แลกเปลี่ยนในบรรยากาศวิสาขบูชา ‘พระศรีอริยเมตไตรย’ กับสังคมไทย ความศิวิไลซ์ที่มาไม่ถึงสักที/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ธีรพล บัวกระโทก

 

แลกเปลี่ยนในบรรยากาศวิสาขบูชา

‘พระศรีอริยเมตไตรย’ กับสังคมไทย

ความศิวิไลซ์ที่มาไม่ถึงสักที

 

การประกาศตนเองเป็น “พระศรีอริยเมตไตรย” ของนายกุศลศรีอริยะ ศรีอารวงศา อดีต ส.ส.สุโขทัย ทั้งยังอ้างว่าตนคือศาสดาองค์สุดท้ายของโลกที่จะมา “ช่วยให้ทุกคนรอด” โดยมีการรวมกลุ่มผู้ศรัทธา ณ สวนธรรมชาวศรีวิไล จ.หนองบัวลำภู เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้

ประเด็นดังกล่าวนำมาซึ่งการเรียกร้องให้ทางการเข้าไปตรวจสอบ และยังกลายเป็นที่โต้แย้งกันในหลายแง่มุม หากไม่นับภาพกิจกรรมปฏิบัติธรรมที่ดูสนุกสนานครึกครื้น ซึ่งอาจจะสวนทางกับความเชื่อของชาวพุทธไทยส่วนใหญ่แล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่สังคมตั้งคำถามคือ การอุบัติขึ้นของพระศรีอริยเมตไตรยในช่วงเวลาที่ศาสนาของ “พระโคตมพุทธเจ้า” หรือพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันยังไม่ล่วงเวลา 5,000 ปี จะไม่ผิดพุทธพยากรณ์ไปหน่อยหรือ?

ซึ่งในเวลาต่อมายังปรากฏบทสัมภาษณ์มารดาของนายกุศลศรีอริยะ ที่อ้างว่าเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ โดยได้รับการยืนยันว่า การปรากฏพระองค์ของพระศรีอริยเมตไตรยในเวลานี้เป็นไปตามคำทำนายของพระโคตมพุทธเจ้าที่ว่า “หลังยุคกึ่งหนึ่งเมื่อข้าจากไป จักมีองค์พุทธะองค์ใหม่อุบัติขึ้น”

แต่คำให้สัมภาษณ์นี้ไม่ได้ระบุด้วยว่า พุทธพยากรณ์ดังกล่าวมีที่มาจากคัมภีร์ใด พระสูตรใด หรือเกิดจากการหยั่งรู้ส่วนบุคคล ซึ่งผู้เขียนคงไม่สามารถไปให้คำตอบแทนมารดาของนายกุศลศรีอริยะได้

แต่อยากเชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมสำรวจที่มาของความเชื่อเรื่องพระอริยเมตไตรยในสังคมไทย ตามที่ปรากฏในหลักฐานเท่าที่มนุษย์ปุถุชนจะสามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน

 

ในวาระที่วันวิสาขบูชาเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ขอนำเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนกัน เรื่องราวของพระศรีอริยเมตไตรยปรากฏในความเชื่อของพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท ที่ต่างมีเรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต หลังจากที่ศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าดับสูญไปแล้ว

สำหรับพุทธศาสนาเถรวาทที่มีบทบาทสำคัญในสังคมไทย เรื่องราวของพระศรีอริยเมตไตรยปรากฏให้เห็นในพระไตรปิฎก โดยพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงส์ ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในยุคปัจจุบันที่เรียกว่า “ภัทรกัป” นี้ พระโคตมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรยจักมี (ในอนาคต)”

เช่นเดียวกันกับจักกวัตติสูตรในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระพุทธองค์ทรงได้บรรยายถึงการอุบัติขึ้นของพระศรีอริยเมตไตรยไว้โดยพิสดาร ใจความคือ เมื่อมนุษย์เสื่อมในศีลธรรมทำให้อายุขัยค่อยๆ ลดลง จนกระทั่งเหลือเพียง 10 ปี จากนั้นจะเกิดช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย ซึ่งมนุษย์ที่เต็มไปด้วยอกุศลจิตจะฆ่าฟันกันล้มตายสูญสิ้นไป

ส่วนมนุษย์ผู้ยังยึดมั่นในศีลธรรมจะรอดพ้นและกลับมาร่วมกันประกอบกุศลกรรม ทำให้อายุขัยค่อยๆ เพิ่มขึ้นอีกครั้งจาก 10 ปีเป็นหลักร้อยปี พันปี หมื่นปี จนเมื่ออายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้นถึง 80,000 ปี “พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าเมตไตรย์ จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก”

จะเห็นได้ว่า ตัวเลข 80,000 ปีในจักกวัตติสูตรไม่ได้หมายถึงช่วงเวลาที่ศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าล่วงไปแล้ว 80,000 ปี แต่เป็นอายุขัยของมนุษย์ที่จะยืนยาวถึง 80,000 ปี จึงจะเป็นช่วงเวลาที่พระศรีอริยเมตไตรยอุบัติขึ้น โดยพระสูตรไม่ได้ระบุว่า เมื่อใดอายุขัยของมนุษย์จึงจะยืนยาวถึงเพียงนั้น

 

แม้จะมีอีกความเชื่อหนึ่งในสังคมไทยคือ พระศรีอริยเมตไตรยจะอุบัติขึ้นหลังจากศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าล่วงไปแล้ว 5,000 ปี แต่น่าแปลกใจว่าความเชื่อดังกล่าวไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก

แล้วตัวเลข 5,000 ปีมาจากไหน?

ที่มาของตัวเลข 5,000 ปีพบได้ในอรรถกถาซึ่งรจนาขึ้นโดยพระเถราจารย์ชั้นหลัง เพื่ออรรถาธิบายโคตมีสูตรในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต รวมความว่าศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าจะถึงซึ่งความเสื่อมในระยะเวลาทุก ๆ 1,000 ปี จนกระทั่งครบ 5,000 ปี จึงถึงกาลสิ้นสุดแห่งพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาจะพัฒนาเป็นความเชื่อเรื่อง “ปัญจอันตรธาน” และหลังจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่โลกมนุษย์ไร้พุทธศาสนาอีกนานแสนนาน

ดังนั้น ตัวเลข 5,000 ปีจึงไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างไรกับการอุบัติขึ้นของพระศรีอริยเมตไตรย และหากว่าตามพระไตรปิฎกข้างต้นก็อาจจะเร็วเกินไปเสียด้วยซ้ำที่พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้บนโลกมนุษย์

 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรย “อย่างเป็นทางการ” เหล่านี้ ก็ยังมีความคลุมเครือ ไม่ได้มีกรอบเวลาที่ชัดเจน

ยิ่งไปกว่านั้นในอดีต ความเชื่อตามคัมภีร์เหล่านี้ยังจำกัดตัวอยู่ในกลุ่มพระสงฆ์และชนชั้นสูงที่รู้หนังสือ แต่สำหรับสามัญชนทั่วไป ความเชื่อเหล่านี้อาจถูกรับรู้ในลักษณะที่ต่างออกไป

ผลงานทางวิชาการจำนวนมากพบว่า ความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรยในสังคมไทย ถือเป็นหนึ่งในอุดมคติของชนชายขอบในการแสวงหาหรือให้การยอมรับผู้นำที่มีบารมีหรือ “ผู้มีบุญ” ในฐานะผู้นำในการต่อต้านการกดขี่จากศูนย์กลางอำนาจและอาจนำพาไปสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่า

ความเชื่อนี้จึงจัดอยู่ในกลุ่มลัทธิสหัสวรรษ (Millenarianism) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วโลก

กรณีกบฏผู้มีบุญหรือที่ทางการเรียกอย่างดูแคลนว่า “กบฏผีบุญ” เคยเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อคนท้องถิ่น เพราะนโยบายของรัฐบาลส่งกระทบต่อผลประโยชน์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิม

ความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรยจึงกลายเป็นความคาดหวังของผู้คนที่พร้อมจะยอมรับผู้มีบุญ โดยไม่ได้รับรู้หรือสนใจว่า การอุบัติขึ้นของผู้มีบุญหรือพระศรีอริยเมตไตรยจะตรงตามที่คัมภีร์ระบุไว้หรือไม่ หากเชื่อว่าผู้มีบุญญาธิการนั้นสามารถนำพาให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากไปสู่ความผาสุกของชีวิตได้

ที่กล่าวมานี้มิได้หมายความว่า การอ้างตนเป็นพระศรีอริยเมตไตรยของนายกุศลศรีอริยะจะไปไกลถึงขั้นเป็นกบฏต่อรัฐ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าหลายครั้งการตีความความเชื่อหนึ่ง ๆ ของปัจเจกบุคคล อาจสอดคล้องกับความเชื่อ “อย่างเป็นทางการ” หรือไม่ก็ได้

คำถามคือ เราควรจะจัดวางกรณีนี้ในสังคมสมัยใหม่อย่างไร?

 

ที่ผ่านมามีความเชื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยมากมาย ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างออกนอกหน้า เช่น การสวดมนต์ข้ามปีที่เพิ่งจะแพร่หลายในช่วงไม่กี่สิบที่ผ่านมา

และความเชื่อใหม่ในหมู่ประชาชนอย่าง การบูชาขอโชคลาภจากดวงวิญญาณเด็ก

การสะเดาะเคราะห์แก้ปีชงที่นับวันจะยิ่งเพิ่มลักษณะการชงตามความเชื่อของหลากหลายสำนัก

จนถึงการบูชาพญานาคที่ดูเหมือนจำนวนผู้ศรัทธาจะยิ่งเพิ่มขึ้น พร้อมกับเรื่องราวของพญานาคองค์ใหม่ที่แบ่งสายแบ่งภาคกันจนแทบจะจดจำชื่อกันไม่หวาดไม่ไหว

แต่ไม่ว่าความเชื่อใดก็ย่อมเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐในโลกสมัยใหม่ซึ่งควรจะเป็น “รัฐฆราวาส” (secular state) ไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่มย่าม ทั้งส่งเสริมหรือสกัดกั้นความเชื่อความศรัทธาของพลเมือง และไม่เพียงแต่ความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น ยังรวมถึงความเชื่ออื่นๆ ทั้งทางด้านวัฒนธรรม สังคม การเมืองที่ต่างไปจากความเชื่อ “อย่างเป็นทางการ”

หน้าที่เดียวของรัฐที่พึงมีต่อกรณีเหล่านี้คือ การดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่ความเชื่อเหล่านั้นถูกใช้เพื่อการก่ออาชญากรรม เช่น การหลอกลวงให้เกิดความสูญเสียต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของพลเมือง นอกเหนือไปจากนั้นเป็นวิจารณญาณส่วนบุคคลที่จะเลือกเชื่อหรือไม่ก็ได้

ดังนั้น ข้อมูลจากพระไตรปิฎกที่นำเสนอมานี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของวิญญูชนที่จะตัดสินได้เองว่า การประกาศตนเป็นพระศรีอริยเมตไตรยของนายกุศลศรีอริยะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และใครก็ไม่มีสิทธิจะไปก้าวก่ายความเชื่อของบุคคลอื่น เพราะหากความเชื่อใดปราศจากผู้ศรัทธา ความเชื่อนั้นย่อมดับสูญไปเองเป็นสัจธรรม

หากความเป็นสมัยใหม่คือ “ความศิวิไลซ์” ที่สังคมไทยใฝ่ฝัน หน้าที่ของรัฐฆราวาสดังกล่าวก็ควรได้รับการสมาทานอย่างจริงจังในสังคมไทย

แต่เท่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่ายังคงมีความพยายามในการใช้อำนาจรัฐและความเชื่อ “อย่างเป็นทางการ” เข้าไปจัดการความคิดความเชื่อของผู้คนอยู่เสมอ

สุดท้ายแล้วการก้าวเข้าสู่ภาวะความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทยอาจต้องใช้เวลาพอๆ กับการมาถึงของพระศรีอริยเมตไตรยเลยก็ได้ ใครจะไปรู้?