การเมืองวัคซีน สงครามแย่งซีน ‘ราชสีห์’ กับ ‘หนู’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

การเมืองวัคซีน

สงครามแย่งซีน

‘ราชสีห์’ กับ ‘หนู’

ความสับสนเรื่องวัคซีนโควิด หลังรัฐบาลโดย ศบค. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศคิกออฟ 7 มิถุนายน ฉีดวัคซีนปูพรมทั่วประเทศ

เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายสิ้นปี 2564 คนไทยต้องได้รับการฉีดวัคซีนร้อยละ 70 หรือราว 50 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

แต่ปรากฏว่าเกิดข้อผิดพลาดในการจัดหาและจัดสรรวัคซีนกระจายไปตามจุดต่างๆ

เป็นเหตุให้หลายหน่วยงาน หลายโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ประกาศเก็บพรม เลื่อนฉีดวัคซีน หลังคิกออฟเพียง 4-5 วัน

จนเกิดการโยนผิดกันไป-มาระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ผู้จัดหาวัคซีน กับ ศบค.ผู้กำหนดแผนกระจายวัคซีนให้กับหน่วยงานองค์กรต่างๆ

ภายใต้ความวุ่นวายสับสน สังคมตั้งคำถามการจัดหาวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามแผน จนทำให้เคราะห์กรรมตกอยู่กับประชาชน ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหมาย ในขณะที่สถานการณ์โควิดยังระบาดรุนแรง

สุดท้ายแล้วใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กับวาทกรรม “วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด” ที่ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

ในทางการเมือง ปัญหาการแพร่ระบาดโควิดในไทยเริ่มรุนแรงในเดือนมีนาคม 2563 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ผ่านการระบาดใหญ่ 3 ระลอก มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 200,000 คน เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน

ส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมาก

และมีแต่วัคซีนเท่านั้นที่เป็นทางออกจากวิกฤตโรคระบาดที่ไทยกำลังเผชิญอยู่

ตรงนี้เองทำให้เกิดภาพของการใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือสร้างภาพหาเสียงของนักการเมืองโดยเฉพาะในซีกรัฐบาล

ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคเดียวคงไม่มีอะไร แต่การเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้เกิดปัญหาการแย่งซีนผลงาน ระหว่างนักการเมืองพรรคแกนนำ กับพรรคร่วมอันดับ 1 ที่กุมบังเหียนกระทรวงสาธารณสุข

 

สัญญาณรอยร้าวพรรคแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาล สืบเนื่องจากเรื่องโควิด มีให้เห็นเป็นระยะ

เริ่มตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งนายกฯ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนทางเลือก มี นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค. เป็นประธาน ร่วมกับข้าราชการ ทีมแพทย์กระทรวงสาธารณสุข โดยไม่มีชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในคณะทำงาน

ต่อมา ครม.ยังมีมติโอนอำนาจหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชาหรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปรามยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชน ตาม พ.ร.บ. 31 ฉบับ มาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์โควิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เจอแทงเข้าไปสองดอก ไม่มีใครรู้นายอนุทินรู้สึกอย่างไร

ไม่จบเท่านั้น ยังตามมาด้วยเรื่องวอล์กอิน-ออนไซต์ฉีดวัคซีน หักเหลี่ยนกันระหว่างทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์ กับทีมงานนายอนุทิน กระทั่งมีเสียงดังมาจากโฆษกภูมิใจไทย

“หากยังมัวแต่ยึดติดกับไอ้ #หมอพ้ง_หมอพร้อม ประชาชนจะติดโควิดกันหมด เข้าใจมั้ยยยย ลุ้งงงงงงง คนเขาบอกยังไม่รู้ฟัง ดื้อรั้น ถูลู่ถูกัง ทิฐิมานะสูง

เป้า 50 ล้านคน หากไม่อยากให้เป็นแค่ลมปาก ลุงหาวิธีอื่นมาอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านเถอะ แทนที่จะช่วยทำให้มันไว คนเข้าถึงง่าย กลับเป็นตัวถ่วงและสร้างกำแพงให้คนเข้าถึงวัคซีนยากกกกก แล้วแบบนี้เป้า 50 ล้านคน ลุงจะเสร็จเมื่อไร??? รึว่าให้คนเขาสร้างภูมิกันเองด้วยการรับเชื้อโควิดกันทั้งประเทศ เห้ออออ #เพลียด่า”

ในการประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน วาระแรก

บรรยากาศดุเดือดมาจากการอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่ส่วนหนึ่งก็มาจาก ส.ส.ร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่พอใจการลดงบฯ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อภิปรายตัดพ้อ “สำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่รักนายอนุทินเสียแล้ว ถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับ ถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ”

ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล แสดงความความผิดหวังการจัดสรรงบฯ ของสำนักงบประมาณ และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อภิปรายระบุถึงการจัดทำงบประมาณที่พิลึกพิลั่น ไม่รู้ว่าการจัดทำงบฯ ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลและรัฐสภาแห่งนี้หรือไม่

รวมถึงในรอบการอภิปราย พ.ร.ก.กู้ 5 แสนล้านของรัฐบาล เพื่อนำมาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด ระลอกสาม ส.ส.ภูมิใจไทยได้ไฟเขียวถล่มไม่ยั้ง

สุดท้ายแม้ศึก พ.ร.บ.งบฯ 3.1 ล้านล้าน และ พ.ร.ก.กู้ 5 แสนล้าน จะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ส.ส.ภูมิใจไทยโหวตผ่านกฎหมายสำคัญทั้งสองฉบับ แบบไม่มีแตกแถว

เหมือนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ใช้คำเปรียบเทียบ อภิปรายอย่างราชสีห์ ลงมติอย่างกับหนู

“พรรคภูมิใจไทยไม่ได้อภิปรายอย่างราชสีห์ แล้วโหวตอย่างหนู เพราะหนูนี่แหละที่ช่วยราชสีห์ ในนิทานอีสปไม่เคยบอกว่าราชสีห์ช่วยหนู มีแต่หนูที่ช่วยราชสีห์” นายอนุทิน ซึ่งมีชื่อเล่นว่าหนู กล่าวตอบโต้หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ในสภาทุกอย่างจึงยังดูเหนียวแน่นสำหรับพรรครัฐบาล

ภายใต้ผลประโยชน์ร้อยรัดผ่าน พ.ร.บ.งบฯ 3.1 ล้านล้าน และ พ.ร.ก.กู้ 5 แสนล้าน

 

มีบางประเด็นเกี่ยวกับวัคซีน บ่งชี้ว่าอาจมีเรื่องการหาเสียงทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยปรากฏผ่านสถานการณ์การฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ภายใต้การดำเนินการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับพรรคพลังประชารัฐ

วันที่ 11 มิถุนายน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ก็ประกาศปิดศูนย์ฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 45 จุดทั่วกรุงเทพฯ ถึงวันที่ 28 มิถุนายน เนื่องจากมีปัญหาในการกระจายวัคซีน

หมายความว่าผู้ประกันตนในกรุงเทพฯ ที่ลงทะเบียนไว้ 2.3 ล้านคน ต้องเลื่อนฉีดวัคซีนออกไปอย่างน้อย 16 วัน

แต่ก่อนที่เรื่องจะวุ่นวายบานปลายไปกว่านั้น ปรากฏว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้สั่งให้ สปส.กลับมาเปิดศูนย์วัคซีนในวันที่ 14 มิถุนายน แต่ลดลงเหลือ 36 จุด พร้อมปฏิเสธข่าววัคซีนหมด

“วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับผู้ประกันตน ไม่ขาด ผมกับ รมว.สาธารณสุขทำงานกันอย่างใกล้ชิดและปรึกษาหารือกันตลอด” นายสุชาติกล่าวยืนยัน

แต่ที่เป็นเกาเหลาชามโตจริงๆ คือการที่สำนักอนามัย กทม. ประกาศวันที่ 12 มิถุนายน เนื่องด้วยไม่ได้รับจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อฉีดให้ผู้ลงทะเบียนหมอพร้อม ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด รอบวันที่ 14-20 มิถุนายน

ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ผู้ที่จองไว้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ จึงขอเลื่อนไปก่อน

กทม.ทิ้งระเบิดใส่กระทรวงสาธารณสุขเต็มๆ ทำให้นายอนุทินในฐานะเจ้ากระทรวงออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่า พูดแบบไม่รับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนให้ กทม. สัปดาห์ที่แล้ว 5 แสนโดส สัปดาห์หน้าจะทยอยส่งให้อีก

การกระจายวัคซีนไปตามจุดไหนก็ตาม เป็นหน้าที่ กทม. กระทรวงสาธารณสุขทำตามกฎหมาย ทำมากกว่านี้ไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ทำตาม ศบค.มอบหมาย

มันต้องบริหารจัดการวัคซีน กระจายวัคซีน จำนวนฉีดต่อวัน ต้องวางแผนอย่างดี กระทรวงสาธารณสุขในส่วนที่รับผิดชอบทั่วประเทศก็ไม่เห็นมีใครมีปัญหาแบบนี้ ไม่ใช่ว่าได้มาเท่าไหร่ก็กระจายแบบไม่วางแผน

ขอความกรุณาอย่าบอกว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ทำอะไร กระทรวงสาธารณสุขหาวัคซีนทั้งหมดก็กระจายไปตามคำสั่งของ ศบค.หมดแล้วตามเวลาที่กำหนดไว้ ถ้ากระทรวงสาธารณสุขวางแผนเอง บริหารจัดการให้ฉีดเอง ค่อยมาโทษกระทรวงสาธารณสุข

นายอนุทินไม่เพียงสวนหมัด กทม. ยังส่งแรงกระแทกไปถึง ศบค.

ต่อมา ศบค.ลงมาเป็นเจ้าภาพจัดแถลงร่วม 3 ฝ่าย เคลียร์ใจกระทรวงสาธารณสุขกับ กทม.

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช. ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. ยืนยันการบริหารจัดการวัคซีนทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน

สำหรับปัญหาที่เกิดกับ กทม.ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัคซีนไม่มา กับอีกส่วนหนึ่งคือขาดการสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน

ย่างไรก็ตาม ในจังหวะกระทรวงแรงงาน และ กทม. เกิดอาการเข็มฉีดสะดุด เพราะวัคซีนไม่พอ จนต้องเลื่อนนัดผู้ลงทะเบียนหมอพร้อม

การที่กระทรวงสาธารณสุขฉวยโอกาส “แย่งซีน” ประกาศให้กลุ่มผู้ลงทะเบียนหมอพร้อม แล้วถูกเลื่อนนัดฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร สามารถไปใช้บริการฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

จึงสะท้อนถึง “การเมืองวัคซีน”

เนื่องจากศูนย์ฉีดวัคซีน (สถานี) กลางบางซื่อ เป็นพื้นที่ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการ

ในทางธุรกิจเท่ากับเป็นการเปิดศึกแย่งลูกค้ากันอย่างเปิดเผย

ขณะที่ในทางการเมืองสิ่งที่เกิดขึ้นช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ย่อมเป็นคำอธิบายได้ดีว่า

ถึงที่สุดแล้วในการอยู่ร่วมกันของ “ราชสีห์” กับ “หนู”

วัคซีนโควิดเป็นแค่เครื่องมือหาเสียงของบางพรรคในรัฐบาลเท่านั้น