สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทวารวดี เมืองพระกฤษณะ (ลพบุรี) อโยธยา เมืองพระราม (พระนครศรีอยุธยา)

(ซ้าย) พระกฤษณะผู้เป็นใหญ่แห่งทวารวดี ประติมากรรมสลักหินลอยตัว เล่าเรื่องพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะด้วยแขนซ้าย เพื่อใช้เป็นที่กําบังพายุฝนให้แก่ฝูงโคและผู้เลี้ยงโค [อายุราวหลัง พ.ศ.1000 (ไทยเรียกสมัยทวารวดี) พบที่เมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) จากหนังสือ รากเหง้าแห่งศิลปะไทย โดยพิริยะ ไกรฤกษ์ สํานักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 108-109] / (ขวา) พระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ ความเชื่อสืบเนื่องจากบ้านเมืองยุคก่อนๆ (ปูนปั้น เรือน พ.ศ.1800 บนทับหลังศิลาแลงมุขด้านทิศใต้ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี ภาพและคําอธิบายโดยรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง)

 

ทวารวดี เมืองพระกฤษณะ (ลพบุรี)

อโยธยา เมืองพระราม (พระนครศรีอยุธยา)

 

สังคมทั่วไปถูกครอบงำจากประวัติศาสตร์ศิลปะว่าบ้านเมืองและรัฐโบราณในไทย เริ่มมีสมัย “ทวารวดี” ก่อน จากนั้นตามหลังด้วยสมัย “อโยธยา” แล้วกำหนดตายตัวว่า “ทวารวดี” เป็นอาณาจักรมีศูนย์กลางอยู่เมืองนครปฐมโบราณ (จ.นครปฐม) ลุ่มน้ำท่าจีน

แต่เอกสารจีนและหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีจำนวนมากสนับสนุนว่า “ทวารวดี” เป็นรัฐหนึ่ง (ไม่อาณาจักร) มีเมืองสำคัญเป็นเครือข่ายเครือญาติอยู่ลุ่มน้ำป่าสัก ได้แก่ เมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) กับเมืองละโว้ (อ.เมือง จ.ลพบุรี)

 

ทวารวดี เมืองพระกฤษณะ อยู่ลพบุรี

รัฐทวารวดี มีศูนย์กลางอยู่เมืองละโว้ (จ.ลพบุรี) ระหว่าง พ.ศ.1100-1600 เป็นงานศึกษาค้นคว้าหลายปีมาแล้วของ “นักปราชญ์สามัญชน” มานิต วัลลิโภดม และศรีศักร วัลลิโภดม โดยอ้างเอกสารจีนระบุไว้สอดคล้องกับหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีอีกมาก ส่วนพิริยะ ไกรฤกษ์ บอกว่าทวารวดีอยู่เมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นเครือญาติใกล้ชิดเมืองละโว้

“ทวารวดี” เป็นชื่อเมือง (มาจากนามเดิมว่า “ทวารกา”) ของพระกฤษณะ (ซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์) หมายถึงเมืองแห่งประตูสู่เส้นทางคมนาคมทุกทิศทางสร้างความมั่งคั่งและมั่นคง กล่าวคือ ความมั่งคั่งจากทำเลที่ตั้งบนเส้นทางการค้าไปมาสะดวกทุกสารทิศ “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ” ส่วน ความมั่นคงจากป้อมประตูคูน้ำกำแพงล้อมรอบขอบคันแข็งแกร่งเกรียงไกร

พระกฤษณะในมหากาพย์มหาภารตะ ถูกกล่าวขวัญยกย่องว่าเป็นเทพเจ้ารูปงาม มีเสน่ห์สนุกผู้ทรงคุณวิเศษ

เมืองพระกฤษณะ คือ ทวารวดี มีศูนย์กลางอยู่เมืองละโว้ พบหลักฐานความสืบเนื่องเป็นภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ ประดับทับหลังศิลาแลงมุขด้านทิศใต้พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (จ.ลพบุรี) นอกจากนั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้เชี่ยวชาญฯ ของกรมศิลปากร) พบว่า “นครพระกฤษณ์” ตามข้อความของมหาเถรศรีศรัทธาที่พบชื่อในจารึกวัดศรีชุม (สุโขทัย) หมายถึงทวารวดีที่ชุมนุมพระธาตุ คือเมืองละโว้หรือลพบุรี [นิตยสาร ศิลปากร ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2561) หน้า 49-55]

คตินับถือพระกฤษณะของเมืองละโว้มาจากความเป็นเครือข่ายเครือญาติกับเมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) ลุ่มน้ำป่าสักเดียวกัน พบประติมากรรมสลักหินลอยตัวรูปพระกฤษณะ (ซึ่งไม่เคยพบบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก โดยเฉพาะเมืองนครปฐมโบราณ จ.นครปฐม)

“ละโว้” ในชื่อเมืองละโว้ พบในจารึก (วัฒนธรรมทวารวดี) เรือน พ.ศ.1200 มีรากคำจากภาษาตระกูลมอญ-เขมร (ละว้า, ข่า) ว่า ลูโว แปลว่า ภูเขา (สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา ของจิตร ภูมิศักดิ์ ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 323) เมืองละโว้ถูกเรียกว่าเมืองลพบุรี แล้วถูกสร้างให้มีนิทานเกี่ยวกับรามเกียรติ์ เพิ่งมีในสมัยอยุธยาแผ่นดินพระนารายณ์ (สมัยเมืองละโว้ไม่พบนามกษัตริย์ว่า “รามาธิบดี” หรือ “นารายณ์”)

ความเชื่อเกี่ยวกับทวารวดีเมืองพระกฤษณะ แม้ลดความสำคัญลงสมัยต่อจากนั้น (เพราะกษัตริย์เปลี่ยนไปนับถือลัทธิรามาธิบดี) แต่ยังสืบเนื่องให้เห็นเค้าอยู่ในวรรณกรรมสมัยต้นอยุธยาเรื่องอนิรุทธคำฉันท์ มีหลักฐานเป็นกาพย์บทแรกๆ กล่าวเริ่มเรื่องว่า พระนารายณ์ (จักรี) อวตารเพื่อปราบยุคเข็ญเป็นพระกฤษณะครองกรุงทวารวดี (ทวารพดี) ดังนี้

๏ ปางพระจักรีแปรเป็น              กฤษณราญรอนเข็ญ

อรินทรเสี้ยนสยบนา

๏ เสด็จแสดงเนาในเมืองทวา-       รพดีสมญา

คือวิษณุโลกบปาน

[พระอนิรุทธ์ยังสืบเนื่องความสำคัญถึงสมัยหลังต่อมาโดยกลายนามว่า “พระอุณรุท” มีบทละครเรื่องอุณรุท]

 

อโยธยา เมืองพระราม อยู่อยุธยา

รัฐอโยธยา (นามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพ”) มีศูนย์กลางอยู่เมืองอโยธยา (จ.พระนครศรีอยุธยา) พงศาวดารเหนือบอกว่า (อโยธยาศรีรามเทพสืบเนื่องจากรัฐละโว้) เริ่มเมื่อ พ.ศ.1650

ต่อมาเกิดโรคระบาด (กาฬโรค) หลังจากนั้นพบร่องรอยความเชื่อแก้อาถรรพณ์ด้วยการขนานนามเมืองเสียใหม่ว่า “กรุงศรีอยุธยา” พ.ศ.1893 แล้วเฉลิมพระนามกษัตริย์ว่า “รามาธิบดี” ตอกย้ำความเป็นพระรามของกษัตริย์ “ศรีรามเทพนคร” หรือนครของพระราม (สมัยเมืองละโว้ไม่พบนามกษัตริย์ว่า “รามาธิบดี”)

“อโยธยา” เป็นชื่อเมืองพระราม (อวตารของพระนารายณ์) หมายถึงเมืองที่ไม่แพ้ หรือไม่มีผู้ใดพิชิตได้ จึงมีความมั่งคั่งและมั่นคง ส่วนพระรามในมหากาพย์รามายณะถูกกล่าวขวัญยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่นคงทรงพลังอำนาจ จึงมีความมั่งคั่งอย่างยิ่ง