เอกชนปาดหน้ารัฐ ดิ้นหาทางออกหนีเจ๊ง แปลงออเดอร์-สต๊อก เป็นทุนเลี้ยงชีพ/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เอกชนปาดหน้ารัฐ

ดิ้นหาทางออกหนีเจ๊ง

แปลงออเดอร์-สต๊อก เป็นทุนเลี้ยงชีพ

 

เมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 3 มาแรงและเร็วต่อการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ เกิดคลัสเตอร์ไปหลายพื้นที่ กดดันประชาชนขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าใช้จ่าย ไม่ท่องเที่ยว และวิตกกับภาระที่แบกไว้อีก พร้อมกับเรื่องบ่นและร้องขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขทุกปัญหา

แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมหลายครั้งและสั่งการผ่านทีมเศรษฐกิจจัดทำแผนช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการออกมาตรการหรือโครงการอะไรก็ได้ ที่จะช่วยเหลือลดค่าครองชีพหรือเติมเงินในกระเป๋าประชาชน ผลักดันให้เกิดเงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจ เพื่อพยุงตัวเลขเศรษฐกิจไม่ให้หัวทิ่ม

และต่อเนื่องกันเมื่อมาตรการเยียวยา “เราชนะ” สิ้นสุด 31 พฤษภาคมนี้ ทุกฝ่ายก็คาดหวังมาตรการอย่างต่อเนื่อง ไม่สนว่ารูปแบบจะดลใจเท่าทุกคนได้เงินมาใช้จ่าย

เป้าหมายแรกจึงมุ่งไปมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 และมาตรการลดค่าใช้จ่ายประจำวัน ทั้งค่าไฟฟ้า ประปา ตั๋วฟรีตั๋วถูกเพื่อเดินทาง

และมองว่าช่วงปล่อยของที่เหมาะสมคือปลายพฤษภาคมถึงต้นมิถุนายน พอดีกับที่หลายฝ่ายประเมินว่าการแพร่ระบาดของโควิดรอบ 3 น่าจะคลายลง

 

ที่สำคัญแผนกระตุ้นใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจภาคประชาชน ต้องใจปล้ำ ใส่เงินเข้าระบบเศรษฐกิจไตรมาสละ 2-3 แสนล้านต่อเนื่อง 2-3 รอบจากนี้

เรื่องนี้นักวิชาการอย่างสถาบันทีดีอาร์ไอ เสนอแนะว่ารัฐควรจ่ายเยียวยาไปเลย 3,000-3,500 บาทต่อคน ต่อเนื่อง 3 เดือน ครอบคลุมประชาชน 30 ล้านคน ก็ใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ก็ยังเหลือเงินอีกกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่จำเป็น

พร้อมกับถึงเวลาแล้วที่รัฐควรเตรียมงบฯ 2 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนับจากนี้ หลังโควิดคลายลง แต่ก็ต้องใช้เวลาฟื้นอีก 1-2 ปี

ซึ่งรวมถึงแผนการกระจายวัคซีนต้องมากสุดถึง 70% ของประชาชนคนไทยได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

การประชุมหารือนายกรัฐมนตรีครั้งหลังๆ ก็กำชับทีมเศรษฐกิจเร่งแผนฟื้นฟูและช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยๆ จากนั้นก็เห็นการปล่อยข่าวว่าจะช่วยเหลือ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นอื่นๆ ทั้งโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งคืน

อีกทั้งออกมาชี้แจงว่ารัฐบาลปรับแก้เงื่อนไขมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะการพิจารณาช่วยเหลือผ่านพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน

โดยไม่นำเรื่องไม่มีเงินเดินบัญชี หรือติดเครดิตบูโร มาประกอบการพิจารณาก่อนปล่อยกู้ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นบ้าง

แต่ดูเหมือนทางปฏิบัติการเข้าถึงสินเชื่อก็ไม่ได้เพิ่มอย่างที่ควรจะเป็น

ผ่านมาเดือนเศษดูยอดอนุมัติที่ธนาคารแจ้งออกมา ก็เป็นหลักร้อยไม่ถึงพัน

 

ขณะที่ภาคเอกชนร้อนใจขึ้นทุกวัน ทั้งขาดรายได้ แบกรับค่าใช้จ่ายและจ้างงานเท่าเดิม เงินเก็บก็เริ่มหมดลง

ดังนั้น หอการค้าไทยมองแล้วว่าถึงเวลาต้องหาทางออกเอง

จึงเป็นแกนนำดึงคณะกรรมการภาคเอกชน (กกร.) ประกอบด้วยหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย สร้าง “แซนด์บอกซ์ค้าปลีก”

โดยใช้ใบสั่งซื้อสินค้าที่เอสเอ็มอีได้รับจากเจ้าของธุรกิจค้าปลีก นำไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้ยืมจากธนาคาร

เพียง 1 สัปดาห์เกิดการพิจารณาอนุมัติแล้ว 3,000 ราย จากที่ยื่นกู้ 6,000 ราย

พร้อมประกาศเป้าหมายเอสเอ็มอี 1 แสนราย ต้องได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อประคองธุรกิจ รักษาระดับการจ้างงาน

เรื่องนี้ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะรองประธานหอการค้าไทย กล่าวถึงที่มาว่า เริ่มได้เพราะสมาคมค้าปลีกรายใหญ่ให้การสนับสนุน รวบรวมรายชื่อเอสเอ็มอีที่ทำการค้าและเดือดร้อน ส่งให้ธนาคารพิจารณา โดยสมาคมรับรองว่าเอสเอ็มอีนั้นเป็นคู่ค้าตัวจริง และยังค้าขายกันในอนาคต ประวัติดี เป็นการจับคู่เพื่อง่ายต่อการที่ธนาคารจะอนุมัติ เพียงข้อมูลการค้าขายมีการสั่งซื้อสินค้ากันอยู่ โดยที่ไม่ต้องเช็กเครดิตบูโร และบัญชีเงินหมุนเวียนรอบปีซึ่งช่วงโควิดก็เหลือว่าต่ำมาก

“ข้อดี เอสเอ็มอีได้รับการช่วยเหลือเร็ว สมาคมค้าปลีกก็ได้คู่ค้าแข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงธนาคาร และปกติธนาคารต้องการลูกค้าใหม่ตลอดอยู่แล้ว แต่ตอนนี้การหาลูกค้าใหม่ค่อนข้างยาก เมื่อสมาคมธุรกิจช่วยให้ข้อมูล ก็จะได้ลูกค้าที่ดี เท่ากับว่ามาตรการนี้ช่วยเหลือกันทั้งสามฝ่าย ต่างคนต่างได้ประโยชน์”

“จากนี้จะใช้โมเดลแซนด์บอกซ์ค้าปลีก ขยายความช่วยเหลือเข้าถึงแหล่งเงินแบบที่ค้าขายกับค้าปลีก ไปสู่ธุรกิจด้านอื่น ที่ส่วนใหญ่การซื้อ-ขายกันในลักษณะห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาคส่งออก เป็นต้น”

“ในส่วนของรายละเอียดใช้หลักฐานก็ต้องมีหารือกันว่าแบบใดมีความเหมาะสม เพียงปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเห็นหลายรูปธรรม”

 

กอบกาญจน์ตบท้ายว่า หอการค้าสนับสนุนสมาคมธนาคารให้ช่วยเหลือในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่แล้ว จะต่อยอดทำสัมมนาออนไลน์ให้กับสมาชิกเพื่อเป็นการสร้างความรู้ ให้เข้าถึงมาตรการ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ของ ธปท.

ผู้ประกอบการจะได้ติดต่อ เจรจาขอความช่วยเหลือ หาแหล่งเงินทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ได้โดยเฉพาะโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ช่วยเหลือไม่ให้ผู้ประกอบการนั้นขายกิจการเพราะว่าการระบาดของโควิด-19 ถึงระลอก 3 แล้ว ผู้ประกอบการบางรายก็ถอดใจ จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อที่จะเป็นกำลังใจให้สามารถยืนหยัดทำธุรกิจต่อไปได้

ซึ่งโครงการนี้เน้นช่วยเหลือพวกกลุ่มธุรกิจภาคการท่องเที่ยว เพราะเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบหนักที่สุด ต้องการให้ธุรกิจนั้นยังอยู่ในมือของคนท้องถิ่นและดำเนินการกิจการต่อไปได้

สำหรับธุรกิจอื่นที่สามารถนำมาใช้ค้ำประกันกู้เงินได้ อาทิ กลุ่มส่งออก เสนอให้ใช้สต๊อกสินค้าที่เตรียมจัดส่งไปประเทศปลายทางแต่ยังติดปัญหาเรื่องการขนส่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หรือสั่งผลิตจากผู้ผลิตในและต่างประเทศที่เตรียมส่งมอบ เป็นต้น มาค้ำประกัน ซึ่งเป็นการยืนยันและลดเสี่ยงปล่อยกู้ได้

ภาคธุรกิจต่างชี้ให้เห็นว่าสภาพคล่องในเดือนพฤษาคม-มิถุนายนนี้ มีความสำคัญที่จะลดความเดือดร้อนจากโควิด-19 ระบาดรอบ 3 ให้ผ่านพ้นไปได้ หรือจะถูกปล่อยให้ธุรกิจเจอโรคเจ๊งระบาด

โดยภาคอุตสาหกรรมนั้นดูเหมือนจะยังอุ่นใจได้ เพราะหากมีคำสั่งและมีลูกค้าดั้งเดิมในมือก็สามารถใช้ค้ำประกันได้

แต่สำหรับภาคท่องเที่ยว และภาคบริการ ทั้งร้านค้าอาหาร ร้านเครื่องดื่ม สถานบันเทิง โรงแรม ห้องพัก ต่างก็ออกมาระบุแล้วว่า ตอนนี้มีอัตราใช้บริการหรือเข้าพักแค่ 5-10% และมีแรงงานที่ไม่รู้อนาคตในแวดวงนี้เป็นล้านคน ที่รอว่ารัฐจะช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร

ซึ่งการที่เอกชนออกโรงเอง ยื่นมือเข้าช่วยเอสเอ็มอีให้อยู่ต่อไปได้ เทียบวิธีเดิม จะเห็นได้ว่าไม่ยุ่งยาก เพียงแค่เลิกยึดติดความคิดกับกฎเกณฑ์เก่าๆ

นี่คืออีกบทเรียนที่รัฐควรนำไปศึกษา เพื่อหาแนวทางปฏิบัติให้ทันกับภาวะฉุกเฉิน