จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 30 เม.ย.- 6 พ.ค. 2564

จดหมาย

นายกฯ ลาออก

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และพวก ได้สถาปนาระบอบอำนาจนิยมขึ้น

7 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีอะไรดีขึ้น

ซ้ำร้ายยังเกิดโรคระบาดไปทั่ว

ทั้ง 3 รอบล้วนมาจากความบกพร่องของรัฐบาล ผลกระทบโควิดขยายตัวไปในวงกว้าง

แต่การเยียวยาประชาชนขาดประสิทธิภาพ

มหากาพย์การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทสร้างแต่หนี้สินให้ประเทศจากนโยบายประชานิยม

7 ปีผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ใช้งบฯ แผ่นดินไปแล้ว 20 ล้านล้านบาท

แต่เศรษฐกิจพังพินาศไปหมด

ดังนั้น การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลมา 1 ปีกว่า ก็ล้วนเพื่อกระชับอำนาจของรัฐบาลเอง

ไม่ได้แก้ปัญหาโควิดแต่อย่างใด

รัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) รวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือการคุกคามโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย (Judicial Harassment and SLAPP)

หรือการตั้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล

กระทั่งใช้กฎหมายมาตรา 112 และมาตรา 116 กล่าวหาประชาชนเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่าเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

แต่ 7 ปีที่ผ่านมาละเลยกระบวนการปรองดอง

และกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง

ทางออกจากความขัดแย้ง ผมขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงสปิริตลาออก

และเลือกนายกฯ คนใหม่จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

โดยสมาชิกวุฒิสภางดออกเสียง

ขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกและแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองร่วมกัน

ส่วนปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ควรตั้งกรรมาธิการพิเศษขึ้นมาแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กันในรัฐสภา

โดยมีผู้แทนรัฐบาล พรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้แทนนิสิต นักศึกษา ประชาชน

เพื่อหาข้อตกลงร่วมก่อนจะสายเกินแก้

เมธา มาสขาว

เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

เวทีไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย

 

ขออนุญาตตัดเนื้อหาบางส่วน

ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่

แต่ไฮไลต์ยังดำรงอยู่

นั่นคือการเรียกร้องนายกฯ “ลาออก”

ซึ่งตอนนี้ “กระหึ่ม” ขึ้นในหลายๆ ส่วน

แต่ได้ผลหรือไม่

คงต้องย้อนไปที่คำพูดเดิมๆ ของผู้นำ

“ผมทำผิดอะไร”

นั่นคือคำตอบ

 

พปชร.รับผิดชอบ

นั่งมองการเตะตัดขากันของนักการเมืองในสังกัดหรือคอก “พลังประชารัฐ” เพื่อแย่งอำนาจกันแล้ว

เรียนตามตรงว่า …ถุย…นี้หรือคือตัวแทนประชาชน

นับตั้งแต่การออกมาดิสเครดิตอนุชา นาคาศัย เพื่อยึดตำแหน่งเลขาธิการพรรคคืน

จนถึงการเลื่อยขาเก้าอี้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม สามารถ เจนชัยจิตรวนิช มือทำงานของสมศักดิ์ เทพสุทิน

ในขณะที่ไวรัสโคโรนา โควิด-19 กำลังถาโถมเข้าสู่ประเทศ

ทำให้เศรษฐกิจพังพาบ

จนมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เรียนถามบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้าของคอกหน่อยเถอะครับว่า “เหนื่อยมั้ย”

หรือได้แต่นั่งถอนหายใจอยู่เงียบๆ คนเดียว

แล้วอุทานออกมาว่า อนิจจา ไม่น่าเลยกู (…ไม่ฮา)

 

  อนิจจา

เพราะอำนาจไม่เข้าใครออกใคร

การเมืองในพรรคพลังประชารัฐ

จึงถึงซึ่งเวลาออกมาขัด-

แข้งขัดขาสารพัดวิธี

 

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็หันเหเอาด้วยกล

คาถามนต์ใช้ไปในวิถี

สรรพความชั่วช้าบรรดามี

เพื่อขยี้ฝ่ายผู้ศัตรูตน

 

เป็นผู้แทนฯ แทนที่เป็นผู้ใหญ่

มีอะไรน่าคุยไปในเหตุผล

มิใช่ไม่พอใจใครอีกคน

ก็ออกมาฟัดกันจนป่นปี้ไป

 

แทนที่จะเอาเวลาบรรดามี

ร่วมกันแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่

โดยเฉพาะเศรษฐกิจของไทย

ที่นับวันจะบรรลัยกลับไม่แล

 

อีกโควิด-19 เข้ารานรุก

สร้างความทุกข์ประชาชนทุกคนแย่

เคยคิดช่วยบ้างไหมหรือไม่แคร์

ช่วงหัวแม่เลือกมาแล้วก็แล้วกัน

สมโชค พลรักษ์

 

จะออกอาการ

ถึงขนาดบิ๊กป้อมอุทานออกมาว่า อนิจจา ไม่น่าเลยกู

เชียวเลยรึ

ที่ผ่านมาเห็นแต่บอก ไม่รุ-ไม่รุ

จะ change ขนาดนั้นเลยหรือ ไม่น่านะ (ฮา)