เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์/ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

 

“ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

กระชับชัดเจนดีจริง สมตามภาษากฎหมายที่ว่า

ตัดก็ขาดความ เติมก็เกินความ

ติดใจตรงคำว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ที่เป็น “ของประชาชน”

อำนาจนี้เพิ่งมีเมื่อ พ.ศ.2475 โดยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้มีหลักใหญ่หรือ “หลักการสูงสุด” อยู่ที่ “รัฐธรรมนูญ” และผู้ที่มีอำนาจ “สถาปนา” รัฐธรรมนูญได้ก็คือ “ประชาชน”

คำว่า “ประชาชน” กับคำ “ประชาธิปไตย” นี่มีนัยยะสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ดังนี้

ประชาธิปไตยมาจากศัพท์ “ประชา+อธิปไตย” แปลว่า “อำนาจอันเป็นใหญ่ของประชาชน” ไม่ใช่ “ประชาชนเป็นใหญ่”

ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ เพราะถ้าประชาชนเป็นโจร บ้านเมืองก็ประสบหายนะ (ฉิบหาย) กันเท่านั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสสรุปความว่า ประชาธิปไตยต้องหมายถึง “ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่” เพียงเท่านั้น

นี่คือเป้าหมายของประชาธิปไตยที่แท้

 

ขยายความคำประชาธิปไตยทั้งโดยคำและโดยความได้ดังนี้คือ

“ประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารจัดการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลักและเป็นใหญ่”

ขยายความ “อำนาจอันชอบธรรมของประชาชน” ได้อีกว่า หมายถึง

หนึ่ง การได้มาซึ่งอำนาจ

สอง การทรงไว้ซึ่งอำนาจ

สาม การใช้อำนาจ

สี่ การมีส่วนร่วมซึ่งอำนาจ

สี่ประการนี้ต้อง “ชอบธรรมโดยเอกเทศ” หมายถึงอำนาจแต่ละกรณีต้องชอบธรรมอยู่ในตัว เช่น เมื่อได้อำนาจมาโดยชอบธรรมแล้วกลับใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม แต่อ้างเป็นความชอบธรรม ด้วยเหตุแห่งการทรงอำนาจที่ได้มาโดยชอบธรรมนั้น นี้ย่อมไม่ชอบธรรมด้วยต่างกรณีกัน

ดังตัวอย่างนักการเมืองที่มักชอบอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง เป็นหลังพิงสร้างพฤติกรรมชั่วๆ เป็นประจำธรรมดา ดังเห็นกันอยู่

คำประชาธิปไตยจึงหมายถึงประชาชนสองจำพวก หนึ่งคือผู้สร้างประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม สองคือส่วนรวมผู้ได้รับประโยชน์สุข

ทั้งหมดนี้คือประชาธิปไตยอันเป็น “หลักการสูงสุด” ที่มีประมวลไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

วาทะที่ว่า “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” จึงมีนัยยะทั้งหมดของความหมายดังว่ามานั้น

คำ “อำนาจสถาปนา” นี้ก็แสดงความสำคัญและสัมพันธ์เนื่องกันมากับประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสังคมแต่โบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์

อาจารย์ ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ เคยทำงานวิจัยวรรณกรรมประจำยุคสมัย โดยใจความว่า สมัยสุโขทัย วรรณกรรมประจำยุคคือไตรภูมิพระร่วง

สมัยอยุธยา วรรณกรรมประจำยุคคือ มหาชาติคำหลวง

สมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมประจำยุคคือ รามเกียรติ์

โดยคตินิยมไตรภูมิพระร่วงเน้นเรื่องการทำดี-ทำชั่ว จำแนกเป็นอบายภูมิ มนุษยภูมิ สวรรคภูมิ สามภูมิหรือไตรภูมินี้ แท้จริงเป็นชั้นโลกยภูมิหรือโลกียะ ยังมีภูมิเหนือกว่านี้ตามหลักพุทธะคือโลกุตรภูมิ ดังเรียกพุทธภูมินั้น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เคยเขียนถึงว่าเหนือไตรภูมิคือจตุรภูมิ เป็นภูมิเหนือขึ้นไปคือพุทธภูมิ ดังภาพเขียนโบราณจะมีรูปนรก โลกมนุษย์ เทวดา เป็นลำดับขึ้นไปสูงสุดจึงเป็นองค์พระพุทธรูป

ถอดรหัสธรรมหมายถึงสังคมสมัยสุโขทัยถือคติมุ่งเน้นการทำดี ไม่ทำชั่ว เป็นหลัก

สังคมอยุธยา ถอดรหัสวรรณกรรมมหาชาติคำหลวง เน้นเรื่องการเสียสละเป็นหลัก ดังพระเวสสันดรที่กล้าสละทุกอย่างด้วยความไม่เห็นแก่ตัวอันเป็นคุณสมบัติของความเป็น “ธรรมราชา” แท้จริง

สังคมรัตนโกสินทร์ รหัสธรรมจากวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ คือกำราบปราบมารด้วยการนำพลังอำนาจของเทวานุภาพเข้าหักหาญเอาชนะเหล่าอสุรินทราลักษณ์ทั้งหลาย

ดังคติสัญลักษณ์แห่งวงศ์กษัตริย์ที่กำหนดเป็นธรรมราชาสมัยศรีอยุธยา และเทวราชาสมัยศรีรัตนโกสินทร์นี้

 

นี้คือองค์แห่งอำนาจอัน “สถาปนา” สืบยุคสมัยมาตราบถึงพระรามาธิบดีที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือรัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ.2475 ทรงสละพระราชอำนาจซึ่งหาใช่จำเพาะแต่พระองค์ท่านไม่ หากหมายถึงระบอบแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งหมดที่สืบทอดมาแต่ประวัติศาสตร์แก่ “ราษฎร” เพื่อ “สถาปนาอำนาจ” ใหม่ ดังเรียกว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

อำนาจอันสถาปนาขึ้นใหม่นี้เป็นอำนาจที่เป็น “เอกภาพ” ร่วมกันของอำนาจประชาชนกับอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังสัดส่วนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น

อำนาจนี้ได้สถาปนาไว้เริ่มแต่ปี พ.ศ.2475 จะครบ 89 ปีในปีนี้ ก็ยังมิอาจธำรงไว้ซึ่ง “หลักการอันสูงสุด” ดังความหมายของคำประชาธิปไตยแท้จริงนั้นได้

สาเหตุหลักที่มักเป็นอุปสรรคของการ “สถาปนารัฐธรรมนูญ” อันเป็น “หลักการอันสูงสุด” ที่มิอาจธำรงไว้ได้อยู่เสมอก็คือความไม่ชอบธรรมสี่ประการแห่งอำนาจประชาธิปไตยดังกล่าวคือ

การได้มา-การทรงไว้-การใช้-การมีส่วนร่วม

ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่

แม้จนวันนี้

 

เกมกลโกง

 

ชนชั้นใดได้เปรียบ ใดเสียเปรียบ

บรรทัดเทียบอยู่ที่มีกฎหมาย

ให้ตีความนำใช้ได้แยบคาย

ทั้งผลดีผลร้ายใช้กติกา

 

กติกา กติเกม กติโกง

เป็นบ่วงบาศก์คาดโยงทุกองศา

ยุติธรรมคือธรรมที่ ยุติตรา

ประทับรับด้วยบัญชาแห่งชั้นชน

 

ชนชั้นใดได้เปรียบ ใดเสียเปรียบ

มิอาจเทียบโดยสำแดงแห่งเหตุผล

สังคมคนยังคน อยู่คนคน

ใช้เล่ห์กลจักรกล เป็นกลไก

 

“รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ปัญหา…”

คึกฤทธิ์กล่าววาจา ให้คิดใหม่

“รัฐประหาร…ปลายเหตุ…” สังเกตไว้

“คนโกง…” ไซร้ “…คือต้นเหตุ” ต้นเหตุจริง

 

มันโกงซับโกงซ้อนโกงซ่อนเงื่อน

โกงจนเหมือนไม่โกงก็โกงกลิ้ง

กลายเป็นความถูกต้องต้องช่วงชิง

นี่คือสิ่งหมักหมม สังคมไทย!

  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์