เครื่องเคียงข้างจอ : ครอบครัวเดียวกัน / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ครอบครัวเดียวกัน

 

ในหลายๆ บทความที่ผมเขียนลงในคอลัมน์นี้ไม่ว่าจะผ่านเรื่องราวทางจอทีวี หรือจอหนัง หรือหนังสือ หรือจากการบอกเล่า มักจะมีประเด็นของ “ครอบครัว” อยู่หลายหน

ครั้งนี้ก็เช่นกันครับที่จะพูดถึงรายการทางช่อง ALTV ชื่อเต็มว่า Active Learning TV. ที่ชื่อ “ครอบครัวเดียวกัน”

ก่อนจะไปถึงรายการที่ว่า ขอเล่าถึงช่วงคอลัมนิสต์จากรายการ “เจาะใจ” กันก่อน เป็นตอนที่มีวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล มาเป็นคอลัมนิสต์ สิงห์เล่าเรื่องจากการทดลองของต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่อง “ความรัก” ให้ดู๋ สัญญา ฟัง

การทดลองนั้นทำกับลูกลิงตัวน้อยๆ ที่ยังไม่หย่านมแม่เลย ถูกแยกจากอกแม่มากักตัวเพื่อการทดลองนี้ คือจะปล่อยลูกลิงจากที่ขังออกยังพื้นที่ทดลอง ที่นั่นจะมีขดลวดเป็นแท่งกลมที่มีหน้าลิงติดไว้ 2 แท่น แท่นแรกมีขวดนมติดอยู่ อีกแท่นเป็นผ้าขนหนูนุ่มหนาพันรอบแท่งขดลวดนั้น

เจ้าลูกลิงเลือกที่จะไปยังแท่งขดลวดที่มีขวดนมก่อน แล้วก็ดูดจนอิ่ม

จากนั้นค่อยมาที่อีกแท่งขดลวดหนึ่งมานอนแนบกอดแท่งขดลวดนั้นเป็นเวลานาน ทดลองซ้ำหลายๆ ครั้งก็ได้ผลแบบเดียวกัน

จึงสะท้อนว่า สัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตนั้นต้องการ “ความรัก”

การกินนมให้อิ่มเป็นพฤติกรรมของการเอาตัวรอด ให้ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการตอบสนองทางกาย ส่วนการกอดแท่งขดลวดนุ่มๆ เป็นพฤติกรรมของการตอบสนองทางใจ คือ ต้องการความอบอุ่น ปลอดภัย เป็นสุข

ซึ่งก็คือ “ความรัก”

 

จริงๆ แล้วสิ่งมีชีวิตทุกประเภทต้องการความรักเป็นส่วนเติมเต็มให้ชีวิตนั้นสมบูรณ์ และแหล่งที่อุดมไปด้วยความรักมากที่สุดก็คือ “ครอบครัว”

คนเรามีครอบครัวเป็นสถาบันชีวิตที่สำคัญ หากเติบโตมาในครอบครัวที่มีความรักต่อกันก็ย่อมส่งผลทางบวกมากกว่าครอบครัวที่แตกแยก มีแต่ความเกลียดชัง

รายการ “ครอบครัวเดียวกัน” นำเสนอถึงสายใยของความรักที่มีระหว่างกันของสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่ กับลูก หรือพี่กับน้อง หรือสามี-ภรรยา ที่แต่ละครอบครัวก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจแตกต่างกันไป

ในวันเสาร์ที่ 10 เมษายนนี้ เป็นตอนของครอบครัว “วชิรบรรจง” ผู้ที่เป็นต้นเรื่องคือ อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ และแดง ธัญญา สองสามี-ภรรยาในวงการบันเทิงที่เรารู้จักกันดี

คนทั่วไปรู้กันว่าสองคนนี้มีครอบครัวที่อบอุ่น อ๊อฟนั้นพูดอย่างนักเลงว่ากลัวเมีย แต่เพราะกลัวเมียจึงได้ดี แดงนั้นใช้ความเป็นผู้หญิง เป็นแม่บ้าน จึงละเอียดลออ คัดกรอง ควบคุมทุกอย่างในมือโดยเฉพาะเรื่องเงินทอง ช่วยจัดการทุกสิ่งอันให้กับอ๊อฟทั้งเรื่องในบ้าน และเรื่องของงาน

ก็สมควรแล้วที่อ๊อฟจะกลัว

 

ในรายการนำเสนอถึงเหตุการณ์ตอนที่อ๊อฟวูบไปฉับพลัน ไม่มีเรี่ยวแรง จนต้องหามส่งโรงพยาบาลโดยด่วน และผลก็ตามที่ปรากฏในข่าว คือเขาโชคดีที่รอดตายมาได้เพราะหมอช่วยได้ทัน แม้จะรอดตายแต่ประสาทด้านขวาของเขาเสียหายจนใช้มือ-ขาไม่ได้เหมือนเดิม ต้องอาศัยทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย

ทุกอย่างเป็นภาระตกหนักที่แดงทันที การดูแลคนป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ก็หนักแล้ว ยังมีเรื่องงานการที่ค้างคาอีกทั้งของบริษัทผลิตละครของตัว และงานละครที่แดงรับแสดงไว้

“ตอนที่เกิดเรื่อง พี่ถ่ายละครอยู่ เป็นฉากใหญ่นักแสดงตัวสำคัญเข้าฉากกันหมด ทีมงานที่กองอ๊อฟโทร.มาบอก เราก็ตกใจ แต่เลิกงานแสดงที่ทำอยู่ตอนนั้นไม่ได้ เพราะพี่ก็เป็นผู้จัด รู้ว่าถ้ายกกองจะเกิดความเสียหายมาก”

แดงจึงพยายามตั้งสติเล่นละครไปตามบทบาท แต่ในหัวสมองคิดอะไรไม่ออก บทแทบจะจำไม่ได้ ก็ถ่ายไป ทางนั้นก็ส่งข่าวมาทางเลขาฯ ของแดงเป็นระยะ ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเป็นเราที่ต้องพยายามรับผิดชอบทำงานตรงหน้าให้เสร็จ ท่ามกลางนาทีเป็นนาทีตายของคนเป็นที่รัก มันจะสาหัสแค่ไหน

จนครั้งสุดท้ายที่เลขาฯ จำต้องยื่นโทรศัพท์ให้ เพราะหมอขอคุยกับแดง เนื่องจากจำเป็นต้องย้ายโรงพยาบาลด่วน เพราะโรงพยาบาลที่ดูแลอยู่นั้นไม่มีเครื่องมือเพียงพอกับอาการที่หนักของอ๊อฟ ต้องให้ผู้เป็นภรรยาตัดสินใจว่าจะให้ส่งไปที่ไหน

การพูดโทรศัพท์ต่อหน้านักแสดงอื่นๆ ตอนนั้น เลยทำให้คนในกองได้รู้ ต่างก็ตกใจ และบางคนก็ร้องไห้ออกมา ผู้กำกับฯ ทราบเรื่องก็บอกว่าไม่ต้องแสดงต่อก็ได้นะ แต่แดงตัดสินใจแล้วว่าไหนๆ แล้วถ่ายให้เสร็จ เพราะเหลืออีกไม่มาก

ผู้กำกับฯ กับทีมงานและนักแสดงก็ช่วยเหลือใช้วิธีถ่ายเจาะให้เร็วที่สุด เพื่อปล่อยให้แดงออกไปก่อน

 

อ๊อฟต้องอยู่ในห้องไอซียู และพออาการดีขึ้นก็ย้ายมาอยู่ห้องพิเศษ มีคนไปเยี่ยมตลอดเวลา บางวันกว่า 30 ราย แดงก็ต้องทำหน้าที่ต้อนรับพูดคุยกับผู้มีน้ำใจมาเยี่ยม ต้องเล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำกันไม่รู้จะกี่รอบ

เมื่ออาการดีพอจะกลับบ้านได้หมอก็อนุญาต ที่บ้านอ๊อฟต้องนั่งรถเข็นตลอด และต้องคอยทำกายภาพบำบัดทุกวัน แน่นอนที่คนดูแลใกล้ชิดก็คือแดงและลูกๆ

ไม่ต้องถามว่าเหนื่อยไหม เพราะมันสาหัสมาก ครั้งหนึ่งที่แดงไม่ทันดูแลตัวเอง เกิดอาการเครียดจนประสาทที่ใบหน้าไม่ทำงาน ชาไปพักหนึ่ง แต่ก็ยังฝืนดูแลอ๊อฟอยู่อย่างห่วงใย

“กำลังใจของพี่มาจากการได้เห็นว่าเขาดีขึ้นในทุกๆ วัน” แดงเล่าให้พิธีกรซึ่งก็คือมิก บรมวุฒิ และหมวย อริสรา ฟัง

“ทำให้รู้สึกว่านี่คือรางวัลตอบแทนกับสิ่งที่เราทุ่มเทไป”

 

มีเรื่องนาฬิกากุ๊กกู ที่อยากเล่าไว้ในคอลัมน์นี้ด้วย คืออ๊อฟเป็นคนที่ชื่นชอบนาฬิกากุ๊กกูมากถึงมากที่สุด นาฬิกากุ๊กกูคือนาฬิกาที่เป็นบ้านกล่องไม้ เวลาครบรอบชั่วโมงก็จะมีเจ้าตุ๊กตานกโผล่ออกมาจากบ้านมาร้องกุ๊กกูนั่นเอง

ความจริงที่บ้านก็มีติดอยู่แล้วหลายเรือน แต่เป็นเรือนเล็กๆ อ๊อฟเองเคยขอแดงซื้อที่เป็นเรือนขนาดใหญ่ ใหญ่ขนาดกว้างยาวเป็นเมตรสองเมตรเท่าโต๊ะเล็กๆ นั่นเลย ทำจากไม้อย่างดีจากเยอรมนี แต่แดงไม่เคยยอม

ครั้งนี้ที่ตัวเองเจ็บป่วย เลยใช้เป็นข้ออ้างว่าขอเถอะ ตัวเองอาจจะตายไปจริงๆ เมื่อไหร่ไม่รู้ แดงเลยจำยอมเพื่อเป็นกำลังใจให้สามีได้ชุ่มชื่นหัวใจบ้าง

ทีนี้พอซื้อมาติดบนฝาผนังบ้านแล้วเรียบร้อย การที่เจ้านกจะออกมากุ๊กกูต้องใช้การไขลานทุกวัน ตรงนี้ที่แดงใช้เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูสภาพร่างกายของอ๊อฟ ถ้าอยากเห็นนกก็ต้องขึ้นบันไดไปไขเอง

อ๊อฟเหมือนถูกท้าทาย พยายามฟื้นฟูร่างกายให้ลุกเดินได้ ใช้แขนในการออกกำลังได้ จริงๆ ก็เพื่อการคืนกลับสู่สภาพปกติและเพื่อการทำงานละครเป็นหลัก แต่การที่จะได้เห็นนกกุ๊กกูตัวใหญ่ตามฝันก็เป็นแรงผลักดันที่ดีไม่น้อย

และวันหนึ่งที่บ้านของอ๊อฟก็มีเสียงนกกุ๊กกูตัวใหญ่ดังกังวานขึ้นได้ ลองติดตามรายละเอียดได้ในรายการนะครับ

 

“ครอบครัวเดียวกัน” ใช้การนำเสนอที่เป็นทอล์กโชว์ผสมละครเวที จึงมีความแปลกตา และเสริมอารมณ์เรื่องราวที่นำเสนอได้ดี

ครอบครัวจำเป็นต้องมีพื้นฐานจากความรัก หากขาดความรัก ความเข้าใจ การเรียนรู้และให้อภัยกันแล้ว ครอบครัวย่อมเดินต่อลำบาก เรื่องของอ๊อฟกับแดงเป็นหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนประเด็นนี้ รวมทั้งเรื่องราวของครอบครัวอื่นๆ ด้วย

เจ เอส แอล เป็นผู้ผลิตรายการนี้ให้กับสถานีทางเว็บไซต์ ALTV เป็นซีซั่นที่สองแล้วเป็นอีกหนึ่งรายการที่เจ เอส แอล และ ALTV ภูมิใจ ออกอากาศวันเสาร์เวลา 19.05 น.

ดูแล้วก็ได้แต่ฝันว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” ได้สักที