ในทางเศรษฐกิจ ภาวะโรคระบาดโควิดที่ลากยาวมาร่วมสองปี บวกด้วยภาวะเศรษฐกิจซึมเซาก่อนหน้านั้น ส่งผลให้มีคนจบมหาวิทยาลัยรุ่นสองรุ่นที่ผ่านมา จำนวนไม่มากนัก ซึ่งถูกผนวกรวมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน

ปัญหาปากท้องและโอกาสของ “คนรุ่นใหม่” คือประเด็นใหญ่ข้อหนึ่ง แต่ปัญหาอีกด้านที่น่าจับตาไม่แพ้กันก็คือ การที่ผู้ใหญ่จำนวนมากกำลังหลับตาผลิตสินค้า-บริการต่างๆ โดยรู้จัก-เข้าใจคนรุ่นหลังๆ (ที่อายุ 25 ปีลงไป) น้อยลงเรื่อยๆ

เมื่อนำเอาสภาพปัญหาในสองมิติหลังไปวางซ้อนทับลงบนกระบวนการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งกำลังเริ่มต้นด้วยโจทย์ที่ว่า “พวกลุง” จะกำหนด “กฎกติกาทางการเมืองร่วมกัน” โดยไม่ข้องแวะกับ “พลังใหม่ๆ” ของสังคมอย่างไรดี?

เราก็อาจมองเห็นวี่แววของปรากฏการณ์ “ระเบิด-แตกหัก” บางอย่างในอนาคต