การลุกขึ้นสู้ในเมียนมา! สงครามที่รออยู่เบื้องหน้า / ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

การลุกขึ้นสู้ในเมียนมา!

สงครามที่รออยู่เบื้องหน้า

 

“เราจะทำในสิ่งที่หัวใจของเราบอกว่าเป็นความถูกต้อง แม้ว่าความตายเป็นรางวัลเดียวที่เราได้รับ”

Ammar Habib

The Heart of Aleppo : A Story of the Syrian Civil War

 

นักเรียนในสาขาการเมืองระหว่างประเทศตระหนักดีว่า สงครามกลางเมืองที่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางและชนกลุ่มน้อยในพม่า/เมียนมาไม่ใช่ประเด็นใหม่แต่อย่างใด

เพราะด้วยความเป็นประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยเป็นส่วนประกอบสำคัญของความเป็นรัฐสมัยใหม่ในยุคหลังอาณานิคมนั้น การสู้รบระหว่างรัฐบาลกลางกับชนกลุ่มน้อยในประเทศ เป็นสิ่งที่เกิดมาตั้งแต่หลังได้รับเอกราช

จนมีมุมมองเปรียบเทียบในอดีตว่า พม่าคือ “ยูโกสลาเวียตะวันออก”

แต่ผลจากความรุนแรงที่ทวีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ทำให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่ายถึงการพาประเทศไปสู่ “สงครามกลางเมือง” และไม่ใช่บริบทของสงครามระหว่างรัฐบาลกลางกับชนกลุ่มน้อยในแบบเดิม แต่อาจเทียบเคียงได้กับตัวแบบของ “สงครามกลางเมืองซีเรีย” ที่ความขัดแย้งภายในประเทศผลักดันให้เกิดการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน หรือเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลอำนาจนิยมกับฝ่ายประชาธิปไตยดังเช่นที่เห็นในซีเรีย

หากมองภาพรวมของสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น

ดังนี้

1) นับจากการยึดอำนาจของผู้นำทหารเมียนมาที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว การต่อต้านรัฐบาลทหารเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 500 คน (ตัวเลขต้นเดือนเมษายน)

แม้รัฐบาลทหารจะใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามอย่างหนัก แต่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อสู้ต่อไป

จนทำให้มาตรการปราบปรามทางทหารถูกท้าทายอย่างมากว่าจะหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยได้หรือไม่

และรัฐบาลทหารที่เผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจะสามารถอยู่ได้อีกนานเพียงใด

2) การปราบปรามที่เกิดขึ้นกลับส่งผลกระทบโดยตรงกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารอย่างหนัก และทำให้รัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก และภาพที่ปรากฏชัดทางการเมืองคือ การปราบปรามด้วยกำลังอาวุธไม่สามารถ “สยบ” การลุกขึ้นสู้ของประชาชนได้เช่นในยุคหลังรัฐประหาร 1988

และยิ่งมีการเสียชีวิตของผู้ประท้วงเป็นจำนวนมากเท่าใด สถานะทางการเมืองของรัฐบาลทหารก็ยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นเท่านั้น

และยอดผู้เสียชีวิตไม่ใช่ดัชนีที่ยืนยันถึงชัยชนะของรัฐบาลทหาร

3) การต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารเดินถึงจุดสำคัญประการหนึ่งคือ การจัดตั้งองค์กรที่เป็นเสมือน “รัฐบาลผลัดถิ่น” ของฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ อันเป็นองค์กรที่เป็นคณะกรรมการตัวแทนของกลุ่มการเมืองต่างๆ หรือที่ใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษว่า “CRPH”

การกำเนิดขององค์กรเช่นนี้ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีตัวแทนที่สามารถเปิดการเคลื่อนไหวในเวทีสากลได้อย่างชอบธรรมและเป็นรูปธรรม

ซึ่งต่างจากการต่อสู้กับการรัฐประหารครั้งก่อนหน้านี้

4) ในการต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ ได้เห็นท่าทีของชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ตอบรับกับการจัดตั้งรัฐบาลทหารเท่าใดนัก แม้พวกเขาอาจจะไม่พอใจกับนโยบายต่อชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลของพรรค NLD ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี

แต่ไม่ได้หมายความว่าชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะยอมรับการหวนคืนของรัฐบาลทหารอีกครั้ง

เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาในยุคที่รัฐบาลทหารมีอำนาจ ก็ไม่ได้มีสัญญาณเชิงบวกจากทางฝ่ายกองทัพที่จะขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพอย่างจริงจัง

และหากฝ่ายประชาธิปไตยชนะ อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้กระบวนการสันติภาพและสิทธิของชนกลุ่มน้อยได้รับการยอมรับมากขึ้น

5) การไม่ยอมรับรัฐบาลทหารของผู้นำชนกลุ่มน้อยสะท้อนให้เห็นชัดเจนอีกส่วนจากการที่กองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย ได้ร่วมกันจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างกลุ่มต่างๆ ในการต่อต้านรัฐบาลเนปิดอว์ ซึ่งทำให้ CRPH มีฐานสนับสนุนที่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ชัดเจน

และหากกองกำลังบางส่วนของฝ่ายรัฐบาลทหารตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยแล้ว ก็จะเกิดการยกระดับเป็นสงครามกลางเมือง

6) แม้หลายฝ่ายจะมีความรู้สึกว่าสหประชาชาติมีความเป็น “เสือกระดาษ” อย่างมากต่อการมีบทบาทที่จะต้องเข้าแทรกแซงในวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

ประกอบกับบทบาทของจีนและรัสเซียที่พร้อมจะปกป้องรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีสหประชาชาติ อันส่งผลเวทีคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ (UNSC) ไม่สามารถจะเดินหน้าแก้ปัญหาได้มากเท่าที่ควร

แต่กระนั้นก็เห็นถึงท่าทีของสหประชาชาติที่เรียกร้องให้เวทีโลกเข้าแทรกแซงวิกฤตการณ์ความรุนแรงในเมียนมา และเสียงเรียกร้องนี้เป็นแรงกดดันโดยตรงต่อรัฐบาลทหาร และยิ่งทำให้รัฐบาลทหารสูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นในเวทีโลก

7) รัฐบาลทหารเมียนมาได้รับความสนับสนุนในเวทีระหว่างประเทศจากทั้งจีนและรัสเซีย แต่การแสดงบทบาทของจีนในการเป็นผู้ปกป้องระบอบทหารอย่างชัดเจนนั้น ก็ส่งผลกระทบต่อบทบาทของจีนอย่างมาก

การเผาโรงงานทอผ้าของจีน 32 แห่งในเขตพื้นที่ย่างกุ้ง เป็นภาพสะท้อนของกระแสความไม่พอใจ

จนอาจต้องถือว่าเป็นการก่อตัวของ “กระแสต่อต้านจีน” อย่างชัดเจนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

และยิ่งจีนแสดงบทบาทเป็นผู้ปกป้องรัฐบาลทหารมากเท่าใด กระแสต่อต้านจีนก็ยิ่งทวีสูงมากขึ้นเท่านั้น และก็จะยิ่งกลายเป็นข้อจำกัดต่อบทบาทของจีนในการแก้วิกฤตการณ์ครั้งนี้

8) การแก้วิกฤตความรุนแรงในเมียนมาครั้งนี้ มีความพยายามทั้งจากจีนและญี่ปุ่นที่จะให้องค์กรในภูมิภาคอย่างอาเซียนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น การพบระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย หรือการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของบางประเทศในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เพื่อพูดคุยหาลู่ทางในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ครั้งนี้ที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 เมษายนนี้

แต่บทบาทของไทยดูจะหายไปจากเวทีดังกล่าว ทั้งที่เป็นประเทศหน้าด่านของปัญหา

9) การแซงก์ชั่นผู้นำทหารเมียนมาของรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แม้อาจจะดูว่ายังทำอะไรไม่ได้อย่างจริงจัง แต่ก็ส่งผลลบในทางการทูตอย่างมาก และยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงกระแสในเวทีสากลไม่สนับสนุนรัฐประหาร

ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรปได้ออกถ้อยแถลงที่ชัดเจนที่ไม่ยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลทหารที่เกิดขึ้น แม้ฝ่ายรัฐบาลจะพยายามสร้างหลักฐานว่ารัฐบาลพลเรือนเดิมโกงการเลือกตั้ง หรือผู้นำพลเรือนอย่างนางซูจีมีเรื่องการรับสินบนและการคอร์รัปชั่น

แต่ดูเหมือนว่าในเวทีระหว่างประเทศไม่ให้ความสนใจกับข้ออ้างและหลักฐานเหล่านี้ และมองการสร้างหลักฐานของผู้นำทหารว่าเป็นเพียงการหาเหตุในการยึดอำนาจมากกว่า และวันนี้รัฐบาลทหารกล่าวหานางซูจีถึง 5 คดีแล้ว

10) การออกแถลงการณ์ของผู้นำทหารระดับสูงสุด (CDF) 12 ประเทศในวันที่ 28 มีนาคม 2021 ต้องถือเป็นมิติใหม่ เพราะเป็นสัญญาณ “จากทหารถึงทหาร” ซึ่งโดยปกติแล้วผู้นำทหารในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่แสดงออกทางการเมือง และการแสดงท่าทีต่อปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องของรัฐบาลพลเรือนโดยตรง

แต่ในครั้งนี้ผู้นำทหาร ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี กรีซ อิตาลี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรง

และเรียกร้องให้ทหารเมียนมากลับสู่การเป็น “ทหารอาชีพ” ในมาตรฐานสากล ที่ทำหน้าที่ปกป้องประชาชน

 

11) แม้รัฐบาลทหารพยายามจะสร้างภาพว่าพวกเขาควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศได้ ด้วยการจัดงาน “วันกองทัพเมียนมา” ในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม ที่มีการสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่ในแบบของรัฐทหาร

ซึ่งในงานนี้มี 8 ประเทศได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม ลาว และไทย

แต่ในวันนั้นกองทัพได้สังหารประชาชนของตนเองไปไม่น้อยกว่า 114 ชีวิต (เป็นวันที่มีการเสียชีวิตสูงสุด)

อันทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า วันกองทัพเมียนมาคือ “วันสังหารประชาชน” และส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมากต่อประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานดังกล่าว

12) บทบาทขององค์กรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง “อาเซียน” กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า อาเซียนจะยึดติดอยู่กับหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” อันมีนัยถึงการยอมรับถึงการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นการยอมรับอย่างมีนัยสำคัญต่อการปราบปรามที่เกิดขึ้นด้วย

ซึ่งหากอาเซียนไม่ดำเนินการอะไรเลย ย่อมเท่ากับอาเซียนกำลังยอมรับต่อการใช้กำลังของรัฐในการสังหารประชาชนในประเทศสมาชิก ซึ่งจะทำให้หลักของการไม่แทรกแซงกิจการภายในแปรเปลี่ยนเป็น “หลักการยอมรับการสังหารหมู่” ที่รัฐบาลชาติสมาชิกของอาเซียนจะสังหารประชาชนของตนเองอย่างไรก็ได้ โดยอาเซียนจะไม่รับรู้ด้วย และอาเซียนจะไม่แทรกแซง

แต่การสังหารขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลทหารเมียนมากำลังท้าทายอย่างมากว่า อาเซียนจะอยู่กับ “หลักการยอมรับการสังหารหมู่” ไปได้อีกนานเพียงใด และอาเซียนจะถูกกดดันมากขึ้น เมื่อประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องให้แทรกแซงการใช้ความรุนแรงของรัฐในเมียนมา

13) การแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกในการยุติการสังหารประชาชนในเมียนมา เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะแม้จีนจะพยายามปกป้องรัฐบาลทหารเมียนมาเพียงใดก็ตาม แต่หากการใช้ความรุนแรงกับประชาชนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องแล้ว ความชอบธรรมในการคงอยู่ของรัฐบาลทหารจะถดถอยลงเป็นลำดับ และการหันกลับไปปิดประเทศ และใช้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนเป็นเครื่องมือในการลดแรงกดดันจากภายนอก อาจจะใช้ไม่ได้มากเช่นในอดีต เพราะเมียนมาได้ถูกก้าวสู่ภายนอกแล้วจากการเปิดประเทศ และส่งผลให้ประชาธิปไตยเป็นความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตกับระบอบเผด็จการทหาร

14) แม้รัฐบาลทหารจะ “ต่ออายุ” ในทางการเมืองได้ด้วยการปราบปรามประชาชน และการสนับสนุนของจีนและรัสเซีย แต่ระบอบทหารก็จะดำรงอยู่อย่างไร้เสถียรภาพ และอาจเกิด “สงครามภายใน” ที่มีภาวะยืดเยื้อ จนเมียนมาอาจกลายเป็น “คนป่วย” ทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

15) การใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารมีผลอย่างมากในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเมียนมา ผลคู่ขนานกับการปราบปรามครั้งนี้คือ การขยายตัวของการระบาดที่เพิ่มมากขึ้น และความรุนแรงส่งผลซ้ำเติมต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศให้ “ป่วยหนักขึ้น” อีกด้วย

16) เอกภาพเป็นปัญหาสำคัญเสมอในทุกระบอบทหาร และผลของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเกิดจากการที่ทหารอีกส่วนหนึ่งที่เริ่มตระหนักว่า การมีบทบาททางการเมืองอย่างมากจะทำลาย “ผลประโยชน์ของสถาบันทหาร” จนทำให้ผู้นำทหารอีกส่วนหนึ่งตัดสินใจที่จะเอาทหารออกจากการเมือง เพื่อรักษาสถาบันกองทัพ

เพราะหากปล่อยความรุนแรงเดินไปอย่างไม่จำกัดแล้ว ไม่เพียงจะทำให้สถาบันทหารต้องเผชิญหน้ากับประชาชนเท่านั้น หากอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองได้ด้วย

และยิ่งสถานการณ์ความรุนแรงล่วงเลยไปนานเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการ “โหมไฟสงคราม” ให้ปะทุมากขึ้น รอเวลาที่เมียนมาจะเดินไปสู่ “สงครามกลางเมือง”

ดังเช่นที่โลกเห็นมาแล้วจากตัวอย่างของซีเรีย!