องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ชี้ สื่อสารมวลชนถูกปิดกั้นใน 132 ประเทศทั่วโลก

วันที่ 20 เม.ย. เอเอฟพี รายงานว่า องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน หรืออาร์แอสแอฟ (RSF) ออกรายงาน ดัชนีเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Index) ประจำปี 2021 ระบุว่า สื่อสารมวลชนถูกปิดกั้นระดับบางส่วนเป็นอย่างน้อยใน 132 ประเทศ จากทั้งหมด 180 ประเทศที่มีการสำรวจ หรือคิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของโลก

ในจำนวนนี้ 73 ประเทศ สื่อสารมวลชนถูกปิดกั้นอย่างสิ้นเชิงหรือขัดขวางอย่างหนักหน่วง ขณะที่อีก 59 ประเทศ ถูกจำกัด โดยรัฐบาลหลายประเทศใช้การระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์การควบคุมสื่อสารมวลชนเลวร้ายลง

คริสโตฟ เดอลัวร์ เลขาธิการใหญ่อาร์แอสเอฟ ระบุในแถลงการณ์ว่า “สื่อสารมวลชนเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในการป้องกันการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร แต่โชคร้ายที่การผลิตและการเผยแพร่มักถูกปิดกั้นด้วยปัจจัยการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และบางครั้งแม้แต่วัฒนธรรม”

สำหรับปีนี้ 5 อันดับสูงสุด ได้แก่ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก และคอสตราริกา (ชาติในอเมริกากลาง) ขณะที่ 5 อันดับแย่สุด ได้แก่ เอริเทรีย (ชาติในแอฟริกาตะวันออก) เกาหลีเหนือ เติร์กเมนิสถาน จีน และจิบูตี (ชาติในแอฟริกาตะวันออก)

รายงานพบว่า ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังเป็นประเทศที่มีความกดดันมากสุดต่อผู้สื่อข่าว โดยเน้นสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และซีเรีย ตลอดปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ในฝั่งเอเชีย มาเลเซียมีสถิติย่ำแย่ครั้งเลวร้ายสุด ลดลงมา 18 อันดับ อยู่ที่อันดับ 119 ส่วนหนึ่งเนื่องจากกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมที่อนุญาตให้รัฐบาลกำหนดความจริงตามฉบับของตัวเอง ส่วนไทยขยับขึ้นจากอันดับ 140 ปีที่แล้ว เป็น 137 ในปีนี้

อาร์แอสแอฟระบุว่า เสรีภาพสื่อระดับโลกโดยรวมยังมีเสถียรภาพอย่างมากตลอดปีที่ผ่านมา แต่ชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวลดลงร้อยละ 12 ตั้งแต่เริ่มการจัดอันดับครั้งแรกในปี 2556 ปัญหาส่วนหนึ่งคือความไว้วางใจในตัวผู้สื่อข่าวลดลงที่มีต้นเหตุเกิดจากการแบ่งขั้วการเมืองและการบิดเบือนข้อมูลผิดพลาดในโลกออนไลน์

อาร์แอสแอฟยังรายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่นเอเดลแมน หรือ เอเดลแมน ทรัสต์ (Edelman Trust) ครั้งล่าสุดไม่นานนี้พบว่า ร้อยละ 59 ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 28 ประเทศทั่วโลก เชื่อว่า ผู้สื่อข่าวจงใจทำให้สาธารณะชนเข้าใจผิด

ทั้งนี้ ดัชนี้เสรีภาพสื่อโลกอ้างจากแบบสอบถามที่ส่งไปถึงผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก รวมกับข้อมูลการละเมิดและการใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่มีความเป็นพหุนิยม ความเป็นอิสระของสื่อ การเซ็นเซอร์ตนเอง และปัจจัยอื่นๆ