ถาม ‘ยุกติ-ทัศนัย’ ทำไม ‘อาจารย์’ ต้องปกป้องเสรีภาพ ‘นศ.’? และข้อเสนอถึง ‘รมว.เอนก’/ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

ถาม ‘ยุกติ-ทัศนัย’

ทำไม ‘อาจารย์’ ต้องปกป้องเสรีภาพ ‘นศ.’?

และข้อเสนอถึง ‘รมว.เอนก’

ไม่นานมานี้ ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี เพิ่งได้สนทนากับ “รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร” อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี” อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็นหลากหลาย

เริ่มจากพันธกิจของอาจารย์ในการออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา ไปจนถึงข้อเสนอด้วยความปรารถนาดีถึง รมว.อุดมศึกษาฯ ชื่อ “ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์”

ดังรายละเอียดบางส่วนต่อไปนี้

 

อาจารย์ทัศนัยเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงสภาพปัญหาเบื้องต้น ที่กำลังเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยและสังคมไทยโดยรวม กล่าวคือ การที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ยืนยันในหลักการเสรีภาพ-ประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะผู้บริหารสถาบันการศึกษาหวาดกลัวว่าจะมีความขัดแย้งกับ “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็น “เครือข่ายระบบอุปถัมภ์” ที่หนุนหลังพวกเขาอยู่

อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ไล่เรียงลำดับเวลาว่า ช่วงหลังรัฐประหาร 2549 “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระต่างๆ แต่ไม่สามารถควบคุมพลังของประชาสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยเหตุนี้ เวทีถกเถียงท่ามกลางบรรยากาศขัดแย้งทางความคิดจึงยังคงดำรงอยู่

อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหาร 2557 ได้เกิดกระบวนการไล่ล่าคนคิดต่าง และเกิด “เครือข่ายคอร์รัปชั่น” ขั้นมโหฬาร

“ไอ้การคอร์รัปชั่นที่สำคัญที่สุด ถ้าเราเป็นผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ของอารยธรรม มันไม่ใช่การคอร์รัปชั่นทางการคลัง ไม่ใช่การคอร์รัปชั่นทางเศรษฐกิจหรือนโยบายแห่งรัฐ แต่มันคือ ‘การคอร์รัปชั่นในระบบคุณค่า’ ระบบคุณค่าที่มันยึดโยงผู้คน แล้วให้ (พวกเขา) มีวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันแตกต่างกัน

“กลายเป็นสังคมที่คอร์รัปชั่นระบบคุณค่า หมายถึงระบบคุณค่าใดๆ ที่ฉันไม่ต้องการ ฉันเขี่ยมันทิ้ง ฉันทำลายมันโดยทั้งสิ้น”

อาจารย์ศิลปะจากรั้ว มช. กล่าวถึงการคอร์รัปชั่นสำคัญที่เกิดขึ้นตลอด 7 ปีผ่านมา พร้อมเอ่ยเตือนว่า “อารยธรรมใดๆ ก็ตาม ถ้ามันเกิดการคอร์รัปชั่นในระบบคุณค่า มันพังทลาย”

 

เมื่อถามว่าทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยบางรายจึงต้องออกมาแสดงบทบาทช่วยยื่นประกันตัวนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง

อาจารย์ยุกติตอบว่า นั่นคือ “สิ่งพึงปฏิบัติทั่วไป”

ก่อนอธิบายว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่แค่เพียงการไปประกันตัวนักศึกษาในเชิงคดีความเท่านั้น แต่พวกเขายังต้อง “รับประกันสถานะความเป็นนักศึกษา” ของลูกศิษย์ไปตลอดชีวิต ไม่ว่าศิษย์จะมาขอให้อาจารย์ช่วยเขียนหนังสือรับรองเวลาไปศึกษาต่อหรือไปทำงานในต่างประเทศ หรือช่วยค้ำประกันเวลานักศึกษาต้องไปกู้เงินจาก กยศ.

“มันเป็นความสัมพันธ์ที่สากล…ในทางตรงกันข้าม ถ้าอาจารย์ไม่รับรองนักศึกษาต่างหาก ที่จะประหลาด” อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ มธ. บอก

เช่นเดียวกับอาจารย์ศิลปะคนดังแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่แสดงความเห็นว่าการที่อาจารย์ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือนักศึกษา ในยามที่ลูกศิษย์ประสบเหตุ “ไม่ปกติ” ตั้งแต่เรื่องไม่มีเงินค่าเทอม ต้องกู้เงิน กยศ. ประสบอุบัติเหตุ มีปัญหาการเรียน ตลอดจนปัญหาคดีความนั้น สิ่งเหล่านี้คือ “สำนึก-พันธะ-ภาระ-หน้าที่” ของ “ความเป็นครู”

“ไม่ได้หมายความว่าเราจะดูแลเขาเหมือนลูก แต่มันเป็นความผูกพันบางอย่าง ที่เราเชื่อว่าเขาจะต่อยอดอารยธรรมความรู้หลังจากที่เราลงหลุมไปแล้ว”

อาจารย์ทัศนัยถ่ายทอดแนวคิดเชิงนามธรรม ที่อาจซ่อนอยู่เบื้องหลังการเข้าไปช่วยประกันตัวนักศึกษาของครูบาอาจารย์

 

นักวิชาการทั้งสองคนมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นของนักศึกษาต้องดำเนินไปจนสุดทาง แม้ว่าแนวคิดของเยาวชนและอาจารย์อาจไม่ตรงกัน

อาจารย์ทัศนัยเล่าว่า ด้วยจรรยาบรรณของนักวิชาการแล้ว เวลาตนเองสอนหนังสือ ก็จำเป็นต้องบรรยายถึงแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายในชั้นเรียน แม้จะมีบางแนวคิดที่ตนเองอาจไม่ชอบเป็นการส่วนตัว

“หน้าที่ของมหาวิทยาลัยตามมุมมองของผม ไม่ใช่เพียงแค่การถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้ไปสู่คนในปัจจุบันและอนาคต แต่ต้องให้อิสรภาพที่จะเลือกกับเขาด้วย อย่างผมเนี่ยเวลาผมสอน ผมต้องสอนทุกแนวคิด ถึงแม้จะเป็นแนวคิดที่ผมไม่ชอบเลย

“แต่เวลาผมปฏิบัติ (สร้างงานศิลปะ) ผมก็จะเลือกเพียงแนวคิดบางแนวคิดที่ผมมีปัญหาน้อยที่สุด มาผสมกับปัจจัยอื่นๆ เพื่อจะทำความเข้าใจปัจจุบันขณะของสังคมที่เราเป็นอยู่ แล้วผมก็ไปทำมันให้ออกดอกออกผลที่บ้านผมเอง

“แต่ถ้ามันมีผู้บริหาร (มหาวิทยาลัย) กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาบอกว่า พวกเราชื่นชอบแนวคิดแบบนี้ แล้วเราจะเอามาเป็นหลักการของการบริหาร ทุกคนก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของการบริหารภายใต้แนวคิดแบบนี้ ผมว่าอัปรีย์”

 

ส่วนอาจารย์ยุกติเน้นย้ำว่าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาไม่ใช่แค่การปกป้อง “เสรีภาพในทางวิชาการ” แต่ยังต้องปกป้อง “เสรีภาพความเป็นมนุษย์” ในการคิด-อ่าน-สร้างสรรค์

นักวิชาการที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน เล่าว่า มาตรฐานของสถาบันการศึกษาระดับโลกนั้น ไม่ได้วางอยู่บนแนวคิดเรื่อง “เสรีภาพต้องมีขอบเขต” แต่คือการส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าถึง “เสรีภาพของการไปให้สุดทางของความเป็นมนุษย์”

ก่อนจะย้อนมาอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดกับสังคมไทยในช่วง 1-2 ปีนี้ว่า “สิ่งที่นักศึกษาเขาทำ เขาทำอะไร เขาก็ทำในสิ่งที่ไปไกลกว่าการแสวงหาความรู้ทางวิชาการ แสวงหาเสรีภาพทางวิชาการ แต่เขาแสวงหาเสรีภาพของความเป็นมนุษย์

“เขากำลังเสนอว่าสังคมนี้ต้องการอะไร ยุคสมัยของเขาต้องการอะไร แล้วเขาตั้งคำถามอย่างที่ไม่ได้เป็นความก้าวร้าวในความหมายที่ว่า ไม่ใช้เหตุไม่ใช้ผล หรือว่าไม่รู้จักที่จะคิดอ่าน หรือไม่มีหลักการใดๆ ไม่ใช่ มันเป็นข้อเสนอที่วางอยู่บนหลักการ เพียงแต่ว่าเรายังไม่มีคนกล้าที่จะทำขนาดนั้น เท่านั้นเอง”

 

เมื่อถามว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งสองคนอยากฝากอะไรถึงอดีตนักวิชาการผู้ผันตนมาเป็น รมว.อุดมศึกษาฯ ชื่อ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์”

นักวิชาการรุ่นหลังจากธรรมศาสตร์ก็เล็กเชอร์ยาว

“เราจะตั้งธงไปข้างหน้าไหม? ว่าประเทศไทยในอนาคต เราจะเป็นศูนย์กลางของการผลิตองค์ความรู้ด้านเอไอ อย่างน้อยที่สุด ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“คุณ (เอนก) รู้ไหม? ผมคิดว่าคุณรู้ แต่คุณอาจไม่ได้คิดที่จะเอาคนเหล่านี้มา เฉพาะคนที่ผมรู้จัก จำนวนนับสิบคนที่มีความสามารถสูงมากทางด้านเอไอ แล้วก็เป็นคนที่ไปได้รับการศึกษาในระดับโลก บางคนสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากในสหรัฐอเมริกา เป็นคนไทย

“คุณคิดที่จะเอาคนเหล่านี้มาทำอะไรไหม? แล้วนี่เราพูดถึงกันแค่สาขาเล็กๆ นะครับ เอไอ ยังมีสิ่งอื่นอีกมากมาย

“เราทำอย่างไร? ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยไทยหรือประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอุดมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือถ้าเชิญผมไปพรุ่งนี้ ผมมีแผน 1 2 3 4 เลย ผมจะบอกให้ แล้วผมตอบได้ว่าเรามีศักยภาพแค่ไหน ที่จะทำได้มากกว่าที่สิงคโปร์ทำ เรามีต้นทุนอะไรบ้าง ต้นทุนของทรัพยากรบุคคล-ความรู้มีแค่ไหน

“ผมพูดถึงเลยว่าความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิชาการไทยที่รู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้าน มีอย่างน้อยประเทศละสิบคน รู้ถึงขนาดพูดภาษาเหล่านั้นได้ แล้วก็ไปบรรยายที่ประเทศเหล่านั้นเป็นภาษาเหล่านั้นได้เลย เอาแบบครีมๆ เลย อย่างน้อยๆ คือประเทศละห้าคน

“ผมถามว่าสิงคโปร์มี ‘คนสิงคโปร์’ ที่มีความรู้ในลักษณะนี้เท่าไหร่? สิงคโปร์ไม่ทำ (ไม่มี) ครับ สิงคโปร์ลงทุนด้วยการซื้อตัวนักวิชาการจากประเทศเหล่านี้หรือจากแต่ละชาติ ให้ไปประจำอยู่ แล้วก็ขูดรีดแรงงานให้ทำงานให้เขา

“ประเทศไทยมีนักวิชาการไทยที่มีความรู้เหล่านี้ คนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน? สังคมไทยไม่รู้จัก แล้วประเทศไทยได้ใช้คนเหล่านี้หรือเปล่า?

“ในโลกนี้ มีประเทศเล็กๆ บางประเทศ อย่างประเทศตรินิแดดและโตเบโก เคยมีประธานาธิบดีที่จบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จบปริญญาเอกจริงๆ นะครับ ไม่ใช่แค่ไปจบออกซ์ฟอร์ดแบบปริญญาโท แล้วมาเป็นประธานาธิบดี แล้วตั้งธงว่าประเทศเขาจะส่งออกนักวิชาการไปทั่วโลก เพื่อที่จะให้ชาวตรินิแดดฯ เป็นมันสมองของโลก

“เราเคยมีรัฐมนตรีอุดมศึกษาฯ หรือกระทรวงศึกษาธิการที่มีความคิดแบบนี้หรือเปล่า? คุณคิดแค่ว่าจะไปดวงจันทร์ นี่มันเป็นความใฝ่ฝันของยุคสงครามเย็น”

 

ขณะที่อาจารย์จากเชียงใหม่เสนอว่าในระยะเร่งด่วน กระทรวงอุดมศึกษาฯ ควรปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองสองข้อ

ข้อแรก อย่าทำหน้าที่เหมือน “ห้องถ่ายสำเนาเอกสารราชการ” ด้วยการออกเอกสารราชการไปวันๆ ข้อสอง ต้องไม่ทำหน้าที่เหมือน “โรงยี่เก” ที่จะใช้คำประเภท “ได้มีบัญชานู่น นี่ นั่น” แต่ต้องมีความเชื่อว่า “มนุษย์เท่ากัน” และ “เสรีภาพของมนุษย์” รวมถึงการเชิดชูเสรีภาพที่ทุกคนพึงมีอย่างแตกต่างกันนั้น คือ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ

“ลีกวนยูเห็นข้อนี้ดีและประกาศว่าเยาวชนทุกคนต้องเป็น ‘ขบถ’ แต่ว่าด้วยอคติทางความคิดของผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเรา ไปแปลความของ “ความขบถ” เป็น “กบฏ” แล้วก็คิดว่าคนเหล่านี้ไม่รักชาติบ้านเมือง

“ผมไม่เคยเห็นเยาวชนที่ไหนเขาจะทำลายชาติบ้านเมือง หรือจะทำให้มันพังทลาย ทุกคนมีจุดมุ่งหมายมีความปรารถนาที่ดีกันทั้งสิ้น แล้วเขาสร้างบ้านสร้างเมือง-อนาคตของพวกเขาเอง ซึ่งพวกเราเนี่ยอีกไม่นานเท่าไรก็ลงหลุมกันหมดแล้ว ควรจะปล่อยให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพในขีดสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นความคิดอะไรก็ตาม

“อันนี้คือบทบาทของกระทรวงอุดมศึกษาฯ และเป็นบทบาทของรั้วมหาวิทยาลัย”