อนุสรณ์ ติปยานนท์ : Booktender แห่งบาร์หนังสือที่ชื่อ Books and Belongings

 

 

In Books We Trust (5)

Books and Belongings (1)

 

ร้านหนังสือที่มี Booktender ผู้โดดเดี่ยว

นั่งอยู่ตรงนั้น หลังเคาน์เตอร์ เขา-ชายหนุ่มผู้ซ่อนใบหน้าอยู่ภายใต้กรอบแว่นอันเคร่งขรึม ถ้าหากมีใครสักคนเดินผ่านประตูกระจกเข้ามาภายในร้าน เขาจะเหลือบตาขึ้นมองและยิ้มทักทายก่อนจะกลับไปง่วนอยู่กับงานออกแบบปกหนังสือที่กำลังติดพัน

เขาปล่อยให้ลูกค้าใช้ชีวิตอย่างอิสระอยู่ในร้านหนังสือขนาดเพียงหนึ่งคูหานี้

หนังสือในร้านอาจมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับร้านหนังสืออื่นๆ

แต่กระนั้นรับรองได้ว่าหนังสือที่ซื้อหาไปจากที่นี่เป็นหนังสือที่คุณแทบจะไม่เคยพบในร้านหนังสืออื่นเช่นกัน

หนังสือที่อยู่ในร้านหนังสือที่มีชื่อว่า Books and Belongings หรือ “ร้านหนังสือและสิ่งของ” มีความเฉพาะตัวอย่างยิ่ง

อันที่จริงแล้ว ร้านหนังสือแทบไม่ต่างจากห้องส่วนตัวของผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสือ

ร้านหนังสือใดๆ ก็ตามล้วนแสดงอุปนิสัย ใจคอ และรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของ

หนังสือที่ถูกเลือกเข้าร้านล้วนแสดงถึงรสนิยมการอ่านของผู้เป็นเจ้าของ

หนังสือในร้านหนังสือ Books and Belongings กว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นหนังสือในภาษาอังกฤษ และที่น่าสนใจกว่านั้นคือหนังสือส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมและหนังสือด้านความคิดและวิชาการในยุคโมเดิร์น ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเป็นต้นมา

 

เราพบงานเขียนของเอฟ สก๊อต ฟิตเจอรัลด์ ตรงมุมนั้น งานของอิตาโล คัลวิโน่ ตรงอีกมุม เราพบหนังสือปรัชญาของมิเชล ฟูโกต์ บนชั้นด้านซ้าย และเราพบหนังสือของซีโมน เดอโบวัววร์ บนชั้นด้านขวา หยิบหนังสือสักเล่มมาอ่าน ลงนั่งที่โต๊ะกลางร้าน คุณจมอยู่กับหนังสือราวครึ่งชั่วโมง เงยหน้าขึ้นมองไปที่กระจกเบื้องนอก คุณอาจพบว่าเข็มนาฬิกาได้หมุนย้อนกลับไปในยุคที่งานวรรณกรรมโมเดิร์นกำลังเบ่งบาน นอกหน้าต่างนั่น เฮนรี่ มิลเลอร์ กำลังจับหมวกของเขาไม่ให้ปลิวตามลมในขณะที่เดินไปตามท้องถนนอย่างช้าๆ

“ผมพยายามเลือกอ่านหนังสือที่คนเขียนตายไปแล้ว อย่างน้อยก็ยังพอนึกได้ว่าเขามีหนังสือมาแล้วมากน้อยเพียงใด อย่างน้อยก็ยังพอเห็นได้ว่าพัฒนาการด้านความคิดและการเขียนของเขาเป็นไปในทางใด” กิตติพล สรัคคานนท์ หรือโย ชายผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้เล่ารสนิยมด้านหนังสือของเขาให้ผมฟังเมื่อหลายปีก่อน

ในช่วงบทสนทนานั้น โยยังหาได้เป็นเจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวเขาเพิ่งรับไม้ต่อเพื่อเป็นบรรณาธิการนิตยสารด้านหนังสือที่มีชื่อว่า Undeground Buleteen ต่อจากวาด รวี ที่เป็นผู้ก่อตั้ง ชั้นสองของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ที่ตั้งอยู่แถวสะพานปิ่นเกล้าคือที่นัดพบของพวกเรา พวกเราที่มีทั้งจ๊อก ชัยพร ผู้เป็นเจ้าของโรงพิมพ์และยังร่วมเป็นกองบรรณาธิการ ต้อง ปิยะวิทย์ (ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าสำนักของสำนักพิมพ์สมมุติในตอนนี้) และผมที่เป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสาร

พื้นที่ของสำนักงานที่เล็กกว่าห้องรับแขกของบ้านเศรษฐีหลายต่อหลายคนในประเทศนี้อัดแน่นไปด้วยหนังสือวรรณกรรมจำนวนมากที่โยเลือกเอามาไว้ใช้งาน

กระติกน้ำร้อนที่ใครบางคนจะสลับกันลุกขึ้นไปชงกาแฟทุกห้านาที และเศษกระดาษจำนวนมากที่เกิดจากการพิมพ์ปรู๊ฟของเนื้อหานิตยสารฉบับล่าสุด

สำนักงานเล็กๆ แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความฝัน ความฝันของคนทำหนังสือเพื่อหนังสืออย่างแท้จริง

 

บทสนทนาดังกล่าวอาจชวนให้คิดว่า โยอาจพูดเปรียบเปรยเล่นๆ ในภาวะที่หนังสือโลกนี้มีให้อ่านมากมายเหลือเกิน

แต่หลังการเยือนร้านหนังสือ Books and Belongings ของเขาที่ตั้งอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตนในแถบชานเมืองอย่างบางจาก ไม่ใช่ทองหล่อ สีลม หรือราชประสงค์

คำพูดดังกล่าวของเขาก็หวนคืนกลับมา

หนังสือด้านวรรณกรรมหลายเล่มที่นี่ชวนให้อยากพากลับบ้านไปวางเคียงหมอนและหยิบขึ้นอ่านอย่างกระหายในเวลาเหมาะสม

ปกหนังสือแต่ละเล่มสวยงามน่าสัมผัส (กิตติพลหรือโยเลือกปกที่ถูกออกแบบอย่างดีในท่ามกลางหลายปกของหนังสือที่พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า)

พื้นฐานการเรียนด้านการออกแบบของเขาทำให้ทุกอย่างภายในร้านถูกจัดวางอย่างเหมาะสม

และหากคุณคิดว่าเขาจะปล่อยให้ลูกค้าเลือกซื้อหาหนังสืออย่างเลื่อนลอย คุณคงคิดผิด

วินาทีที่คุณมีคำถามเกี่ยวกับหนังสือ โยจะลุกออกจากที่นั่งหลังเคาน์เตอร์และพร้อมจะสวมบทบาทเพื่อนร่วมคิดว่าคุณควรอ่านอะไรดีจากคำร้องขอของคำถามเหล่านั้น

 

“ร้านหนังสือและสิ่งของหรือ Books and Belongings เป็นร้านที่ผมตั้งใจทำออกมาคล้ายๆ กับเป็น Curated Bookstore คือจัดหาหนังสือที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาอยู่ด้วยกัน คล้ายดังห้องแสดงงานศิลปะที่ต้องมีภัณฑารักษ์ และในฐานะภัณฑารักษ์ที่จะต้องมีคำแนะนำให้กับผู้มาเยี่ยมชม เขาอาจมาหานวนิยายที่เขาต้องการ อาทิ งานเขียนของมิลาน คุนเดอร่า นักเขียนชาวเช็ก แต่ครั้นเขาได้หนังสือเล่มดังกล่าวแล้ว ผมอาจชวนเขาเลือกดูนักเขียนชาวเช็กรุ่นก่อนหรือรุ่นหลังถัดจากคุนเดอร่า คุณลองอ่านงานคนนี้สักหน่อยไหม อาจไม่ดุดันหรือเสียดเย้ยเท่าคุนเดอร่า แต่ก็มีอะไรชวนให้ติดตามอยู่มาก อาทิ งานของไอวาน คลิม่า นักเขียนรุ่นน้องของคุนเดอร่า หรือหากคุณอยากอ่านงานของฮารูกิ มูราคามิ แต่ว่าหนังสือเล่มใหม่ของเขายังไม่ออกวางจำหน่าย ผมจะแนะนำให้เขาอ่านงานแนวเซอเรียลริสต์หรืองานโมเดิร์นนิสต์ของโคโบะ เอเบะ หรือย้อนไปถึงทานิซากิ ผมถือว่าบทสนทนาเรื่องหนังสือในร้านหนังสือระหว่างผู้เป็นเจ้าของร้านกับผู้มาเยือนเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งเขาได้อะไรไปจากเรา และบางครั้งเราก็ได้อะไรจากเขาที่เป็นเรื่องดีและน่าสนใจมากเหลือเกิน”

“ถ้าเช่นนั้น คุณก็เป็นภัณฑารักษ์ร้านหนังสือสิ?”

“ไม่นะ ผมมีอีกคำหนึ่งที่เหมาะกว่านั้น ผมคิดว่าตนเองเป็น Booktender คำนี้ผมว่าเหมาะกว่า เหมือนเวลาเราไปบาร์เหล้า นั่งลงที่เคาน์เตอร์หน้าบาร์และขอให้บาร์เทนเดอร์ชงเหล้าให้เราสักแก้วตามใจเขาโดยเราเพียงแค่บอกรสนิยมส่วนตัวของเราให้กับเขา บาร์เทนเดอร์หันหลังกลับเข้าไปในบาร์ หยิบขวดนั้นและนี้ลงจากชั้น ผสม เขย่า ทำสารพัดสิ่งที่ทำให้เราติดตามดูด้วยความตื่นเต้นก่อนที่เขาจะวางแก้วเล็กๆ แก้วหนึ่งลงข้างหน้าเรา และพอจิบแรกเท่านั้น เราก็อุทานในใจกับตนเองว่านี่คือเครื่องดื่มที่เราอยากลิ้มรสมานาน เราเอ่ยชม บาร์เทนเดอร์ยิ้มรับ ก่อนที่เขาจะกลับไปในบาร์และรอต้อนรับลูกค้าคนต่อไป”

“ถ้าเช่นนั้นในฐานะ Booktender คุณคงอยากได้ลูกค้าหรือคนที่มาเลือกหนังสือที่ไม่มีอะไรในหัวมาเลย?”

“ไม่ถึงขนาดนั้นก็ได้ เขาอาจเดินเข้ามาหลบไอร้อนข้างนอก หรืออยากซื้อหนังสือจริงๆ อันนั้นคงไม่ต่าง แต่หากเขากลับไปพร้อมกับความสนใจที่มีต่อหนังสือที่มากขึ้น นั่นคือความสำเร็จของ Booktender ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเขาเข้ามาพร้อมกับความรู้สึกว่าวันนี้เศร้าเหลือเกินอยากอ่านอะไรที่ทำให้พอมีความหวังบ้าง ผมอาจแนะนำหนังสือภาพสวยๆ หรือหนังสือด้านศิลปะที่เพลิดเพลิน ผมคงไม่แนะนำหนังสือปรัชญาของซิเซ็กหรือใคร”

“แต่ก็จะแนะนำเขาว่าถ้าคุณอยากเข้าใจความเศร้าของตนเองให้มากขึ้น เรามีหนังสือหลายเล่มรอคุณมาเลือกหาไปอ่านแต่อาจไม่ใช่ในยามนี้”

 

“มีลูกค้าคนไหนไหมที่คุณประทับใจจนถ้าให้นึกถึงลูกค้าในอุดมคติ คุณจะนึกถึงเขาเสมอ?”

“มีอยู่คนหนึ่ง เป็นผู้ชายชาวอินเดีย แต่งกายแบบนักธุรกิจเดินเข้ามาในร้านน่าจะเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด ตอนแรกที่เขาเข้ามาในร้าน ผมก็คิดว่าเขาคงมาเดินเล่นดูอะไรเพลินๆ แต่พอได้คุยกันกลับพบว่าเขาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศแห่งหนึ่ง เราแลกเปลี่ยนบทสนทนากัน เขาเลือกหนังสือที่เขาจะใช้งานไปหลายเล่มและแนะนำหนังสือเล่มอื่นๆ อีกให้ผมเลือกหามาเข้าร้าน เป็นบทสนทนาที่ดีมากๆ เหมือนกับบาร์เทนเดอร์ที่มีนักดื่มตัวยงมาเยือนบาร์ของเราและแนะนำส่วนผสมแปลกๆ หรือส่วนผสมที่น่าสนใจให้เราได้เลือกหามาทดลอง เป็นอะไรที่ผมประทับใจมาก”

“ทำไมร้านของคุณถึงมีชื่อว่า Books and Belongings คุณมีเหตุผลหรือที่มาของชื่อไหม?”

“คือตอนแรกที่จะเปิดร้าน เราไม่อยากให้ในร้านมีหนังสือเท่านั้น แต่อยากให้มีสิ่งของที่เกี่ยวกับหนังสือด้วยไม่ว่าจะเป็นสมุด กระดาษ ปากกา ดินสอ หรือแม้แต่กระเป๋า ซึ่งปรากฏว่าไปได้ดีทีเดียว อย่างดินสอ Blackwing ที่เป็นดินสอที่พวกนักเขียนชอบใช้ พอเราเอามาแนะนำ คนที่ลองซื้อไปใช้เขาก็ชอบกันมาก เป็นสินค้าที่ขายดีทีเดียว”

“ร้าน Books and Belongings ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดูไม่น่ามีคนที่เป็นเป้าหมายเท่าใดนัก คุณคิดว่าประสบผลสำเร็จไหม? นี่เป็นปีที่เท่าไหร่แล้วของร้านนี้?”

“ไปได้เรื่อยๆ นะ เราเปิดร้านมาเป็นปีที่ห้า อุปสรรคก็ยังมีอยู่มาก แต่ก็ไม่เคยท้อ ร้านหนังสือถ้าจะประสบผลได้ยอดขายและไม่มีอุปสรรคเลยคงเป็นไปไม่ได้”

หลังบทสนทนานี้เพียงไม่กี่วัน อุปสรรคล่าสุดของร้านหนังสือ Books and Belongings ก็เกิดขึ้น การไม่ได้รับการต่อสัญญาการเช่าสถานที่ทำให้ร้าน Books and Belongings ต้องโยกย้ายตนเองอย่างกะทันหัน