อ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 63 ชี้คดี ทหารยศพลตรี โดนคดียาเสพติดในสหรัฐฯ

อ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 63 ชี้คดี นายทหารยศพลตรี โดนคดียาเสพติด ในสหรัฐฯใช้พิจารณาคดีในไทยได้ ไม่กระทบอธิปไตย

วันที่ 7 พ.ค.64 ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก New Srukhosit ระบุถึงความเห็นของกฤษฎีกาที่ ในปี พ.ศ.2563 กรณีนายทหารรายหนึ่งทำความผิดในคดียาเสพติดที่สหรัฐ สามารถนำมาใช้พิจารณาประกอบการพิจารณาได้ ไม่เกี่ยวกับการกระทบอำนาจอธิปไตยของไทย ระบุว่า

การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ (Enforcement of foreign judgements) ต่างจากการรับรู้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ (Recognition of foreign judgements) ในฐานะข้อเท็จจริงที่ศาลและหน่วยงานทางปกครองของไทยสามารถนำมาพิจารณาประกอบการปรับใช้กฎหมายไทยได้ โดยไม่กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของไทย แต่อย่างใด

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ความเห็นกฤษฎีกาที่ 1271/2563 ข้อเท็จจริงมีว่า นายทหารยศพลตรี ถูกตัดสินโดยศาลสหรัฐว่า ผิดฐานนำเข้าเฮโรอีน ให้จำคุก 365 เดือน และต่อมาได้รับการปล่อยตัว

เรื่องนี้มีปัญหาว่า จะนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศที่ตัดสินให้นายทหารยศพลตรีมีความผิดฐานนำเข้าเฮโรอีน มาใช้ในการวินิจฉัยให้-ไม่ให้เบี้ยหวัดและบำเหน็จบำนาญได้หรือไม่

[ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ. 2528 ข้อ 7]
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11 และคณะที่ 13) เห็นว่า

1. ข้อหารือนี้มิใช่ข้อหารือเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาแต่เป็นข้อหารือเรื่องวินัยทหาร

2. การพิจารณาให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นกรณีที่ใช้ผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมารับฟัง เป็นพยานหลักฐานในฐานะข้อเท็จจริงในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการทหาร ซึ่งเป็น การรับฟังคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในฐานะข้อเท็จจริง
มิใช่การรับคำพิพากษาของ ศาลต่างประเทศมาบังคับโทษในประเทศไทย

3. ดังนั้น ข้อความว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว” ตามข้อ 7 วรรคสอง แห่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ. 2528 จึงรวมถึงคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลสหรัฐอเมริกาด้วย

4. เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า นายพลตรีคนนี้ ซึ่งถูกสั่งให้พักราชการได้กระทำความผิด ผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งให้ออกจากราชการตั้งแต่วันพักราชการ โดยไม่มีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญได้

เอกสารประกอบ