วิรัตน์ แสงทองคำ/130 ปี โอสถสภา (2) ญี่ปุ่น-ตลาดหุ้นและเมียนมา

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

130 ปี โอสถสภา (2)

ญี่ปุ่น-ตลาดหุ้นและเมียนมา

 

ว่าด้วยการปรับตัวและแสวงหาโอกาสในยุคใหม่ๆ หนึ่งในบรรดาธุรกิจครอบครัวเก่าแก่ของสังคมไทย

“โอสถสภาโชว์ผลงานการดำเนินงานปี 2563 สวนกระแสโควิด-19 สถานะการเงินแข็งแกร่ง มาร์เก็ตแชร์โต กำไรเพิ่ม…” จากหัวข้อข่าวถ้อยแถลงผลประกอบการบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

สาระให้ความสำคัญอย่างเจาะจงสินค้าบางแบรนด์

 

สายสัมพันธ์ญี่ปุ่น

โดยเฉพาะเอ็ม-150 ซึ่งได้กล่าวพัฒนาการไว้ในตอนที่แล้ว ว่าด้วยผลงานช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรุ่นที่ 2 กับรุ่นที่ 3

ธุรกิจครอบครัวภายในตระกูลโอสถานุเคราะห์ มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจากสายสัมพันธ์ญี่ปุ่น “จาก ‘ลิโพ’ สู่ ‘เอ็ม-150’ จากแบรนด์ญี่ปุ่นที่อนุญาตให้ใช้ สู่แบรนด์ของโอสถสภาเอง”

ในที่สุด “กลายเป็นสินค้าหลักสำคัญที่สุดจนทุกวันนี้” ถ้อยแถลงข้างต้นย้ำว่า “เอ็ม-150 ช่วยเสริมให้กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 54.5%”

อีกแบรนด์หนึ่งที่กล่าวถึงไว้ด้วย “การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ ‘ซีวิท’ ช่วยผลักดันการขยายตัวของตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ที่ 9% และซีวิทยังครองอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 31%…”

ว่าไปแล้วซีวิท (C-vitt) ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่กำลังเติบโตซึ่งโฆษณาไว้ “เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ …วิตามินซีในรูปแบบน้ำ ช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินซีได้เร็วขึ้น มีวิตามินซีสูงถึง 200% (จากปริมาณแนะนำต่อวัน) เทียบเท่าปริมาณวิตามินซีที่ได้รับจากการบริโภคเลมอน 6 ผล”

เพิ่งเข้าสู่ตลาดไทยเพียงทศวรรษเดียว ภายใต้ “บริษัท เฮ้าส์ โอสถสภา ฟู้ดส์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เฮ้าส์ ฟู้ดส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) กับบริษัท โอสถสภา จำกัด ก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554” ข้อมูลทางการโอสถสภาว่าไว้

HOUSE FOODS GROUP INC. เครือข่ายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแห่งญี่ปุ่น ก่อตั้งมากว่า 100 ปี

จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเมื่อปี 2514 จากนั้นค่อยๆ ขยายเครือข่ายสู่ต่างประเทศ เปิดฉากเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ตามกระแสและโอกาส (ปี 2523) เวลานั้นสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งใหญ่ เงินดอลลาร์ตกต่ำอย่างมาก

คลื่นการลงทุนธุรกิจญี่ปุ่นพาเหรดเข้ามาอย่างครึกโครม เข้าซื้อกิจการธุรกิจอเมริกัน และยึดตลาดสหรัฐตั้งแต่กิจการรถยนต์ไปจนถึงการถือครองธุรกิจบันเทิง

อีกช่วงหนึ่ง HOUSE FOODS GROUP INC. เข้าสู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงปี 2540 ขณะเกิดวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” เศรษฐกิจและธุรกิจจีนขยับครั้งใหญ่

ในที่สุดมาร่วมมือกับโอสถสภาตามกระแสญี่ปุ่นรอบใหม่ ต่อเนื่องจากขบวนร้านอาหารญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมไทยอย่างคึกคัก ในทศวรรษที่เพิ่งผ่านมา บางกรณีมีความเกี่ยวข้องกันด้วย

หนึ่งในกระแสนั้น มี CoCoICHIBANYA ร้านอาหารประเภทแกงกะหรี่สไตล์ญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย ว่ากันว่าเป็นร้านแกงกะหรี่ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งและมีสาขาเกือบ 1,200 แห่งในญี่ปุ่น และอีกกว่า 30 สาขาในประเทศภูมิภาคเอเชีย

ส่วนในเมืองไทยสาขาแรกเปิดขึ้นเมื่อปี 2551 ปัจจุบันมีกว่า 20 สาขาแล้ว

ในเวลาต่อมา (ปี 2558) เครือข่ายร้าน CoCoICHIBANYA กลายเป็นกิจการหนึ่งใน HOUSE FOODS GROUP INC.

ความสัมพันธ์โอสถสภากับธุรกิจญี่ปุ่นยังคงดำเนินไป โฟกัสธุรกิจเครื่องดื่มต่อไป

อีกกรณีควรอ้างถึง Calpis น้ำไม่อัดลม (uncarbonated soft drink) ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2540 โดยร่วมทุนกับบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จนถึงปี 2555 จำต้องหยุดการผลิตลง เมื่อ Asahi Group Holding เครือข่ายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นได้ซื้อแบรนด์ “Calpis” และ Calpis Co., Ltd. (japan)

และแล้วในปี 2556 Calpis กลับสู่ตลาดไทยอีกครั้ง ภายใต้กิจการร่ามทุน-บริษัท คาลพิส โอสถสภา จำกัด

 

สู่ตลาดหุ้น

เป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับธุรกิจครอบครัวกว่าศตวรรษ ตัดสินใจนำกิจการหลักเข้าตลาดหุ้น ว่าไปแล้วช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ตระกูลโอสถานุเคราะห์ซีกสุรัตน์-เพชร-รัตน์มีบทบาทอีกครั้ง

เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานคณะกรรมการบริหาร (ขณะนั้น) นำทีมผู้บริหารร่วมพิธีเปิดการซื้อ-ขายวันแรก (17 ตุลาคม 2561) ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อ OSP เพิ่งผ่านกระบวนการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2561

ช่วงแรกๆ ราคาไม่ค่อยจะดีนัก ลดลงต่ำกว่าราคาจอง (25 บาทต่อหุ้น) จากนั้นอีกประมาณครึ่งปีจึงขยับปรับตัวสูงขึ้น

ปรากฏการณ์ข้างต้น อาจเป็นเชื้อก่อกระแสให้ขบวน “ขาใหญ่” เดินแผนการเข้าตลาดหุ้นกันอย่างคึกคักในช่วงปี 2561-2562 หรือไม่ ยากจะคาดเดา

 

บุกเมียนมา

แผนการโอสถสภาซึ่งสร้างแรงจูงใจต่อนักลงทุนในเวลานั้น คือการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะเมียนมา

ตามไทม์ไลน์ในปีเดียวกันกับเข้าตลาดหุ้น (ปี 2561) ระบุไว้ว่า “จัดตั้ง Osotspa Myanmar Company Limited เพื่อดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มในเมียนมา” และ “พิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งแรกในต่างประเทศของบริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา เมียนมา”

เรื่องราวโอสถสภากับการลงทุนในเมียนมานั้นดูตื่นเต้น ด้วยเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจคนหนึ่งสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจเป็นหนึ่งในเครือธุรกิจทรงอิทธิพลในเมียนมา (อ้างจากบทความ Business Conglomerates in the Context of Myanmar’s Economic Reform โดย Aung Min; Toshihiro Kudo (2014)) โดยใช้เวลาแค่ 2 ทศวรรษ เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจประเทศหนึ่งกำลังแง้มประตูสู่โลกภายนอก

Sai Sam Htun เชื้อสายฉาน จบปริญญาแพทยศาสตร์ และ MBA จากสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตในแคนาดาและสหรัฐอเมริการาวๆ ทศวรรษ ก่อนจะกลับเมียนมาในปี 2534

ประสบกาณ์สำคัญทำงานให้ Myanmar Foodstuffs Industries (MFI) จะเรียกว่ารัฐวิสาหกิจยาสูบสำคัญของรัฐก็ว่าได้

จากนั้นในปี 2539 ผันตัวสร้างธุรกิจตนเอง ก่อตั้ง Loi Hein Company Ltd. ดูเป็นจังหวะสอดคล้องกับโอสถสภา เดินแผนขยายธุรกิจสู่เมียนมาใน 2 ปีต่อมา (2541) ด้วยความร่วมมือดันเปิดตลาดเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ฉลาม (Shark) ในเมียนมาซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

โมเดลธุรกิจ Loi Hein Company ดูไปคล้ายๆ โอสถสภา สร้างฐานธุรกิจเครื่องดื่มอย่างครอบคลุม ทั้งสร้างสินค้าแบรนด์ของตนเอง และร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจรายอื่นๆ เหมือนจะตั้งใจกับธุรกิจไทยเสียด้วย ไม่ว่าร่วมมือกับบริษัทกรีนสปอร์ต (ประเทศไทย) ในปี 2551 และบริษัทสยามไวเนอรี่ เจ้าของผลิตภัณฑ์ SPY Wine Cooler (ปี 2552) ทั้งนี้ Sai Sam Htun มีสโมสรฟุตบอลทีมสำคัญในเมียนมา ชื่อ Yadanabon อีกด้วย

แผนการโอสถสภาในเมียนมาล่าช้าไปบ้าง จากที่เคยบอกไว้ “จะเปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่ประเทศเมียนมาให้ได้ภายในปลายปี 2562” ในที่สุด “อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของโอสถสภา ได้แก่ การเปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563”

ในช่วงเวลานั้นมีการกระชับแผนการลงทุน ตามไทม์ไลน์ที่อ้าง “ปี 2562 เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน OSOTSPA LOI HEIN COMPANY LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทจาก 51% เป็น 85%” โมเดลการลงทุนในเมียนมายกระดับขึ้นไปอีก (ในปี 2562 เช่นกัน) “จัดตั้ง MYANMAR GOLDEN EAGLE COMPANY LIMITED เพื่อการดำเนินธุรกิจผลิตขวดแก้วในเมียนมา”

โมเดลซึ่งเชื่อว่าจะเป็นแม่แบบในแผนการขยายธุรกิจสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันด้วย

“สถานการณ์ในเมียนมาอาจมีผลกระทบต่อการขนส่งและการดำเนินงานในระยะสั้น ซึ่งบริษัทมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” ถ้อยแถลงที่มีขึ้นต้นเดือนมีนาคม (อ้างถึงแล้วในตอนต้น) สะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง จนถึงขณะนี้โอสถสภายังไม่มีถ้อยแถลงในกรณีข้างต้นอื่นใดตามมาอีก

หวังว่าจะเป็นอย่างที่คาด