‘แอมเนสตี้’ เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ปี 63/64 ชี้โควิด-19 ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลง

วันที่ 7 เมษายน 2564 เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสุโกศล พญาไท แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดงานเปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2563/64 แสดงภาพรวมเชิงวิเคราะห์เพื่อให้เห็นแนวโน้มของการพัฒนาและการถดถอยของสิทธิมนุษยชนในแต่ละภูมิภาคนั้นเป็นอย่างไร โดยส่วนของประเทศไทย ได้รายงานสถานการณ์ในวาระครบรอบ 1 ปี การบังคับใช้ พรก.การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน นับตั้งแต่ประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพื่อใช้ควบคุมการระบาดของโควิด แต่ที่ผ่านมา การบังคับใช้กลับแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการล่วงละเมิดนอกเหนือจากการรับมือการระบาดของโรค

โควิด-19 นำไปสู่การละเมิดอย่างหนักหน่วง

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในส่วนของภาพรวมทั่วโลก มี 3 ประเด็นหลักที่อยากเน้นคือ ผลกระทบจากโควิด ความรุนแรงที่เกี่ยวกับเพศ และการปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยผลกระทบจากโควิดต่อสุขภาพและสังคม โควิดได้เผยสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมที่รุนแรงมากขึ้น โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเลือกปฏิบัติมากที่สุด คือ กลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุขที่รับมือการระบาด ส่วนต่อมา เริ่มเห็นการใช้เครื่องมือออนไลน์สืบสวนโรค ใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาในกลุ่มคนชายขอบและอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ผู้ลี้ภัย ชนกลุ่มน้อยที่เข้าถึงทรัพยากรยากมาก รวมไปถึง มาตรการทางสุขภาพหลายอย่างที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิบัติกับผู้ที่มีความแตกต่างโดยมิชอบ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก

ประเด็นสุขภาพกลายเป็นประเด็นความมั่นคง แม้จะเห็นความร่วมมือจากหลายประเทศในการหาวัคซีนให้ประชาชน แต่ก็ยังเห็นมาตรการของรัฐที่ทำให้เกิดการกักตุนเครื่องมือทางการแพทย์ หรือเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงวัคซีน ไม่เข้าร่วมโครงการที่ว่านี้ในการทำให้เข้าถึงวัคซีน ทำให้เราตั้งคำถามต่อมาตรการความร่วมมือระดับพหุภาคีที่ทำให้ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โควิดยังส่งผลการเกิดอัตราความรุนแรงบนฐานด้านเพศ ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ระดับครอบครัว จนถึงมาตรการล็อกดาวน์ ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวอยู่แล้ว ได้รับมากขึ้น แม้กระนั้น ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น ก็ยังเห็นแนวโน้มทางบวก คือการเกิดกฎหมายต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กที่มากขึ้น อย่างในแอฟริกา การผ่านกฎหมายที่ยกเลิกโทษอาญาการทำแท้งในหลายประเทศ เช่น อาร์เจนติน่า ไอร์แลนด์เหนือ ล่าสุดไทยก็มีกฎหมายใหม่ที่ดูแลการทำแท้ง

ประเด็นต่อมา คือ การปราบปรามผู้เห็นต่าง ในส่วนนี้ เราจะได้เห็นการชุมนุมประท้วงทั่วโลก ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยเยาวชนอายุน้อยและเห็นมาตรการของรัฐในการใช้กำลังอาวุธที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

เราเห็นความพยายามของรัฐฟ้องผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนที่รายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ก็เห็นปัญหา ทั้งการละเมิดสิทธิผู้เห็นต่าง การเลือกปฏิบัติโดยเฉพาะการโจมตีผู้ที่มีความแตกต่างทางเพศและเชื้อชาติ ความล้มเหลวในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ที่เห็นชัดสุดคือ การละเมิดสิทธิในการแสดงออก จากการะบาดของโควิด มีการลงโทษกับบุคคลที่ออกมาเปิดโปงการระบาด มีการจับกุมคุมขังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับข่าวออนไลน์ ข่าวปลอมเพื่อปิดกั้นความเห็นต่างจากรัฐในหลายประเทศ ทั้งสื่อมวลชนและคนธรรมดาถูกจับกุมด้วยกฎหมายนี้การแสดงความคิดเห็นในเรื่องโรคระบาด

ไปจนถึงการใช้สถานการณ์โรคระบาดมาใช้ในประเด็นความมั่นคงในหลายประเทศ เป้าหมายหลักคือ สื่อมวลชน มีการเรียกพบและจับกุม และผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนเองก็ถูกจับกุม ล่าสุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสาขาอินเดียถูกบังคับให้ปิด หลังรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายพื้นที่ในอินเดีย

นอกจากองค์การเอกชน ยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนถูกกระทำ

แนวโน้มในเอเชียแปซิฟิก

ส่วนสิทธิในสุขภาพในภูมิภาคนี้ เกาหลีเหนือ เห็นความน่าเป็นห่วง อย่างการเกิดตลาดมืด ปล่อยสินค้าราคาแพง ทำการเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ และเห็นการใช้กฎหมายปราบปรามยาเสพติดในลักษณะปราบปรามผู้เสพได้รับโทษอาญา และถูกจับกุมโดยไม่แจ้งข้อหา ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพในขณะนี้

อีกส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด รัฐมีการใช้อำนาจบุกค้นที่อยู่อาศัยของผู้อพยพ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติค่อนข้างมาก

การละเมิดด้านเชื้อชาติและศาสนา กรณีโรฮิงญา แม้เห็นพัฒนาการแต่ปัญหายังไม่ได้เห็นการแก้ไข รวมถึงการกักกันชาวอุยกูร์ในซินเจียง

 

สถานการณ์ในพม่าไทย อนาคตที่ไม่เหมือนเดิม

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในกรณีพม่าจะมีสถานการณ์หลายอย่างที่แม้ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกรณีโรฮิงญา แต่ก็ไม่เป็นแนวโน้มในทางที่ดี อีกอย่างแนวโน้มความขัดแย้งหลายอย่างยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์หลังการรัฐประหารยึดอำนาจของทัตมะดอว์และการประท้วงต่อต้านของประชาชนทั่วประเทศจนนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน

นอกจากนั้น ยังมีบรรษัทเอกชนที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า ที่ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น ซ้ำร้าย กฎหมายที่สร้างความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงมีอยู่ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้เกี่ยวข้อง การศึกษาก็เป็นสิ่งที่น่าห่วง

ความขัดแย้งทางอาวุธกับกลุ่มชาติพันธุ์ จะเห็นได้ว่ามีคนพลัดถิ่นราว 3 แสนคน ซึ่งถูกเลือกปฏิบัติอย่างหนัก แล้วก็สถานการณ์ที่เกิดขึ้น องค์กรระหว่างประเทศมีความจำนงจะเข้าช่วยเหลือ แต่ก็ถูกจำกัดการเข้าถึง

ส่วนเสรีภาพในการแสดงออก กลุ่มการละครคนรุ่นใหม่ที่จัดแสดงพื้นบ้านล้อการเมือง สมาชิก 6 คน ถูกจับกุมคุมขัง เว็บไซต์ราว 2,147 เว็บไซต์ ถูกปิดกั้นจากการควบคุมของรัฐ

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการเปิดเผยความเชื่อมโยงบริษัทหลายแห่งที่เป็นของต่างชาติให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า

ขณะที่ประเทศไทย ปิยนุช กล่าวว่า หลายเรื่องอย่างการบังคับสูญหาย การซ้อมทรมาน การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ปี 2563 มีการชุมนุมทางการเมืองจำนวนมาก ตามข้อมูลของ Mob Data มีการชุมนุมถึง 779 ครั้ง มีการละเมิดสิทธิที่เกี่ยวกับการชุมนุมกว่า 200 ครั้ง รวมถึงต้นปีนี้ ก็มากกว่า 200 ครั้งแล้ว เราจะเห็นความพยายามของประชาชนหลายครั้ง

นับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ มีการตั้งคำถามถึงแรงจูงใจทางการเมือง แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมากก็เลือกชุมนุม ท่ามกลางการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน จนเรามาอยู่ถึงตอนนี้ก็ปีเศษ มีการใช้กฎหมายปราบปรามผู้เห็นต่าง แม้จะมีช่วงล็อกดาวน์ พอเดือนมิถุนายน ก็เกิดกรณีอุ้มหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นประทุที่นำไปสู่การลงถนน เรียกร้องให้หาความจริงของกรณีอุ้มหาย ในช่วง 2-3ปี มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองราว 8 คน สูญหาย และเรายังออกรายงานการประพฤติมิชอบในกลุ่มทหารเกณฑ์ ซึ่งได้เรียกร้องต่อภาครัฐ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ตอบสนอง

อีกเรื่องที่สำคัญคือ ปรากฎการณ์การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ รัฐได้ใช้กฎหมายจัดการผู้ชุมนุม โดยส่วนใหญ่ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมอย่างสงบ แต่ก็ถูกจับกุมโดยข้อหาต่างๆ หลังตุลาคมก็เกิดปรากฎการณ์ใหม่ คือการจับกุมด้วยข้อหา มาตรา 110 มีเยาวชนอยู่ในนั้น เป็นครั้งแรกที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยกล่าวหามาตรา 112  รวมถึงการใช้กำลังทางกายภาพอย่างปืนฉีดน้ำแรงดันสูง แค่วันที่ 18 ตุลาคมเป็นต้นมา มีการชุมนุมกว่า 100 ครั้งในหลายจุด ตอนนี้ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองราว 220 คนถูกตั้งข้อหาและควบคุมตัว

มีคำหนึ่งที่ถูกใช้บ่อยคือ “การมั่วสุมอย่างผิดกฎหมาย” และยกระดับการจำกัดการรวมตัวบนโลกออนไลน์อย่างเพจ รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ส่วนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่เพียงเกี่ยวกับการเมืองแต่ยังรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนถูกบริษัทเอกชนฟ้องหมิ่นประมาท แต่ 14 คนได้รับการยกฟ้อง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี แม้จะมีการยื่นอุทธรณ์ก็ตาม

นอกจากนี้ กรณีผู้อพยพนั้น ยังมีชาวอุยกูร์ราว 50 คนยังคงถูกควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนด

ทั้งนี้ ปิยนุชกล่าวว่า ทางเรามีข้อเรียกร้องถึงภาครัฐ เป็นเวลาที่เราอยากได้ยินคำมั่นสัญญาจากรัฐที่จะมีให้ ข้อเรียกร้องเรามี ดังนี้

การสืบสวนอย่างเป็นอิสระต่อกรณีการสังหารนอกกฎหมายในทุกกรณีในสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ การยกเลิกคำสั่งและกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต่อรัฐบาล โดยให้คำนึงต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้คำมั่น รวมถึงการจับกุมคุมขังโดยพลการ ศาลทหารไม่ควรใช้กับพลเรือน ตัวกฎหมายที่ใช้เป็นเครื่องมือ ก็ขอให้ไทยดำเนินเป็นไปตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เราอยากให้ทุกฝ่ายชวนกันสร้างความปลอดภัยในการใช้สิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ซึ่งในพื้นที่โรงเรียนก็ยังมีการละเมิดสิทธินักเรียน โครงการ Child in Mob พบเด็กไม่น้อยกว่า 6,000 คนที่ได้รับสายรัดแสดงฐานะเยาวชน ขอให้รัฐไทยไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศที่เสี่ยงได้รับอันตราย ไม่เฉพาะชาวโรฮิงญา ยังรวมถึงสถานการณ์ชายแดนไทย การรับผู้ลี้ภัย ซึ่งไทยก็มีระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยและยังขอให้ไทยให้สัตาบันอนุสัญญาผู้ลี้ภัย โทษประหารชีวิต อยากให้ลดจำนวนโทษอาญาที่ถึงขั้นประหารชีวิต รวมถึงกฎหมายหมิ่น อยากให้พิจารณาว่าไม่ควรกฎหมายนี้มาใช้จัดการกับการแสดงออก และแก้ไขการให้คนใดฟ้องก็ได้ในข้อหากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถอนข้อหาเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการความคิดเห็น

แม้ว่าจะมีหลายกรณีที่ถูกจับกุม อาจรู้สึกไม่มีองค์กรใดเข้ามาทำให้แนวโน้ม แต่ท่าทีนานาชาติที่มาสังเกตการณ์ก็สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมาก และปีนี้ครบรอบการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี หรือยูพีอาร์ ดูว่าปีต่อมารายงานสถานการณ์ของไทยจะเป็นอย่างไร