สุรชาติ บำรุงสุข : ความรุนแรงจากยุโรปสู่เอเชีย! สงครามใหม่ – ตัวแสดงใหม่

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
A picture taken on March 31, 2016 shows the remains of a statue in a residential neighbourhood of the modern town, adjacent to the ancient Syrian city of Palmyra. Syrian troops backed by Russian forces recaptured Palmyra on March 27, 2016, after a fierce offensive to rescue the city from jihadists who view the UNESCO-listed site's magnificent ruins as idolatrous. / AFP PHOTO / JOSEPH EID

“ในความเป็นจริง กองทัพไม่ได้เตรียมตัวสำหรับสงครามครั้งที่แล้ว แต่บ่อยครั้งที่กองทัพเตรียมตัวสำหรับสงครามที่ไม่ได้รบต่างหาก”

General Rupert Smith

The Utility of Force (2005)

ค่ำคืนแห่งความเลวร้าย!

คํ่าคืนของวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2017 ในลอนดอน น่าจะเป็นเวลาสำหรับการเดินเล่น ท่องเที่ยวและการดื่มตามผับต่างๆ

แต่ความน่าอภิรมย์เช่นนี้ดูจะกลายเป็นเพียง “ภาพลวงตา” ไปทันทีเมื่อรถแวนสีขาวเปิดปฏิบัติการพุ่งชนผู้คนบนทางเท้าที่ “London Bridge” ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอังกฤษ

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 22.08 น.

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่ามีเหตุร้าย มีการเอามีดไล่แทงคนในย่าน “Borough Market” อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวกินดื่มของผู้คนในวันหยุด

แล้วก็ตามมาด้วยเหตุไล่แทงคนอีกในย่าน Vauxhall…

ค่ำคืนของวันเสาร์ที่ 3 จึงกลายเป็น “คืนแห่งความเลวร้าย” จากปฏิบัติการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือเป็น “coordinated attack” และจนขณะนี้รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศชัดเจนแล้วว่าเหตุดังกล่าวเป็น “การก่อการร้าย”

ความน่ากังวลสำหรับการก่อการร้ายในใจกลางเมืองหลวงของอังกฤษก็คือ เหตุร้ายในคืนวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน เกิดห่างจากกรณีระเบิดฆ่าตัวตายในงานเทศกาลดนตรีที่แมนเชสเตอร์ อารีน่า (Manchester Arena) ไม่มากนัก (เหตุเกิดวันที่ 22 พฤษภาคม)

จากเหตุดังกล่าวเป็นต้นมา อังกฤษยังอยู่ในภาวะของการเตือนภัยใน “ระดับสูง”

นอกจากนี้ ถอยกลับไปในวันที่ 22 มีนาคม ก็เกิดการก่อการร้ายที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (The Palace of Westminster) ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐสภาอังกฤษ

ดังนั้น จาก 22 มีนาคม 2017… 22 พฤษภาคม… 3 มิถุนายน รูปลักษณ์ของความรุนแรงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อังกฤษไม่ได้ต่างกับหลายๆ ประเทศในยุโรปที่กำลังเผชิญกับ “สงครามใหม่”

และยิ่งหากจะพิจารณาจากบริบทของยุโรปแล้ว ก็จะเห็นได้จากการเก็บรวบรวมสถิติว่า “เฉลี่ยทุกๆ 9 วันในปี 2017” จะเกิดการก่อการร้ายขึ้นในยุโรป (จากมกราคม-พฤษภาคม 2017) [ข้อมูลจาก Breitbart]

ตัวเลขสถิติดังกล่าวย้ำเตือนให้เห็นอย่างดีว่า โลกของ “สงครามเก่า” ที่รัฐและผู้นำทหารมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่งนั้นกำลังค่อยๆ หมดความสำคัญลง

ดังจะเห็นได้ว่าโอกาสที่รัฐในยุโรปจะก้าวเข้าสู่สถานการณ์ความขัดแย้งจนขยายตัวเป็น “สงครามใหญ่” ในแบบสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 กำลังผ่านเลยไป และอาจจะกลายเป็นสถานการณ์แบบเก่าที่อาจจะไม่หวนกลับคืนมา และพัฒนาการของปัจจัยต่างๆ แล้ว สงครามโลกไม่ใช่คำตอบของสถานการณ์ปัจจุบันแต่อย่างใด

วันเวลาของสงครามเก่า

โลกสมัยใหม่เปราะบางเกินไปกับสงครามโลก เพราะหากเกิดสงครามเช่นนั้นจริง ไม่แต่เพียงจะเกิดความเสียหายขนาดใหญ่กับบรรดารัฐต่างๆ เท่านั้น หากยังจะก่อให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่นกันด้วย

ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการขยายบทบาทของรัสเซียในวิกฤตยูเครน หรือปัญหาในแหลมไครเมียอย่างไรก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า สถานการณ์เช่นนั้นจะนำไปสู่ความตึงเครียดจนนำไปสู่ความขัดแย้งและขยายตัวเป็นสงคราม เช่นปัญหาในปี 1914 หรือในปี 1939

นอกจากนี้ จากสภาวะของความเป็นรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์ก็ยิ่งเป็นคำตอบในตัวเองว่า โอกาสของปัญหาการแข่งขันของรัฐในยุโรปจะเดินหน้าไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งแบบเก่าและขยายตัวเป็นสงครามใหญ่หรือมีสภาวะที่เป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ” เช่นที่โลกได้ประจักษ์มาแล้วกับสงครามโลกทั้งสองครั้งก็ดูจะเป็นสิ่งที่ผู้นำรัฐยุโรปในโลกปัจจุบันล้วนตระหนักดีว่า สงครามไม่ใช่เครื่องมือหลักประการเดียวในนโยบายที่จะทำให้รัฐสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองได้

หากแต่รัฐในสภาวะเช่นนี้มีเครื่องมือต่างๆ ที่จะทำให้ได้รับผลตอบแทนทางการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสงครามเช่นที่เกิดขึ้นกับโลกในอดีตอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความคุ้มค่าในทางนโยบายในโลกปัจจุบัน

ในขณะที่สภาวะของสงครามแบบเก่าที่เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างรัฐกับรัฐค่อยๆ ลดบทบาทและความสำคัญลง

โลกกลับเห็นถึงปรากฏการณ์ของการกำเนิดและพัฒนาการของตัวแสดงใหม่ในเวทีการเมืองโลก ซึ่งแต่เดิมนั้นตัวแสดงหลักในเวทีโลกเป็นบทบาทของรัฐ และรัฐเท่านั้นที่ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติถูกถือว่าเป็น “บุคคลระหว่างประเทศ” ที่สามารถดำเนินกิจกรรมระหว่างประเทศได้ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่การเมืองโลกในระยะที่ผ่านมาเรากลับเห็นการปรากฏตัวของตัวแสดงที่ไม่ได้มีสถานะของความเป็นรัฐ

ตัวแสดงนี้บางส่วนอยู่ภายในรัฐเอง (หรือเป็นตัวแสดงที่ต่ำกว่ารัฐ) หรือบางส่วนเป็นตัวแสดงที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของความเป็นรัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรก่อการร้าย องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ขบวนการก่อความไม่สงบ เป็นต้น

และองค์กรเหล่านี้ได้แสดงบทบาทและขยายกิจกรรมจนสามารถแข่งขันในเชิงอำนาจกับรัฐได้ และในการแข่งขันเช่นนี้ในบางกรณีได้เป็นการท้าทายต่อรัฐ

เช่น การแย่งความภักดีจากรัฐ การติดอาวุธให้กับองค์กรตัวเองจนมีขีดความสามารถทางทหารที่จะสามารถต่อสู้กับรัฐได้

ซึ่งก็คือการทำลายการผูกขาดด้านอาวุธของรัฐตามทฤษฎีในวิชารัฐศาสตร์

การมาเยือนของสงครามใหม่

ตัวอย่างของตัวแสดงที่แข่งขันและท้าทายกับรัฐเช่นนี้อาจถือได้ว่า “อัลกออิดะห์” (AQ) ซึ่งเป็นขบวนติดอาวุธของพวกมุสลิมชุดหนึ่ง จนสามารถเปิดปฏิบัติการโจมตีสหรัฐในวันที่ 11 กันยายน 2001 ได้นั้น เป็นตัวแทนที่ชัดเจนของตัวแสดงแบบใหม่ในเวทีระหว่างประเทศ

ดังนั้น บทบาทของ “ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” ในเวทีการเมืองเช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ชุดใหม่ในโลกปัจจุบัน และปรากฏการณ์ชุดนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของสงครามชุดใหม่ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ จนเราอาจถือได้ว่ารูปแบบของสงครามเช่นนี้กำลังกลายเป็นแบบแผนหลักของความขัดแย้งในการเมืองโลก และปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่ของโลก

นอกจากตัวแบบของอัลกออิดะห์ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เราได้เห็นถึงขบวนชุดใหม่ที่ปรากฏตัวขึ้นในช่วงกลางปี 2014 และการก่อตัวของขบวนชุดนี้อาจเป็นเพราะความถดถอยของขบวนติดอาวุธเดิม

การกำเนิดของ “กลุ่มรัฐอิสลาม” (IS) ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอีกตัวอย่างของตัวแสดงใหม่ในเวทีการเมืองโลกปัจจุบัน และไม่ต่างจากขบวนเดิมที่กลุ่มรัฐอิสลามเองก็เปิดการต่อสู้กับตัวแสดงที่เป็นรัฐอย่างชัดเจนด้วยการขยาย “พื้นที่ปฏิบัติการ” เข้าสู่ภูมิภาคยุโรป

ฉะนั้น หลังจากการก่อตัวและขับเคลื่อนจนกลุ่มรัฐอิสลามประสบความสำเร็จในการยึดเมืองโมซุล (เมืองใหญ่อันดับสองของอิรัก) พร้อมกันนี้ก็ขยายเข้าไปในซีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งฐานที่มั่นหลักที่เมืองรักกา ในช่วงกลางปี 2014 ต่อต้นปี 2015 แล้ว พวกเขาได้ขยาย “พื้นที่สงคราม” เข้าไปในยุโรปด้วย

ดังจะเห็นได้ว่าการโจมตีปารีสในเดือนมกราคม 2015 คือจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนของ “วิกฤตก่อการร้าย” ของยุโรป จนสามารถเปรียบเทียบได้ว่าถ้าวิกฤตก่อการร้ายของสหรัฐเริ่มในเดือนกันยายน 2001 และวิกฤตของยุโรปก็เริ่มในเดือนมกราคม 2015

Prague residents carrying a Czechoslovak flag and throwing burning torches attempt to stop a Soviet tank in Prague 21 August 1968 as the Soviet-led invasion by the Warsaw Pact armies crushed the so called Prague Spring reform in former Czechoslovakia. / AFP PHOTO / CTK / LIBOR HAJSKY

ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงการมาถึงของ “สงครามใหม่” ที่โลกตะวันตกกำลังเผชิญ

สงครามชุดนี้ไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้ระหว่างรัฐกับรัฐในแบบเดิมอีกต่อไป

สงครามชุดนี้กลับเป็นเรื่องที่รัฐสู้กับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ

และในความใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือ ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (ไม่ว่าจะในฐานะองค์กรหรือตัวบุคคล) สามารถที่จะใช้การต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบความคิดหรือปรากฏให้เห็นจากจินตนาการของสงครามแบบเดิมอีกต่อไป…

สงครามกำลังเปลี่ยนแปลงไป สงครามตามแบบที่เราคุ้นเคยจากบริบททางประวัติศาสตร์หรือจากความรับรู้ในทางใดก็ตาม อาจจะกลายเป็น “ความล้าสมัย” ไปโดยปริยาย

จนมีคำเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ความล้าสมัยของสงครามใหญ่” (The Obsolescence of Major War) [ผลงานทางวิชาการของ John Mueller ตีพิมพ์ในปี 1990]

การขยายตัวของสงครามใหม่

ในความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ สงครามใหม่กลับปรากฏให้เห็นในรูปแบบของการก่อการร้าย และการก่อความไม่สงบ ซึ่งขยายตัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลก

ดังจะเห็นได้จากบทบาทของกลุ่มรัฐอิสลาม กลุ่มโบโกฮาราม เป็นต้น

และนอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นในยุโรปแล้ว ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ดูจะเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่มีความพยายามในการจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธของชาวมุสลิมขึ้น

ดังนั้น ในท่ามกลางการขึ้นสู่กระแสสูงของกลุ่มรัฐอิสลาม กลุ่มติดอาวุธบางส่วนในภูมิภาคนี้ก็แสดงออกอย่างชัดเจนถึงการประกาศการยอมรับการนำ (หรือจะบอกว่าเป็นการยอมมอบความภักดีก็ได้) ต่อกลุ่มรัฐอิสลามอันส่งผลให้เสมือนเกิด “ฐานที่มั่นใหม่” ของกลุ่มรัฐอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประกาศเช่นนี้จึงเท่ากับบ่งบอกถึง “การปักหมุด” ของกลุ่มไอเอสลงบนที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคนี้โดยตรง

และถูกจับตามองอย่างมากในฐานะของปัญหาความมั่นคงชุดใหม่ที่เห็นถึงการขยายบทบาทและอิทธิพลขององค์กรติดอาวุธนอกภูมิภาคเข้าสู่ภูมิภาค

จนกลายเป็นความกังวลอย่างมากว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะเป็น “แนวรบใหม่” ของสงครามของกลุ่มไอเอส

และอาจจะไม่แตกต่างจากแนวรบในยุโรปของสงครามชุดนี้

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การปิดล้อมเมืองของกลุ่มติดอาวุธที่ชื่อ “กลุ่มเมาเต้” (The Maute) ที่เกิดขึ้นกับเมืองมาราวีในฟิลิปปินส์ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และเป็นปฏิบัติการที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาบูไซยาฟ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธหลักที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์

โดยกลุ่มนี้ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนถึงการยอมรับการนำของกลุ่มรัฐอิสลาม

ในขณะเดียวกันการโจมตีเมืองมาราวีในครั้งนี้ก็ดูจะไม่แตกต่างกับปฏิบัติการปิดล้อมเมืองที่เกิดขึ้นในอิรักหรือซีเรีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “ชูธงดำ” เป็นสัญลักษณ์ในการเข้าตีเพื่อแสดงนัยของความเป็นกลุ่มรัฐอิสลาม

การเปิดปฏิบัติการในลักษณะ “ตัวแบบมาราวี” ทำให้หลายๆ ฝ่ายกำลังเชื่อว่า ฟิลิปปินส์ภาคใต้กลายเป็น “ฮับ” ของกลุ่มรัฐอิสลามไปแล้ว

และหลังจากเกิดเหตุในฟิลิปปินส์ไม่กี่วัน ก็เกิดระเบิดฆ่าตัวตายในจาการ์ตา (24 พฤษภาคม 2017)

และก็มีความชัดเจนเช่นกันว่า ปฏิบัติการฆ่าตัวตายครั้งนี้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับกลุ่มรัฐอิสลาม อีกทั้งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าในสนามรบที่อิรักและซีเรียมีประชาชนจากประเทศดังกล่าวได้เข้าไปร่วมรบกับกลุ่มรัฐอิสลามด้วย

ซึ่งก็คือการบ่งบอกที่ชัดเจนว่า สงครามไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ของรัฐในแบบเก่า แต่เป็นบทบาทใหม่ของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ และทั้งยังสามารถแข่งขันในการเรียกร้องหา “ความภักดี” จากบุคคล จนสามารถนำพาบุคคลเหล่านั้นเข้าสู่สงครามได้

ซึ่งบทบาทเช่นนี้แต่เดิมเป็นการผูกขาดของรัฐเท่านั้น

ความท้าทายของสงครามใหม่

ดังนั้น เมื่อตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐทำลายการผูกขาดของรัฐทั้งในเรื่องของการเป็นผู้ควบคุมองค์กรติดอาวุธ และเป็นผู้ครอบครองความภักดีของบุคคลภายในรัฐแล้ว สงครามก็เปลี่ยนแปลงไปโดยปริยายและกลายเป็น “สงครามใหม่” ในเวทีการเมืองโลกที่ตัวแสดงเช่นนี้สามารถเปิด “เวทีสงคราม” ต่อสู้กับรัฐได้

และแบบแผนของสงครามชุดนี้ก็แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

แม้วันนี้สถานการณ์ของอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานจะดูถดถอยไม่แตกต่างจากกลุ่มรัฐอิสลามในอิรัก แต่อาการถดถอยเช่นนี้ไม่ใช่การพ่ายแพ้ เพราะเรายังเห็นความรุนแรงภายใต้ร่ม “ธงดำ” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สงครามใหม่ไม่เพียงแต่ทำให้สงครามตามแบบ (หรือสงครามเก่า) กลายเป็น “ความล้าหลัง” ไปโดยปริยายเท่านั้น หากยังทำให้ชุดความคิดทางทหารเก่าที่วางน้ำหนักไว้กับการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารด้วยเครื่องมือเก่าที่เป็นกำลังรบและอาวุธหนักแบบต่างๆ กลายเป็นปัจจัยที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ในสงครามใหม่…

Japan’s Maritime Self Defense Forces helicopter carrier Izumo sails out its Yokosuka Base in Kanagawa prefecture on May 1, 2017.
Japan on May 1 dispatched its biggest warship since World War II to protect a US supply ship, one of the country’s military roles expanded under Prime Minister Shinzo Abe, as tensions mount in the region over North Korea. / AFP PHOTO / JIJI PRESS / STR / Japan OUT

สงครามนี้ไม่ได้รบด้วยเครื่องบิน รถถัง เรือรบอีกต่อไป

เพราะคู่สงครามที่ไม่เป็นรัฐ ไม่มีพื้นที่สนามรบ จึงไม่เปิดโอกาสให้รัฐสามารถใช้ความเหนือกว่าของอำนาจการยิงทำลายฝ่ายตรงข้ามได้

“สงครามใหม่” เช่นนี้จึงท้าทายต่อ “ผู้นำเก่า” ที่ยึดโยงกับ “ความคิดเก่า” และผูกติดอยู่กับ “เครื่องมือเก่า”

เพราะปัจจัยทั้งสามนี้ไม่สามารถรับมือกับ “สงครามใหม่” ชุดนี้ได้เลย

และสงครามนี้อาจจะยาวกว่าที่เราคิด!