อะไรหรือ คือนิยายอันยอดเยี่ยม จากแดนมะกะโรนี? (2)/บทความพิเศษ ไชยันต์ รัชชกูล

บทความพิเศษ

ไชยันต์ รัชชกูล

 

อะไรหรือ คือนิยายอันยอดเยี่ยม

จากแดนมะกะโรนี? (2)

 

เรื่องเล่าและการเล่าเรื่อง

There is no doubt fiction makes a better job of the truth.

Doris Lessing นิยายเสนอความจริงได้ดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

ดอริส เลสซิ่ง

 

เลนูในฐานะผู้เล่ามิได้เล่าเรื่องจากสถานะของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่วงนอกซึ่งรอบรู้ไปทุกเรื่องจนถึงก้นบึ้งของความคิด ความรู้สึกของตัวละครทุกคน

แต่เป็นผู้หนึ่งที่คลุกคลีกับความเป็นไปของเรื่อง อีกทั้งเส้นทางชีวิตก็ถูกกำหนดและมีส่วนกำหนดความเป็นไปของชีวิตคนอื่นๆ

การเล่าของเลนูจึงเป็นไปตามที่เธอรู้เห็นและรู้สึก คนอื่นๆ ก็เช่นกัน แต่ละคนรับรู้ความจริงเพียงส่วนเสี้ยว ซ้ำร้ายก็ไม่ได้รับรู้เหตุการณ์จริงๆ โดยตรงด้วยตัวเอง แต่มาจากการบอกเล่า หรือกระทั่งการบอกเล่าต่อๆ กันมา ซึ่งเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็นการนินทา ไม่ว่าจะ ‘ว่าร้าย’ และ ‘ว่าดี’

เนื้อหาที่เรารับรู้จากเลนูเป็นหลักนั้น ก็เข้าข่ายเป็นคำนินทา ผู้อ่านจึงต้องรับฟังเธอเสมือนเป็นคำให้การของพยานปากหนึ่ง และต้องเตรียมใจไว้แต่ต้นว่า จะไม่เห็นคล้อยตาม “ความจริง” ของเธอเสมอไป

เหตุการณ์เดียวกัน แต่คนเล่าต่างกัน ก็กลายเป็นคนละเรื่อง

ลิลาเชื่อว่า สเตฟาโนแต่งงานกับเธอด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ผู้อ่านคงเห็นว่า ข้อสรุปนี้ละเลยความรู้สึกเสน่หาของสเตฟาโนต่อลิลา เราคงไม่เห็นไปในทางเดียวกับลิลา แต่จะคล้อยตามความเห็นและความรู้สึกของเลนูมากกว่าที่เชื่อว่า สเตฟาโนมิใช่เป็นคนที่ยกเรื่องเงินไว้เหนือความรัก

สเตฟาโนรักลิลาหรือไม่?

ถ้าให้สเตฟาโนตอบ ก็ย่อม “รักแน่นอน” แต่ถ้าเป็นคำตอบของคนอื่นๆ เล่า? ลิลามีอีกคำตอบหนึ่ง ส่วน เลนูอาจจะไม่แน่ใจเต็มร้อย

ยิ่งแม่ผัว น้องสะใภ้ของลิลาแล้ว อาจจะเลือก “ถูกทุกข้อ” ต่อคำถามปรนัย

ส่วนคนอื่นๆ เช่น เพื่อนผู้ชายที่เคยชอบพอลิลา และเพื่อนที่หมั่นไส้บาดหมางกับสเตฟาโนมาก่อน ความรู้สึกอันโลเลของเรโนพี่ชายของลิลา ฯลฯ คำตอบก็ต่างไปตามการประเมินของแต่ละคน และต่างไปตามช่วงเวลา

ส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญกว่านั้นคือ คำถามว่า อะไรหรือคือข้อพิสูจน์ของความรัก?

ถ้าสเตฟาโนรักลิลาจริง แล้วเอารองเท้าที่ลิลาออกแบบและทำมากับมือไปให้มาร์แซลโล หนุ่มที่ลิลาเคยด่าใส่หน้าทำไม?

ข้อ “พิสูจน์” นี้หนักแน่นสำหรับลิลา

แต่สำหรับเรโน มันไม่เป็นเหตุเป็นผลที่รองรับกันเลย ทั้งไม่เป็นสาระที่ควรเอามาใส่ใจเสียด้วยซ้ำ หรือถ้าจะนำมาคิด ก็อาจจะอธิบายด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ไม่ใช่เหตุผลทางหัวใจ

 

ภาพลักษณ์ที่ดอนอาคิลเลเป็น “ผู้ร้าย” ตามสายตาของผู้ใหญ่หลายคน ตรงกับความเป็นจริงหรือ?

สมมุติว่า ดอนอาคิลเลจะได้เล่าบ้าง ภาพ “ความจริง” ก็คงเปลี่ยนไป เป็นไปได้ว่า ผู้คนในย่านนั้นต่างหากที่ไม่รักษาคำพูด กู้เงินไปแล้ว ไม่ใช้คืนตามข้อตกลง ใครเบียดเบียนใครกันแน่?

ลิลาเคยไต่ไปถึงแฟลตดอนอาคิลเล ไปกล่าวหาต่อหน้าว่า เอาตุ๊กตาของเธอไป เลนูก็เออออตามไปด้วย แต่ผู้อ่านรู้ดีว่า เด็กหลงคิดไปเอง แต่แทนที่ดอนอาคิลเลจะตวาดใส่ไล่เด็กไปให้พ้นรำคาญ กลับให้สตางค์ไปซื้อตุ๊กตาตัวใหม่

เหตุการณ์นี้ถึงจะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็ทำให้เราฉุกคิดว่าเขาอาจจะไม่ใช่คนหน้าเลือด หรืออย่างน้อยก็ไม่ถึงกับระดับที่ร่ำลือกันปากต่อปาก จนลามมาถึงเด็กๆ ด้วย

แม้กระทั่งเมลานี หญิงโรคจิต เรื่องเล่าของเธอคงจะพลิกไปจากที่เราเข้าใจเกี่ยวกับบางคนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือไปก็ได้

ดูเหมือนว่า ลิลาเป็นคนเดียวในละแวกนี้ที่เห็นใจเมลานี ด้วยว่าไม่ได้ตัดสินการกระทำตามไม้บรรทัดของคนทั่วไป

มิใช่เพราะเมลานีเป็นญาติทางแม่ เพราะคนอื่นๆ ไม่มีใครนับญาติกับเธอมานานแล้ว อย่าว่าแต่จะมีใจให้เลย

 

“ความจริง” ของแต่ละคนจึงมาจากการตีความและการให้ความหมายต่อเหตุการณ์ จนสร้างเป็น “ความเข้าใจ” ของตัวเอง

ความจริงจึงเป็นพหูพจน์

ส่วน ‘ความจริงแท้’ (ถ้ามี) จะเป็นอย่างไรหรือ? ความจริงของแต่ละคนซึ่งถือว่าเป็น ‘ความจริงเชิงอัตตวิสัย’ นั้น เมื่อนำมาประมวลเข้าด้วยกันเป็น ‘ความจริงร่วม’ จะถือเป็น ‘ความจริงเชิงภววิสัย’ ขึ้นมาได้หรือ?

ในเมื่อไม่ได้ ดังนั้น เรื่องราวที่เราหาได้ก็คือแผ่นผืนของความหมาย (Web of Meanings) ที่แต่ละคนรวมทั้งตัวเราเองได้ร่วมกันสร้าง ซึ่งอาจจะหรืออาจจะไม่เกิดเป็นความเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับความเป็นจริง (A consensus of reality)

ในเมื่อเราไม่สามารถจะเชื่ออย่างสนิทใจกับเรื่องเล่าตามความเข้าใจของแต่ละคนได้ จึงชวนให้เราติดตามเรื่องโดยไม่หลงไปตามเรื่องที่เล่า อันเพิ่มอรรถรสในแง่ที่เราได้ร่วมในวงสนทนาโดยโต้ตอบ คล้อยตาม หรือเห็นแย้ง รวมทั้งสร้างเรื่องของเราตามความเข้าใจและการให้ความหมายของเราเองขึ้นมาควบคู่กันไป

นิยายชุดนี้จึงพลิกมาเป็นนิยายของผู้อ่านแต่ละคนที่เขียนขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ของแฟร์รานเต

หรือนี่จะเป็นเหตุผลที่แฟร์รานเตยืนยันว่า เมื่อผู้ประพันธ์เสนองานสู่สาธารณะแล้ว ก็เป็น ‘สมบัติกลาง’ ไม่ใช่สมบัติของผู้ประพันธ์ซึ่งสูญไปในงานนั้นแล้ว

แฟร์รานเตจึงไม่เปิดเผยตัวตนของเธอ ถึงจะมีความพยายามสืบค้นกันไปต่างๆ นานา แต่สำนักพิมพ์ก็ปฏิเสธการเดาทั้งหลายตลอดมา

 

ไม่ว่าผู้ประพันธ์จะมีเจตนาสื่อทัศนะ ความเห็น ความคิดอย่างไรในงานวรรณกรรม นอกจากผู้อ่านจะไม่สามารถล่วงรู้ได้อย่างแน่ชัดแล้ว ตามปกติวิสัย เราก็อ่านกันตามจริตและความสนใจของแต่ละคน ซึ่งนำไปสู่การสร้างเรื่องของเราขึ้นเอง

ทำนองเดียวกับผู้เล่นดนตรีตามบทประพันธ์ของคีตกวี ซึ่งย่อมมีลักษณะเฉพาะตนในการเล่นแต่ละครั้ง และต่างกันไปในบรรดาผู้เล่น

ผู้เขียนเองรู้สึกถึงฝีมือชั้นครูในลีลาการประพันธ์ของแฟร์รานเตที่ประสานลักษณะสำคัญๆ เข้าด้วยกัน คือ ชีวประวัติของนานาชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนปัจฉิมวัยอันเป็นเรื่องราวหลัก โดยมีการเมืองหลังสงคราม และระบบการศึกษาควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอิตาลีเป็นฉากหลัง

แต่การอ่านเช่นนี้ก็เป็นการอ่านแบบหนึ่งของผู้เขียนในช่วงเวลาหนึ่ง

ผู้ประพันธ์ดำเนินเรื่องด้วยการร่ายความเป็นไปของมิตรภาพของตัวละครคู่ที่ก่อตัวผูกพันกันตั้งแต่เด็กกะโปโลจวบจนจบชีวิต

โดยแต่ละช่วงอายุแสดงถึงชะตาชีวิตของแต่ละคนที่ผันผวนควบคู่ไปกับผู้คนอีกหลายสิบคนท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงสังคม

นอกจากนี้ ยังแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงภายใน คือการมองโลกและการทำความเข้าใจชีวิตของแต่ละคนซึ่งตอบสนองกับตอบโต้ต่อการกระทำจากโลกและสังคม

 

ทั้งเลนูและลิลาอยู่ในสภาพชีวิตที่ถูกบงการเสียจนยากที่จะมีความเป็นไปได้ทางอื่น “ฉันเป็นอย่างที่ฉันเป็น ฉันทำอะไรไม่ได้ นอกจากยอมรับ ฉันเกิดมาอย่างนี้ ในเมืองนี้ ในภาษาถิ่นนี้ และยากจน …” (เล่ม 2 น.320)

สภาพที่อยู่ รวมถึงความคิดในภาษา และภาษาในความคิดนั้นเป็นทางเดินแคบๆ ให้ย่ำ และเป็นกรอบกำหนดเส้นทางชีวิต สำนวน “หาตัวเองให้พบ” “เดินตามความฝัน” นั้นเป็นวลีหรูๆ แต่แสนจะแปลกปลอมสำหรับเลนู ลิลา รวมถึงคนส่วนใหญ่ในย่านนี้

ด้วยฐานะและสภาพชีวิต ลิลากับเลนูมีเมนูชีวิตอะไรให้เลือกหรือ?

เลนูเรียนต่อไปได้ ก็เพราะแรงเชียร์ และความสนับสนุนของครูโอริเวียโรที่เห็นแววความสามารถในการเรียน แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลเดียว เพราะแท้แล้วลิลาเป็นเด็กฉลาดเฉลียว เรียนเก่งกว่าเลนู ลิลาได้ที่หนึ่งมาตลอด ส่วนเลนูตามหลังอยู่เสมอ

แต่ลิลาเป็นเด็กแก่น ถึงขนาดเคยใช้มีดจี้หน้าเพื่อนชายที่โรงเรียน ทั้งมีเรื่องที่กวนประสาทครูโอริเวียโรอยู่เป็นประจำ ครูคงผูกใจเจ็บ ถึงขนาดว่า ปิดประตูใส่ เมื่อลิลาไปเชิญมางานแต่งงานด้วยซ้ำ

ถึงแม้ว่า ลิลาตัดสินใจแต่งงาน และเลนูตกลงใจไปเรียนต่อ แต่เราไม่สามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่า แต่ละคนเลือกเส้นทางชีวิตตาม “ความฝัน” ของตนเอง ซึ่งเงื่อนไขชีวิตนั้นไม่เอื้อแม้แต่จะคิดไปเสี่ยงโชคทางเมืองเหนืออย่างกรุงโรม หรือถึงเมืองมิลานเลย ลำพังจะออกไปนอกย่านอาศัยของตัวเองเพื่อเข้าไปในตัวเมืองเนเปิลส์ ก็ใช่ว่านึกอยากจะไปเมื่อไรก็ไปได้ โดยไม่ต้องคิดถึงสตางค์ค่ารถ ชีวิตของลิลาและเลนูได้แต่ไหลไปตามโชคชะตา

กระนั้นผู้อ่านอาจเห็นแย้งกับผู้เขียนว่า ลิลามีส่วนเป็น “ผู้เลือก” อยู่เหมือนกัน หรืออย่างน้อยก็มากกว่าเลนู

เธอสามารถเลือกคนที่จะแต่งงานด้วย และในเล่ม 2 ก็ได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวหลายครั้ง ถึงขนาดออกจากกรอบแก้วของชีวิตแต่งงาน (สามีก็พอมีอันจะกิน แม้ว่าจะถูกซ้อมเป็นครั้งคราว แต่อย่างน้อยก็ไม่อดตาย) ไปตายเอาดาบหน้า

กระนั้น ผู้เขียนก็ยังขอแย้งว่า “ทางเลือก” ของเธอนั้นเป็นความจำยอม หรือ เป็นทางเลือกที่ไม่มีทางอื่นให้เลือกเสียมากกว่า

แม่ของลิลาพึมพำกับเลนูว่า ลิลาก็ควรได้เรียนหนังสือเหมือนกัน โชคชะตาของเธอควรเป็นเช่นนั้น “แต่ผัวฉันไม่ยอม” แกพูด “ฉันเองก็ (ไม่) รู้จะเถียงยังไง ก็ตอนนั้นเราไม่มีเงิน ลีนา (ชื่อที่แม่เรียก) มันน่าจะได้เรียนหนังสือเหมือนแก แต่กลับแต่งงาน…” (เล่ม 2 น.243)

เราพบว่า ความเชื่อเรื่องชะตาชีวิตมีอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่เป็นคำศัพท์ของภาษานั้นๆ แต่ถึงแม้ว่าในระดับสังคมจะเป็นไปอย่างเข้ารอยทำนองเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในระดับบุคคล ก็ไม่มีนักสังคมศาสตร์แขนงใดเรียกขานพลังที่กำหนดความเป็นไปของสังคมว่า ชะตาชีวิตสังคม

ทั้งๆ ที่เมื่อมองปรากฏการณ์สังคมแบบย้อนกลับไป ก็อาจจะเห็นว่า ศัพท์คำนี้มิใช่เป็นเรื่องพกลม แนวคิดในปรัชญาประวัติศาสตร์บางสำนักก็ไม่ถึงกับปฏิเสธ

แต่ข้อคิดนี้เป็นเรื่องความเชื่อที่มีมานานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จึงเป็นปัญหาที่ยากจะถกเถียงกันจนมีข้อสรุปได้

สำหรับผู้เขียนเองเชื่อเรื่องชะตาชีวิตทั้งของบุคคลและของสังคม จึงอ่านและวิจารณ์นิยายชุดนี้ไปตามนั้น