ปริศนาโบราณคดี : ‘รุไบยาต’ จาก ‘เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์’ ถึง ‘โอมาร์ คัยยัม’ (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
(ซ้าย)โอมาร์ คัยยัม (Omar Khayyam) (ขวา) เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ (Edward FitzGerald)

 

‘รุไบยาต’

จาก ‘เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์’

ถึง ‘โอมาร์ คัยยัม’ (จบ)

 

ต้องขอประทานโทษผู้อ่านที่เป็นแฟนวรรณกรรม “รุไบยาต” ด้วยนะคะ ที่สองฉบับที่ผ่านมาถูกคั่นด้วยเรื่องราวของการทวงคืนศักดิ์ศรีแด่สาขา Media Arts and Design เหตุที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงกันอยู่

ดิฉันในฐานะอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะให้แก่นักศึกษาสาขาดังกล่าว กลุ่มที่ถูกย่ำยีด้วยการนำงานศิลปะนิพนธ์ทิ้งลงถังขยะอย่างไม่เป็นธรรม มีความจำเป็นต้องออกมาปกป้องลูกศิษย์ ทวงคืนศักดิ์ศรี และยืนเคียงข้างการต่อสู้ของอาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี ก่อนด้วยอีกแรงหนึ่ง

มิอาจรอให้เขียนรุไบยาตจบทั้งสองตอนได้

ฉบับนี้กลับมาคุยเรื่อง “รุไบยาต” ที่ค้างคากันต่อ

โดยขอเปลี่ยนชื่อเรื่อง จากการมุ่งโฟกัสไปที่รุไบยาตเวอร์ชั่นใหม่ฉบับแปลโดยอาจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ขอใช้ชื่อใหม่ตามที่ทุกท่านเห็นแทน

เนื่องจากเรื่องราวที่ดิฉันสัมภาษณ์ความในใจของอาจารย์พงศ์เกษมที่มีต่อวรรณกรรมเรื่องรุไบยาตนั้น ได้นำมาลงตีพิมพ์เผยแพร่แทบจะครบหมดทุกประเด็นแล้ว ผู้สนใจที่ต้องการอ่านงานของอาจารย์พงศ์เกษมสามารถค้นหา-ติดตามอ่านได้จากสองช่องทาง

ทางแรก อยู่ในหนังสืองานศพของ รศ.พิณ สินธุเสก วันที่ 9 พฤษภาคม 2552 ช่องทางที่สอง เคาะกล่องเฟซบุ๊กอาจารย์พงศ์เกษมซึ่งใช้นามแฝงว่า “สาหรีปาตี กฤษณะ” แจ้งความจำนงว่าอยากอ่านรุไบยาตฉบับแปลใหม่ อาจารย์พงศ์เกษมบอกกับดิฉันว่ายินดีส่งไฟล์ pdf ต้นฉบับให้แก่ผู้สนใจศึกษาได้อ่านกันเต็มๆ

“รุไบยาต” ฉบับนี้ ดิฉันขอมุ่งเน้นไปที่เบื้องหลังชีวิตของผู้แปลรุไบยาตเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อผู้อ่านเห็นชื่อหัวเรื่องแล้วคงรู้สึกทะแม่งๆ อย่างแน่นอน

และย่อมเกิดคำถามว่า ทำไมจึงไม่ใช้คำว่าจาก ‘โอมาร์ คัยยัม’ ถึง ‘เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์’ แต่กลับสลับเอาชื่อคนแปลนำหน้าคนเขียน

เรื่องนี้มีที่มาเดี๋ยวจักได้เฉลย

 

ภาพประกอบ “รุไบยาต”

แท้คืองานศิลปะชื่อก้อง

ของกลุ่ม Pre-Raphaelite

มหาโศลก “รุไบยาต” เวอร์ชั่นแรกสุดที่คนไทยรู้จักคือ บทนิพนธ์แปลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โดยแปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ของกวีนาม ‘เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์’ (Edward FitzGerald-โปรดสังเกตว่า Gerald ใช้ตัว G ใหญ่ เพราะเป็นนามเฉพาะ) ผู้แปลรุไบยาตจากภาษาเปอร์เซียน

เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ (31 มีนาคม 1809-14 มิถุนายน 1883) เกิดที่เมือง Suffolk ประเทศอังกฤษ เมื่ออายุได้ 7 ขวบ ครอบครัวของเขาย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงปารีส แต่แล้วผ่านไปเพียง 2 ปี คุณปู่ของเขาได้เสียชีวิตลง บิดาจึงพาครอบครัวกลับมาที่อังกฤษอีกครั้ง

เอ็ดวาร์ดจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ด้านศาสนาปรัชญาและวรรณกรรม

เมื่ออายุได้ 21 ปี เขาฝันจะเดินทางไปใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสอีกครั้ง แต่ก็อยู่ที่นั่นได้เพียงปีเดียว เนื่องจากปี 1831 เกิดสงครามระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส เขาต้องเดินทางกลับอังกฤษ

เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ (Edward FitzGerald)

ฟิตซ์เจอรัลด์เริ่มเขียนงานวรรณกรรมแนวปรัชญากรีกตั้งแต่ปี 1835 โดยใช้ชีวิตในกระท่อมอย่างโดดเดี่ยวอยู่หลายปี กระทั่งมีผลงานเผยแพร่อย่างเป็นรูปธรรมสองเล่มแรกในปี 1851 ชื่อ Euphranor และ Platonic Dialogue

ปี 1852 เขาหมกมุ่นหลงใหลในวรรณคดีภาษาสเปน หนึ่งปีให้หลังหันมาสนใจภาษาเปอร์เซียเพิ่มด้วยอีกภาษาหนึ่ง ระหว่าง 1853-1857 เขาขลุกตัวอยู่ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เสมือนได้กลับมาเป็นนักศึกษาใหม่อีกครั้ง

แม้จะมีอายุย่าง 40 ปีแล้ว แต่ฟิตซ์เจอรัลด์ไม่อายเลยที่จะต้องมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับศาสตราจารย์เอ็ดวาร์ด บายลส์ โคเวล (Prof. Edward Byles Cowell) ปรมาจารย์ใหญ่ด้านวรรณคดีอาหรับและเปอร์เซีย

บุคคลผู้นี้เองที่หยิบยื่นวรรณกรรมเรื่อง “รุไบยาต” ให้เขาแปล

ฟิตซ์เจอรัลด์ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะแปลบทกวีภาษาเปอร์เซียนของ Omar Khayyam จำนวนมากกว่า 200 บทมาเป็นภาษาอังกฤษได้สำเร็จ เมื่อแปลเสร็จมีการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1859

แต่รุไบยาตฉบับปฐมฤกษ์ของเขากลับไม่ได้รับความสนใจจากใครทั้งสิ้น

จนกระทั่งเพื่อนศิลปินกลุ่ม Pre-Raphaelite (เป็นสาขาย่อยของศิลปินกลุ่มโรแมนติก ที่นำชื่อของศิลปินก้องโลกนาม “ราฟาเอล” ยุคเรอเนซองส์มาใช้ เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเฉพาะในประเทศอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตอนกลาง) คนหนึ่งชื่อ Dante Gabriel Rosetti ได้ชักชวนเขาให้เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้

โดยศิลปิน Rosetti กับเพื่อนกลุ่ม Pre-Raphaelite ยินดีที่จะช่วยวาดภาพประกอบลายเส้นให้แก่งานแปลรุไบยาตของเขาให้มีสีสันมากยิ่งขึ้น หากมีการตีพิมพ์ครั้งที่ 2

ด้วยเหตุนี้เอง ภาพประกอบในหนังสือรุไบยาต ฉบับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของฟิตซ์เจอรัลด์ จึงเป็นผลงานภาพลายเส้นของศิลปินกลุ่ม Pre-Raphaelite ซึ่งมีกลิ่นอายคล้าย Art Nouveau ผสม Romanticism เน้นลายเส้นเลื่อนไหล โดยเฉพาะรูปสตรีที่ตกอยู่ในภวังค์

และดูเหมือนจะสืบมาจนถึงเวอร์ชั่นหลังๆ อีกหลายเล่ม ทั้งฉบับของแคน สังคีต สุริยฉัตร ชัยมงคล และเวอร์ชั่นล่าสุดของอาจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย

ส่วนรุไบยาตฉบับแปลที่เป็นสำนวนของนักเขียนท่านอื่นที่ไม่ใช่ Edward FitzGerald เช่น Robert Graves & Omar Ali Shah สำนวนนี้แปลเป็นไทยโดยวีนัส กิตติรังษี (ไรน่าน อรุณรังษี)

หรือฉบับภาษาสันสกฤตของ Ajjada Adibhatla Narayana Dasu แปลเป็นไทยโดยอาจารย์มนตรี อุมะวิชนี นั้น

ดิฉันไม่แน่ใจว่าใช้ภาพประกอบของกลุ่ม Pre-Raphaelite ด้วยหรือไม่

 

โอมาร์ คัยยัม (Omar Khayyam)

 

‘เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์’

ผู้จุดประกาย

ให้โลกไม่ลืม ‘โอมาร์ คัยยัม’

หลังจากที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Pre-Raphaelite ปิดฉากลง และเอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ เสียชีวิตไปแล้ว ราว 1-2 ทศวรรษ ได้มีการตีพิมพ์รุไบยาตขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1897 โดยใช้ภาพประกอบเดิมของกลุ่ม Pre-Raphaelite

ปรากฏว่าหนังสือรุไบยาตดังระเบิดได้รับความนิยมอย่างสูง ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

เกิดคำถามข้ามทวีปจากนักอ่านว่า Edward FitzGerald คือใครกัน ไฉนจึงมีอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมสูงถึงเพียงนี้

ในสหราชอาณาจักร เมื่อเห็นโลกอเมริกันขานรับงานของฟิตซ์เจอรัลด์อย่างคึกคัก คนในแวดวงวรรณกรรมย่อมอดรนทนไม่ได้ที่จะต้องงัดงานของฟิตซ์เจอรัลด์ขึ้นมาอ่านทวนอีกครั้ง

ในที่สุดก็ยอมรับว่า รุไบยาตฉบับแปลของฟิตซ์เจอรัลด์นั้นคือเพชรแท้ งดงามสมคำร่ำลือที่ชาวอเมริกันลุ่มหลงอย่างแท้จริง ปี 1899 จึงมีการตีพิมพ์รุไบยาตในประเทศอังกฤษอีกครั้ง

ครั้งนี้ไม่เพียงแต่พิมพ์หนังสือธรรมดาเท่านั้น ทว่า Prof. Edward Byles Cowell ผู้เป็นอาจารย์ของฟิตซ์เจอรัลด์ (อาจารย์เสียชีวิตหลังลูกศิษย์) ยังช่วยเป็นตัวตั้งตัวตี เชิญนักคิดนักเขียนศิลปินปัญญาชน ให้มารวมตัวกันตั้งเป็น “สโมสรรุไบยาต” อีกด้วย

 

คลับหรือสโมสรแห่งนี้ตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ปัจจุบันคือภัตตาคารปกานีนี ในกรุงลอนดอน 140 ปีที่แล้วบริหารจัดการโดย Heron-Allen และ Edward Whinfield สหายสนิทของฟิตซ์เจอรัลด์ สโมสรนี้มีกิจกรรมการอ่านบทกวีรุไบยาตทุกวันเสาร์

ผู้สนใจงานแนวตะวันออกนิยม (Orientalism) วรรณคดีเปอร์เซีย อาหรับ อินเดีย เรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากรุไบยาต สามารถมาใช้สถานที่แห่งนี้พบปะสังสรรค์สนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างเริงรมย์

จนกระทั่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตจาก Royal Academy หรือราชบัณฑิตยสภาของอังกฤษ ต่างก็มาสมัครเป็นสมาชิกของสโมสรรุไบยาตที่ดูแลโดยภาคเอกชนด้วย

พร้อมคำประกาศยกย่องว่าผลงานแปลเรื่อง “รุไบยาต” ของฟิตซ์เจอรัลด์ คืองานแปลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง ทัดเทียบกับผลงานของวิลเลียม เช็กสเปียร์ เลยทีเดียว

นักอ่านชาวอังกฤษมองว่า “โอมาร์ คัยยัม” มีจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่เพียงไร “เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์” ก็มีหัวใจที่น่าเคารพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันฉันนั้น เพราะเขาทั้งสองมีหัวใจและจิตวิญญาณดวงเดียวกัน เสมือนเป็นฝาแฝดกัน

ต่อมาปี 1924 คณะกรรมการราชบัณฑิตยสภาอังกฤษได้มีโอกาสเดินทางไปประสานราชการที่ประเทศอิหร่าน พวกเขารู้สึกตื่นเต้นมากอยากเห็นว่า “เมืองไนชาปูร” บ้านเกิดของ “โอมาร์ คัยยัม” อยู่ที่ไหน สวนกุหลาบแดง สวนองุ่น โรงเตี๊ยมร้านเหล้าที่ปรากฏบ่อยครั้งในบทกวีเรื่องรุไบยาตมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ชาวเปอร์เซียนจะรู้หรือไม่ว่า ณ ขณะนี้ “รุไบยาต” เป็นมหาโศลกที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในโลกตะวันตกทั้งในอังกฤษและอเมริกา จึงใคร่ทราบว่าชาวอิหร่านรู้สึกภูมิใจต่องานชิ้นนั้นอย่างไรบ้าง

ผลปรากฏว่าตัวแทนชาวอิหร่านซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงผู้นั้นกลับตอบว่า “รุไบยาต เป็นหนังสือต้องห้ามสำหรับประเทศนี้ เพราะเนื้อหาหมิ่นศาสนา ดูถูกพระเจ้า ไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ นรก เป็นวรรณกรรมโบราณยุคกลางที่ไร้สาระ ถูกสั่งเก็บ ถูกทำให้ลืมไปนานแล้วในประเทศนี้ ปัจจุบันชาวอิหร่านไม่มีใครรู้จัก ‘โอมาร์ คัยยัม’ อีกเลย นานหลายศตวรรษแล้ว”

อุแม่เจ้า! คำตอบนี้ช่างน่าเศร้าใจสุดจะพรรณนาสำหรับนักวรรณกรรม

อย่างไรก็ดี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพทหารอเมริกันที่เข้าไปรบในประเทศอิหร่าน ได้นำหนังสือเรื่อง “รุไบยาต” ติดมือไปด้วย ยามว่างจากการศึก พวกเขาจะผลัดกันอ่านบทกวีเรื่อง “รุไบยาต” เสียงดังกึกก้องให้ทหารอิหร่านฟัง

เมื่อสงครามยุติ ทหารอเมริกันได้ทิ้งหนังสือรุไบยาตไว้ให้ชาวอิหร่าน

รุไบยาตที่ถูกลืมเลือนในประเทศแม่ จึงเพิ่งได้รับการฟื้นฟูปัดฝุ่นอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 ถือว่าช้ากว่าประเทศไทยนานโขอยู่

เพราะของเราพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแปลรุไบยาตจากภาษาอังกฤษให้คนไทยได้รู้จักมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2457 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6

 

มนุษย์ไม่ใช่โคลนสวรรค์

หม้อที่ปั้นอย่าหมายว่าจะบังคับได้

การที่รุไบยาตถูกเจ้าของประเทศปฏิเสธไม่ให้มีการเผยแพร่มานานกว่า 900 ปี ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก “โอมาร์ คัยยัม” ผู้รจนามหาโศลกชิ้นนี้ เป็นมหากวีขบถตัวพ่อ

เขาแต่งรุไบยาตด้วยการปฏิเสธพระเจ้า พระเจ้าไม่ใช่ผู้กำหนดความดีงาม

เขาไม่เห็นด้วยกับความเชื่อเก่าที่ฝังแน่นครอบงำจิตใจผู้คน ซึ่งถูกปิดกั้นไม่ให้ตั้งคำถาม

เขาต้องแสร้งร่ำเมรัยมอมแมมเสเพลเหมือนคนบ้า ทำเนียนเพื่อให้คนทั่วไปไม่ถือสา ทั้งนี้ จะได้มีที่อยู่ที่ยืนไม่ถูกจับไปประหาร

และนั่นคือที่มาของการใช้สัญลักษณ์พวก “กลีบกุหลาบ-น้ำองุ่น-หม้อที่ถูกปั้น” อะไรต่อมิอะไรมากมายที่กวีต้องงัดมาเป็นกาพยาวุธ

เหมือนกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนไทยในยุคปัจจุบัน ที่ไม่อาจพูดความจริงแบบตรงไปตรงมาได้ทั้งหมด ต้องสื่อสารผ่านสัญลักษณ์สารพัดรูปแบบ ทั้งที่ยุคสมัยของเรา ระยะเวลาเคลื่อนคล้อยจากยุคที่แต่งรุไบยาตมานานมากแล้วถึง 900-1,000 ปี

รุไบยาตยืนยันว่า “สวรรค์ที่คอยกำกับชี้ชะตาหลอกล่อมนุษย์ไม่มีอยู่จริง” ทั้งยัง “ไม่มีนรกขุมไหนที่จะมีพลานุภาพมากพอมาคอยกุมขังรังแกสาปแช่งมนุษย์ให้เป็นคนบาปคนเถื่อน” “มนุษย์หาใช่เศษโคลนที่สวรรค์ทำตกหล่นแล้วต้องยอมจำนนต่ออำนาจให้ลากจูงไป”

“หม้อดินที่ถูกปั้น หากไม่ลุกขึ้นมาประท้วงคนตีหม้อ เราก็ย่อมเป็นหม้อดินที่บุบบู้บิดเบี้ยว และถูกทุบถูกตีอยู่เช่นนั้นชั่วนาตาปี”