โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญ 2 รุ่น-ยอดนิยม หลวงพ่อเที่ยง ปัณฑิโต วัดธรรมนิมิต แม่กลอง

(ซ้าย) หลวงพ่อเที่ยง ปัณฑิโต (ขวาบน) เหรียญหลวงพ่อเที่ยง รุ่นแรก (ขวาล่าง) เหรียญหลวงพ่อเที่ยง รุ่นสอง

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญ 2 รุ่น-ยอดนิยม

หลวงพ่อเที่ยง ปัณฑิโต

วัดธรรมนิมิต แม่กลอง

 

“หลวงพ่อเที่ยง ปัณฑิโต” อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 2 ของวัดธรรมนิมิต ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกรูปของลุ่มน้ำแม่กลอง วิทยาคมเข้มขลัง แต่ไม่มีประวัติที่ชัดเจนว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เกิดที่ไหน

เกียรติคุณความแก่กล้าในวิทยาคมยังได้รับการกล่าวขานจนถึงปัจจุบัน พระเครื่องและวัตถุมงคลที่ปลุกเสกไว้ล้วนเป็นที่ปรารถนา หลายรุ่นได้รับความนิยมสูง

โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ.2461 เพื่อเป็นเหรียญที่ระลึกในงานศพของหลวงพ่อเที่ยงเอง สร้างเป็นเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ขอบกระบอก มีหูเชื่อมสำหรับคล้องเหรียญ

ด้านหน้า เป็นรูปจำลอง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏินั่งเต็มองค์บนอาสนะ มีตั่งรองรับ ใต้ตั่งมีเลขไทย “๒๔๖๑” รอบเหรียญเขียนว่า “ที่ระฤกในงาน ศพท่านปัณฑิตะ”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์อะระหังจำนวน 4 แถว คล้ายเหรียญหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม จังหวัดราชบุรี อ่านว่า “อะ ระ หัง อะ หัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ”

นอกจากนี้ เหรียญรุ่นสองก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

 

ทั้งนี้ เหรียญรุ่นสองสร้างในราวปี พ.ศ.2495 ลักษณะเป็นเหรียญรูปอาร์มหรือเหรียญโล่มีหูในตัว จัดสร้างโดยพระอาจารย์แม้น อิสิทินโน เจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว จัดเป็นเหรียญหายากอีกเหรียญหนึ่ง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

ด้านหน้า เป็นรูปจำลอง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปจำลองของเหรียญเขียนว่า “ที่ระลึก ท่านปัณฑิตะเที่ยง วัดธรรมนิมิต”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์อะระหัง อ่านว่า “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ”

พุทธคุณเหรียญรุ่นแรก ถือได้ว่าครบเครื่อง มีพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของกรุงเทพฯ และสมุทรสงคราม ร่วมปลุกเสกเป็นอย่างดี

หรือจะเป็นเหรียญรุ่นสอง แม้จะเป็นเหรียญตาย แต่มิใช่ว่าจะด้อยพุทธคุณ

จัดเป็นเหรียญที่หายากอีกเหรียญเช่นเดียวกัน

 

อัตโนประวัติหลวงพ่อเที่ยง ทราบแค่เพียงว่า เกิดในปี พ.ศ.2370

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2392 ขณะที่มีอายุได้ 22 ปี ที่วัดธรรมนิมิต โดยมีพระอุปัชฌาย์บุญ เจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์มา วัดธรรมนิมิต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แต่ไม่ปรากฏนามพระอนุสาวนาจารย์ว่าเป็นท่านใด ได้รับฉายาว่าปัณฑิโต

หลังอุปสมบท กราบลาพระอุปัชฌาย์บุญไปจำพรรษาอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม เป็นเวลาถึง 4 พรรษา

ในพรรรษาที่ 4 นั้นเอง พระอาจารย์มา วัดธรรมนิมิต มรณภาพลง ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2396 จึงได้ลาเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามกลับมาอยู่กับพระอุปัชฌาย์บุญที่วัดธรรมนิมิตตามเดิม

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2402 พระอุปัชฌาย์บุญมรณภาพลง จึงช่วยรักษาการเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต จนเมื่อร่วมกันจัดการฌาปนกิจศพพระอุปัชฌาย์บุญและพระอาจารย์มาพร้อมกัน เมื่อปี พ.ศ.2403 เสร็จเรียบร้อยแล้ว

จึงได้รับนิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต โดยมีพระอาจารย์สร้างเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.2403

 

หลังเป็นเจ้าอาวาส ยึดถือปฏิปทาดำเนินตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด มีคุณธรรม คือหิริและโอตตัปปะ ช่วยแนะนำพร่ำสอนให้พระภิกษุ-สามเณรศึกษาพระธรรมวินัยและให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด หมั่นแนะนำพร่ำสอนชาวบ้านให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมและดำรงตนอยู่ในสัมมาปฏิบัติ

ด้วยความที่ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดและมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำให้ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนเลื่อมใส จึงได้พากันไปมาหาสู่และมีใจศรัทธาเสียสละทรัพย์ส่วนตัวบ้าง รวมกันบ้าง เพื่อทำการก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ ไว้ในวัดธรรมนิมิต

สุดท้ายมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2458 สิริอายุ 83 ปี พรรษา 61

ในการนี้ พระเขมาภิมุขธรรม วัดพิชัยญาติการาม กรุงเทพฯ มาเยี่ยมศพ เมื่อกลับกรุงเทพฯ แล้ว จึงนำข่าวมรณภาพไปกราบทูลให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงทราบ

เพื่อขอให้พระอาจารย์ถนอมเป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอนุญาตให้มาในปี พ.ศ.2458

ปี พ.ศ.2459 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาเยี่ยมศพพระอาจารย์เที่ยง ทรงรับสั่งให้เตรียมการฌาปนกิจศพ โดยทรงพระกรุณารับเป็นประธาน และทรงพระกรุณาสร้างกุฎีอุทิศให้พระอาจารย์เที่ยง 1 หลัง เพื่อเป็นอนุสรณ์

ปลายปี พ.ศ.2459 ทางวัดจัดการฌาปนกิจศพพระอาจารย์เที่ยง มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประธาน พระอาจารย์ถนอมเป็นรองประธาน พระอาจารย์แม้นเป็นผู้ช่วย ฝ่ายคฤหัสถ์ที่เป็นกรรมการ อาทิ ขุนนิพัทธ์หะริณสุต, ขุนอนุกรมจะเกร็งรัฐ, ขุนศรีปุนสิริ, ขุนบวรประชานันท์, ขุนอาชีวกิจโกศล เป็นต้น พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์และท่านที่เคารพนับถือร่วมกันทำการฌาปนกิจศพ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเริ่มวางพระเพลิงก่อน มีมหรสพพอสมควรแก่ฐานะ

แต่ด้วยเหตุที่สมเด็จฯ ทรงมีงานที่ต้องตรวจสังฆมณฑลให้เสร็จสิ้นเสียก่อน งานจึงล่าช้าออกไป และงานฌาปนกิจของหลวงพ่อเที่ยงมาสำเร็จไปได้ด้วยความเรียบร้อยหลังจากนั้น