E-DUANG : เส้นแบ่ง ความเชื่อ ในสังคมพุทธ เพียงวาง หลวงพี่อาหลัว ลงไป

สังคมไทย ณ วันนี้ ปรากฏรูปธรรมแห่งการตรวจสอบในทางความคิดมากขึ้นเป็นลำดับ

เริ่มจากท่าทีต่อชายสูงวัยอย่าง Tony Woodsome

เพียงแต่ถามว่ารู้สึกอย่างไรต่อการปรากฏตัวผ่าน Club house ก็รู้ว่าคนที่ให้คำตอบเป็นอย่างไร

ยิ่งเมื่อเอ่ยนามของ “พี่เอก” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ “พี่ป๊อก” นายปิยบุตร แสงกนกกุล “พี่ช่อ” น.ส.กรรณิการ์ วาณิช ยิ่งแบ่งแยก กลุ่มทางความคิดออกได้ไม่ยาก

เหมือนกับเมื่อเอ่ยชื่อของ “อาจารย์ไชยยันต์” เหมือนกับเมื่อเอ่ยชื่อของ”อาจารย์ณัฐพงศ์” ก็รู้ว่าใครเป็นแฟนานุแฟนของใคร

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็ตรงที่เริ่มมี “พระอาหลัว”เข้ามา

“พระอาหลัว” แม้จะเป็นรูปจำลองแห่ง”พระเครื่อง”แต่เนื้อแท้แล้วกลับเป็น”ขนมไทย”

 

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์”พระอาหลัว”มีความร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปรากฏตัวขึ้นของ “หลวงพี่พะยอม” หรือแม้กระทั่ง”หลวงพี่สมปอง”

เพียงแต่หลวงพี่”อาหลัว”มิได้เป็นนักเทศน์ มิได้เป็นนักจัดรายการทางทีวี

หากแต่หลวงพี่”อาหลัว”ปรากฏเงาร่างผ่าน”พระเครื่อง”

อาจมิได้ปรากฏตัวในกรุงเทพมหานคร อาจเป็นการปรากฏตัวในพระนครศรีอยุธยา แต่เพราะบทบาทของ พ.ศ. หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ทำให้บทบาทของ”หลวงพี่อาหลัว”มีความโดดเด่นและกลายเนหัวข้อในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างชนิด ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

กระทั่งเป็น”ไวราล”อย่างรวดเร็วใน”โซเชียล มีเดีย”

 

ยิ่งมีการห้าม ยิ่งมีการขัดขวาง ยิ่งทำให้สังคมเพิ่มความสนใจต่อบทบาทและความหมายของ”หลวงพี่อาหลัว”

ไม่เพียงเพราะ “ไหว้” ก็ได้ “กิน” ก็ได้เท่านั้น

หากแต่ยังสร้างจุดเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญกับรูปบูชาอื่นๆที่ดำรงอยู่ก่อนแล้วในสังคมไทย

กลายเป็นคำถามว่าทำไมต้องกลัว”หลวงพี่อาหลัว”ด้วย